ไข้ซิกา! คิดจะท้องต้องรู้รับมือ
ได้เวลาแล้วที่เราจะทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัสซิกากันแบบจริงจัง แม้จะยังไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่ควรละเลยด้วยประการทั้งปวง
กล่าวถึงกันมากขึ้นกับ ไข้ซิกา หรือ ไวรัสซิกา หลังจากพบผู้ติดเชื้อในหลายจังหวัด อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ดังนั้น ได้เวลาแล้วที่เราควรจะทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัสซิกากันแบบจริงจัง แม้จะยังไม่ใช่เรื่องใกล้ตัว แต่ก็ไม่ควรละเลยด้วยประการทั้งปวง
๐ ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีภูมิต้านไข้ซิกา?
นายแพทย์ปรีดา มาลาสิทธิ์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ได้ศึกษาทั้งไวรัสซิกาและไวรัสเด็งกี่ไข้เลือดออกพบว่า มีความคล้ายกันมาก จนแทบจะเชื่อได้ว่า ไวรัสซิกาอาจเป็นสายพันธุ์ใหม่ของไวรัสเด็งกี่ ซึ่งเดิมมีอยู่ 4 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก แต่จำเป็นต้องศึกษาโดยละเอียดต่อไป รวมถึงต้องศึกษาเพิ่มว่า การติดเชื้อโรคไข้เลือดออกมีผลต่อการระบาดของไวรัสซิกาหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกแล้วบังเอิญได้รับเชื้อซิกา อาการจะรุนแรงกว่าปกติหรือไม่ โดยเทียบเคียงกับกรณีผู้ป่วยไข้เลือดออกครั้งที่ 2 ที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะมีอาการรุนแรง ฉะนั้น ทางการแพทย์ยังไม่มีคำตอบให้กับข้อสงสัยนี้ โดยยังต้องศึกษาในเชิงลึกว่าจะเป็นกระบวนการแบบเดียวกับการติดเชื้อไข้เลือดออกหรือไม่
๐ ทารกในครรภ์ที่ติดเชื้อจะสมองลีบทุกคน?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบว่า ยังไม่มีรายงานว่าทารกจะสมองลีบทุกคน แต่พบความผิดปกติเกิดขึ้นกับทุกคน จากการที่ซิกาส่งผลให้เส้นใยประสาททำงานผิดปกติ จึงมีผลต่อการทำงานของแขนและขา โดยอาจแสดงอาการในช่วงขวบปีที่ 2-3 ก็เป็นได้
๐ ครรภ์แก่Vs.ครรภ์อ่อน ใครปลอดภัยกว่ากัน?
หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อในสัปดาห์ที่ 12-18 เชื้อจะเข้าสู่สมองทารกโดยตรง แต่หากติดเชื้อในช่วงที่อายุครรภ์ 24-36 สัปดาห์เป็นต้นไป เชื้อไม่ได้เข้าสู่สมองเด็กโดยตรง แต่จะอาศัยอยู่ในรกเพื่อผลิตสารอักเสบที่มีผลต่อสมองเช่นกัน
๐ รู้ได้อย่างไรว่าเป็นไข้ซิกา?
ไข้ซิกาถือว่าเป็นภัยเงียบ เพราะอาการไม่จำเพาะเจาะจง หรืออาการบ่งชี้มีน้อยมาก โดยรวมก็คือ มีไข้ (ซึ่งอาจเป็นไข้ต่ำมาก) ตาแดง ผื่น และปวดกล้ามเนื้อ ข้อหรือศีรษะ ล้วนแต่เป็นอาการเริ่มต้นเหมือนโรคไวรัสอื่นๆ รวมถึงโรคฉี่หนู
อาการเหล่านี้สามารถทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก แต่ถ้าหากปล่อยไว้ อาการอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะได้ด้วยตนเองว่าติดเชื้อไวรัสอะไร จึงต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเท่านั้น
การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ แต่ข้อจำกัดคือ ซิกาจะอยู่ในเลือด 5 วันหลังการติดเชื้อครั้งแรก และ 14 วันในปัสสาวะ จากนั้นจะเข้าสู่รก ซึ่งมีโอกาสตรวจเจอน้อยมาก ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการบ่งชี้เบื้องต้นแต่ตรวจไม่เจอก็ไม่ควรนอนใจ ต้องแจ้งแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อเนื่อง ทำอัลตราซาวน์ถี่ขึ้นเพื่อเฝ้าดูทารกในครรภ์
ส่วนผู้ที่มีอาการตาแดงอย่างเดียว ไม่มีไข้ ไม่ปวดตามข้อกระดูก ก็คือ ผู้ป่วยตาแดงเท่านั้น
๐ ที่บ้านมีผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร?
ไม่ต่างจากไข้เลือดออก ไม่ต้องรังเกียจ กีดกันหรือกักขัง แต่สิ่งสำคัญคือคนในครอบครัวต้องตื่นตัวที่จะป้องกันตนเองจากยุงลาย ทั้งกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลาย กางมุ้ง ใช้โลชั่นกันยุงที่มีประสิทธิภาพ แต่มีเพิ่มเติมคือ ผู้ป่วยต้องงดการมีเซ็กส์ เพราะไวรัสซิกาสามารถติดต่อผ่านทางเซ็กส์ที่ไม่ได้ป้องกัน
(เรียบเรียงจากเวทีเสวนา “Zika…ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์” โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงภัยอันตรายของไวรัสซิกาโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะระบาดใหญ่ในอนาคต)