'กทม.'สั่งเฝ้าระวัง'ซิกา' หลังพบยอดผู้ติดเชื้อ2ราย

'กทม.'สั่งเฝ้าระวัง'ซิกา' หลังพบยอดผู้ติดเชื้อ2ราย

"กทม." สั่งเฝ้าระวัง "ไวรัสซิกา" หลังพบผู้ติดเชื้อเป็นหญิง 2 ราย เตรียมแผนเกาะติดกลุ่มเสี่ยง ประสานกรมควบคุมโรค สร้างเครือข่ายแจ้งข่าวเข้ม

นางเบญทราย กียปัจจ์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะรองโฆษกกทม. กล่างภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกทม. ครั้งที่ 28/2559 โดยมีนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุม ว่า ในที่ประชุทสำนักอนามัยได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 4 ก.ย.2559 ซึ่งพบมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่ จำนวน 8 ราย แบ่งเป็น 1.กลุ่มที่มีถิ่นฐานในกรุงเทพฯ และมีประวัติเดินทางไปในจังหวัดที่มีการระบาดของโรค และ2.กลุ่มที่เดินทางมาจากจังหวัดที่มีการระบาดมาพักในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยในจำนวนนี้หายเป็นปกติแล้ว 6 ราย ส่วนอีก 2 ราย ยังต้องติดตามอาการและสถานการณ์ เนื่องจาก 1 รายเป็นหญิงท้องปัจจุบันคลอดแล้ว ทารกแข็งแรงดี ไม่พบความผิดปกติ จากการตรวจเลือดและปัสสาวะไม่พบเชื้อ แต่ก็ยังต้องติดตามผลเลือด ส่วนอีก 1 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 18 สัปดาห์ แต่กทม.ได้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์และอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งควบคุมยุงตัวแก่และกำจัดลูกน้ำในพื้นที่เป้าหมาย

ทั้งนี้ กทม.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างใกล้ชิด และครอบคลุมทุกด้าน พร้อมทั้งฝึกอบรมบุคลากรทีมสอบสวนควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วจากทุกศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังและแจ้งข่าวไว้ทุกระดับ พร้อมทั้งจัดทำหนังสือแจ้งเตือน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวทางการดำเนินงานดำเนินงาน เฝ้าระวังและสอบสวนโรคแก่ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานพยาบาลในกรุงเทพฯ และสำนักงานเขต เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ประชาชนเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะการป้องกันยุงกัดในหญิงตั้งครรภ์ ขณะเดียวกันให้ประสานด้านการเฝ้าระวังและควบคุมโรค กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรณีพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.จะกำหนดพื้นที่เป้าหมาย รัศมี 100 เมตร จากบ้าน ที่ทำงาน และโรงเรียนของผู้ป่วย เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำ ภายใน 5 วัน และควบคุมโรคให้ได้ภายใน 14 วัน พร้อมทั้งค้นหาผู้ป่วยเพิ่มในชุมชน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจ และเฝ้าระวังผู้ที่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายทุกคนซึ่งถือว่าเป็นผู้สัมผัส ต้องติดตามอาการเป็นเวลา 14 วัน ส่วนถ้าพบหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เป้าหมาย กทม.จะให้คำแนะนำในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด และติดตามเฝ้าระวังการติดเชื้ออย่างใกล้ชิด โดยส่งตรวจปัสสาวะส่งตรวจทุก 14 วัน จนกว่าการระบาดในพื้นที่จะสงบลง นอกจากนี้กทม.จะกำจัดยุงทั้งในบ้านและนอกบ้านตั้งแต่วันแรก และทำซ้ำในวันที่ 3, 5, 7, 14, 21, 28 และทำต่อเนื่องทุก 7 วัน จนกว่าผลการตรวจจะไม่พบเชื้อซิกา

“สถานการณ์ในประเทศไทยในต้นปี 2559 ถึง 31 ส.ค.2559 พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสะสม 97 ราย ตั้งแต่ต้นปีมีรายงานผู้ป่วยใน 16 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ลำพูน หนองคาย อุดรธานี เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ ราชบุรี กระบี่ ภูเก็ต เชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ และบึงกาฬ โดยปัจจุบันมีเพียง 12 อำเภอ ใน 6 จังหวัด ที่มีรายงานผู้ป่วยและอยู่ในระยะควบคุมโรค และจังหวัดที่พบผู้ป่วยรายใหม่และกำลังดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ จันทบุรี เพชรบูรณ์ และบึงกาฬ”นางเบญทราย กล่าว

ทั้งนี้ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา พบครั้งแรกที่ประเทศอูกานด้า เมื่อปีพ.ศ.2490 ในลิง พบมีการติดต่อในคนตั้งแต่ พ.ศ.2495 ในประเทศอูกานด้า สาธารณรัฐทานซาเนีย และมีรายงานพบการระบาดของโรคไข้ซิกา ในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา เอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิกและอเมริกา พาหะนำโรค คือ ยุงลาย สามารถแพร่เชื้อโดยยุงลายที่มีเชื้อไปกัดคน และแพร่ผ่านทางเลือดจากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์และการมีเพศสัมพันธ์ ระยะฟักตัว ใช้เวลา 3 - 12 วัน เฉลี่ย 4-7 วัน สำหรับอาการของโรคไข้ซิกา คือ ไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อย อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน และหายได้เอง

“สำหรับความสำคัญของโรค มีความเกี่ยวข้องกับภาวะสมองเล็กแต่กำเนิด เนื่องจากมักพบไวรัสในเลือดอย่างต่อเนื่องในหญิงตั้งครรภ์ และมีความเกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบของเส้นประสาทหลายเส้นพร้อมกัน เนื่องจากมีการติดเชื้อกระจายไปทั่วโลก ในต้นปี พ.ศ.2550-25 ส.ค.2559 องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งหมด 70 ประเทศทั่วโลก” นางเบญทราย กล่าว