'ค่าระวางเรือ' ทำจุดสูงสุดรอบปี
ดัชนีค่าระวางเรือพุ่งแตะ792จุด ทำ "นิวไฮ" รอบปี อานิสงส์ราคาน้ำมันพุ่ง
ขณะโบรกระบุหุ้นกลุ่มเดินเรือยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน
ดัชนีค่าระวางเรือเฉลี่ย (BDI Index) ณ วันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 19 จุด ขึ้นไปแตะ 792 จุด ทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 วันติดต่อกัน จากระดับ 711 จุด และเป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดที่ 290 จุด เมื่อต้นปีที่ผานมา
นายกวี มานิตสุภวงษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) ที่ปรับตัวขึ้นมารอบนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ฟื้นตัวขึ้นมา แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่ายังเป็นระดับที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุนของบริษัทเดินเรือ อย่าง โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) และพรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) เนื่องจากดัชนีที่ปรับตัวขึ้นมานี้ ได้แรงหนุนจากดัชนีค่าระวางของเรือขนาดใหญ่ (BCI) เป็นหลัก
“หากจะพิจารณาค่าระวางเรือกับหุ้นทีทีเอ หรือพีเอสแอล ดัชนีที่เกี่ยวข้องโดยตรงจะเป็นค่าระวางเรือขนาดเล็ก หรือ BSI แต่ดัชนีบีดีไอ (เป็นค่าเฉลี่ยของดัชนี 3 ตัว ได้แก่ บีซีไอ บีพีไอ และบีเอสไอ) ที่ขึ้นเพิ่มขึ้นแรงรอบนี้ได้แรงหนุนจากดัชนีบีซีไอเป็นหลัก ขณะที่ดัชนีบีเอสไอ หรือค่าระวางเรือขนาดเล็กนั้นกลับลดลง 8 จุด ปิดที่ 694 จุด สวนทางกับภาพรวม”
สำหรับค่าระวางเรือขนาดเล็กล่าสุดอยู่ที่ราว 7,200 ดอลลาร์ต่อวันต่อลำ ซึ่งค่าระวางจริงของบริษัทจะต่ำกว่านี้เล็กน้อย เพราะฉะนั้นจุดที่บริษัทจะเริ่มเห็นกำไรอย่างแท้จริง ค่าระวางเรือน่าจะต้องขึ้นไปอยู่ที่ราว 8,000 - 9,000 ดอลลาร์ต่อวันต่อลำ
“หากดูค่าระวางเรือปัจจุบันจะเห็นว่าไม่ค่อยปกตินัก โดยค่าระวางเรือขนาดกลางอยู่ที่ราว 5,200 ดอลลาร์ต่อลำต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าขนาดเล็ก ทำให้ลูกค้าบางส่วนเลือกไปใช้บริการเรือขนาดกลาง แม้ปริมาณสินค้าจะเหมาะกับเรือขนาดเล็กมากกว่า”
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ของต่างประเทศมองว่าการฟื้นตัวของค่าระวางเรือยังค่อนข้างช้า เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และในช่วงไตรมาส 4 ดัชนีก็มีโอกาสจะอ่อนตัวลง เนื่องจากการขนส่งทางเรือจะลดลงหลังจากที่เข้าช่วงวันหยุดยาว
ฉะนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้อาจจะต้องหลีกเลี่ยงไปก่อน แม้หุ้นกลุ่มนี้จะค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรง เนื่องจากค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นช่วยยันไว้
“ขณะนี้ในตลาดมีหุ้นที่น่าสนใจให้เลือกซื้อมากมาย แต่หากจะเลือกหุ้นกลุ่มนี้อาจต้องตั้งคำถามว่าถ้าดัชนีกลับตัวขึ้น หุ้นเดินเรือจะขึ้นได้แรงเท่ากับหุ้นตัวกลุ่มอื่นไหม เพราะผลประกอบการกลุ่มนี้ก็ยังไม่ชัดเจนนัก”
ด้านนายกรภัทร วรเชษฐ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ค่าระวางเรือที่ปรับตัวขึ้นมานี้เป็นไปตามภาวะปกติของช่วงเวลานี้ในแต่ละปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่การขนส่งทางเรือจะค่อนข้างคึกคัก ทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตามจุดคุ้มทุนของบริษัทเดินเรือน่าจะต้องรอให้ดัชนีวิ่งขึ้นไปถึงระดับ 800 - 850 จุด เป็นอย่างน้อย
“แม้ดัชนีค่าระวางเรือจะปรับตัวขึ้นมาแรง แต่จุดคุ้มทุนคงต้องรอต่อไปอีกสักหน่อย ซึ่งหากเป็นไปในลักษณะนั้น ก็น่าจะมีแรงเก็งกำไรระยะสั้นเข้ามาในหุ้นกลุ่มเดินเรือ โดยเฉพาะพีเอสแอล ซึ่งอิงกับค่าระวางเรือมากกว่า แต่ในเชิงผลประกอบการที่แท้จริงแล้วยังมีความไม่แน่นอนนัก เพราะค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นแรงเป็นส่วนของเรือขนาดใหญ่มากกว่า”
ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในปี 2560 คาดว่าดัชนีบีเอสไอจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งจากบริษัทเรือล้มละลายและความต้องการขนส่งที่จะสูงขึ้นกว่าอุปทานของเรือใหม่ ช่วยหนุนในค่าระวางเรือของทีทีเอให้ดีขึ้น และน่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้ ขณะที่ธุรกิจให้บริการเรือขุดเจาะใต้น้ำ ก็คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีงานที่รอรับรู้รายได้โอนมา 124 ล้านดอลลาร์ และคาดระหว่างทางจะเพิ่มงานในมือได้อีก
ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น 2 บริษัท ในกลุ่มเดินเรือ อย่าง ทีทีเอ ล่าสุดปิดที่ 8.9 บาท ลดลงจาก 9.10 บาท หรือลดลง 2.1% จากเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่พีเอสแอล ล่าสุดปิดที่ 5.65 บาท ลดลงจาก 6.05 บาท หรือลดลง 6.6% จากเมื่อสัปดาห์ก่อน