เสน่ห์เกรละ : ระบำคทากาลี

เสน่ห์เกรละ : ระบำคทากาลี

ระบำ Kathakali การแสดงสุดคลาสสิคเฉพาะถิ่นอินเดียใต้ ที่โดดเด่นแตกต่างจากนาฏศิลป์อินเดียทุกแขนง

นอกจากร่องรอยประวัติศาสตร์ยุคเมืองท่าโปรตุเกสและ“การขึ้นฝั่งครั้งแรก”ของศาสนาคริสต์ในอินเดียแล้ว รัฐเกรละ อินเดียใต้ ยังมีมรดกวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยว นั่นคือการนวดบำบัดแบบ “อายุรเวท” กับระบำ Kathakali (บางตำราเขียนเป็น “กถกฬิ” แต่มันดูพิลึกไป ขอสะกดตามการออกเสียงว่า “คทากาลี”) การแสดงสุดคลาสสิคเฉพาะถิ่นอินเดียใต้ ที่โดดเด่นแตกต่างจากนาฏศิลป์อินเดียทุกแขนง

นาฏศิลป์ฮินดูโบราณนี้เริ่มมีขึ้นในท้องถิ่นที่พูดภาษามาลายาลัม เดิมเป็นนาฏลาประกอบการขับลำนำเล่านิทานและพิธีกรรมบูชาในวัด เป็นการแสดงที่แพร่หลายทั้งในระดับราชสำนักและชาวบ้านทั่วไป แม้จะใช้นักแสดงชายล้วนเพียงสี่ห้าคน กับผู้ขับลำนำและเครื่องดนตรีสองสามชิ้น เป็นเพียงการแสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง จุดเด่นของ “คทากาลี” คือการแต่งหน้าและแต่งกายสีสันฉูดฉาด กับศิลปะการแสดงออกด้วยสีหน้าดวงตาท่าทาง มากกว่าลีลาร่ายรำเคลื่อนไหวแบบระบำอินเดียส่วนใหญ่ 

ตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ของรัฐเกรละ จะมีโรงนาฏศิลป์คทากาลีทั้งใหญ่น้อย เปิดการแสดงให้ชมทุกวัน นักท่องเที่ยวต้องไปก่อนเวลาแสดงจริงถึงสองชั่วโมง เพื่อชมศิลปะการแต่งหน้าแต่งตัวของนักแสดง(ทุกโรงจัดให้ชมกันบนเวที ราวกับเป็นการแสดงอีกชุดหนึ่ง) สีทาหน้า เขียว แดง ดำ เหลือง ฟ้า ดูฉูดฉาดแต่แท้จริงแล้วเป็นสีธรรมชาติที่ได้จากการเอาหินสีมาฝนละลายในน้ำมันมะพร้าวตามสูตรโบราณ สีสันลวดลายบนใบหน้าจะบ่งบอกว่าตัวละครเป็นฝ่ายดีหรือร้าย เมื่อแต่งหน้าเสร็จก็แต่งองค์ทรงเครื่อง สวมถนิมพิมพาภรณ์ที่มีน้ำหนักกว่า 35 กิโลกรัม

ยังไม่ทันออกโรงร่ายรำ คนดูก็ต้องมนต์สะกด จดจ่อกับความประณีตละเอียดอ่อนของการแต่งหน้าแต่งตัวของผู้แสดงแล้ว ยิ่งกว่านั้น ยังมีการสาธิตแนะนำนาฏศิลป์ เริ่มด้วยการกลอกตา ขยับคิ้ว กระตุกกล้ามเนื้อแก้มคอคาง เพื่อแสดงอารมณ์ต่างๆ โดยไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย นักแสดงแต่ละคนจะต้องฝึกฝนอย่างหนัก จึงสามารถนั่งนิ่งๆ นานถึงสิบกว่านาที โดยแสดงออกแค่สีหน้าดวงตาให้ผู้ชมสามารถ “อ่านออก” (ลองทำตามดู พบว่ายากมากที่จะกลอกตา ยักคิ้วขยับแก้มพร้อมๆ กัน แถมยังต้องเปลี่ยนสีหน้าไม่ใช่ทำซ้ำแบบเดียวไปตลอด) นั่นเป็นการแสดงอารมณ์ 9 แบบ ตามตำราโบราณ ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับการแสดงของชาติอื่น ละครโนะ/คาบูกิ (ญี่ปุ่น) และ งิ้ว(จีน) นับว่ามีส่วนใกล้เคียงที่สุด ทว่า คทากาลีไม่มีบทเจรจาขับร้องของนักแสดงเหมือนงิ้ว

ต้นตำรับของการแสดงคทากาลีอยู่ที่เมืองหลวงเก่า “โคชิน” เป็นเรื่องราวของพระกฤษณะ จากคำร้องที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อเจ็ดร้อยปีก่อน เมื่อมีการแข่งขันประชันการแสดงระหว่างอาณาจักรแว่นแคว้นต่างๆ จากนั้นก็มีการแต่งเติมเป็นเรื่องราวตำนานเทพฮินดูและวรรณคดีอื่นๆ จนนับได้ถึง 500 เรื่อง หนึ่งในชุดการแสดงที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ ชุดพระศิวะอวตารมาทดสอบความยะโสโอหังของอรชุน ในวรรณกรรมเรื่อง “มหาภารตยุทธ์”

ปัจจุบัน นาฏศิลป์คทากาลีบางคณะมีผู้หญิงร่วมแสดงด้วย และบางคณะก็ประยุกต์ให้เข้ากับวรรณคดีตะวันตก เช่น เชคสเปียร์ หรือเรื่องราวในพระะคัมภีร์ศาสนาคริสต์