'กระทรวงดีอี' เผยโฉมก.ย. ปรับโครงสร้างรับแผนดิจิทัล
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ฤกษ์ตั้งอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ย. นี้
ตามกำหนดการ ภายในเดือน ก.ย. 2559 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ฤกษ์ตั้งอย่างเป็นทางการ โดยจะมีสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง
ทั้งนี้ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และยังมีสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ เป็นองค์การมหาชนอีกหนึ่งหน่วยงาน เน้นส่งเสริมความรู้-เงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้ 4 เป้าหมายหลักในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม ทุนมนุษย์ และภาครัฐ แบ่งเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี 2560 ยาวถึง 20 ปีข้างหน้า
รายงานข่าวจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ระบุว่า ภายในเดือนก.ย.นี้ กระทรวงไอซีที จะปรับโครงสร้างกระทรวงแล้วเสร็จ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
พ.ร.บ.ใหม่ดังกล่าว เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
สำนักงานใหม่ที่จะเพิ่มเติมขึ้นภายใต้โครงสร้างกระทรวงใหม่นี้ คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ
ภาระหน้าที่ของสำนักงานแห่งนี้ ตั้งขึ้นเพื่อรองรับนโยบายการทำงานจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นอกจากนี้ จะมีสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหน่วยงานรูปแบบองค์การมหาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนโครงการต่างๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในรูปแบบให้ความรู้ หาบุคลากร ตลอดจนเงินทุนส่งเสริมเพื่อให้โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังต้องจัดตั้งกองใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการทำงานของสำนักใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น กองนโยบายและแผน อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น
ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะเป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ต้องย้ายไปขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่เตือนภัยระดับชาติ ส่วนสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า จะถูกยุบลง โดยบุคลากรของซิป้าต้องสมัครใหม่ตามหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น และต้องเริ่มอายุงาน รวมทั้งประเมินผลงานตามเกณฑ์ใหม่ด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นไปที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแทนดังที่กล่าวไปข้างต้น
ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงใหม่นี้
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า การปรับเปลี่ยนบุคลากรในองค์กรขณะใหม่ ต้องย้ายคนออก หรือ เพิ่มคนเข้ามากน้อยเพียงใด ต้องดูตามความสามารถ และพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการทำงานจะต้องสอดคล้องกันต่อแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ขณะเดียวกัน กระทรวงก็ต้องเร่งทำโครงการการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) เพื่อรองรับการเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานของกระทรวงใหม่ และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มาดูเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงอย่างจริงจังอีกด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าขั้นตอนต่างๆ หลังจาก สนช.เห็นชอบแล้วจะใช้เวลาแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย. ซึ่งได้มอบหมายให้นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงเป็นประธานตั้งคณะทำงานการปรับโครงสร้างกระทรวง จากนั้นต้องเสนอโครงสร้างกระทรวงต่อ ก.พ.ร.ให้เห็นชอบ และส่งต่อไปยังกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะยังคงเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลการสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล การพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
โดยอยู่ภายใต้ 4 เป้าหมายหลักในการพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม ทุนมนุษย์ และภาครัฐ แบ่งเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ระยะ 1 ปี 6 เดือน ระยะ 5 ปี ระยะ 10 ปี จนถึงระยะ 20 ปี
ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจการค้า การบริการ การศึกษา สาธารณสุข และการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศให้ดีขึ้น
ความแตกต่าง ดีอี - ไอซีที
ความแตกต่างพันธกิจของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องทำงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และให้สอดคล้องตามแผนงานของคณะกรรมการดีอี ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ความแตกต่างของกระทรวงดีอีกับไอซีที คือ เพิ่มมิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เน้นการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนในภาคของสังคม ยกระดับการเรียนรู้ การศึกษา สาธารณสุข การเข้าถึงเทคโนโลยี และภาคการเกษตร
ส่วนไอซีที เดิมจะเป็นกระทรวงเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ดาวเทียม โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต และมีอุปกรณ์สื่อสารในพื้นที่ห่างไกล
ขณะที่การทำงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะนี้ยังไม่สรุปว่าจะอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงดีอีหรือไม่ ต้องรอ พ.ร.บ.กสทช.ที่ปรับปรุงใหม่เสร็จก่อน
อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านการพัฒนาสังคม จะต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมการดีอี ในเรื่องของเงินกองทุน เพื่อนำมาพัฒนาโครงการบริการพื้นฐาน โดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ยูเอสโอ)