เดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะขอนแก่น

เดินเครื่องโรงไฟฟ้าขยะขอนแก่น

เทศบาลนครขอนแก่น กดปุ่มเดินเครื่องเตาเผา และโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของขอนแก่น

และภาคอีสาน หลังดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อทำลายขยะเก่าเกือบล้านตัน และใช้ขยะใหม่เป็นวัตถุดิบรวมวันละ 600 ตัน

นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ร่วมกันทำพิธีกดปุ่มเดินเครื่องเตาเผาขยะ และเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าจากขยะ ที่สถานีกำจัดขยะเทศบาลนครขอนแก่น บ้านคำบอน ตำบลโนนท่อน อำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นการกดปุ่มเพื่อเริ่มการผลิตกระแสไฟฟ้า จากขยะอย่างเป็นทางการหลังจากมีการก่อสร้างเสร็จ

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า โครงการการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือโรงขยะไฟฟ้าแห่งนี้ ถือว่าเป็นโครงการช่วยเสริมการจัดการปัญหาขยะ ให้ครบกระบวนการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ในอดีตเรามีเพียงต้นทางคือการลดปริมาณขยะ การป้องกันการเกิดขยะ แต่เมื่อเกิดขยะการกำจัดกลับเป็นปัญหาคาราคาซังมาโดยตลอด

เฉพาะไซด์เดิมขยะของเทศบาลมีขยะเก่าตกค้างไม่ต่ำกว่า 8 แสนตัน ซึ่งเราไม่สามารถดำเนินการได้อีกต่อไป ขยะนับวันจะเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดปัญหาตามมากมาย เราใช้เวลาทำโครงการนี้ไมต่ำกว่า 8 ปี ถือว่าตอนนี้ประสบความสำเร็จโรงงานไฟฟ้าขยะสามารถเริ่มดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ วันนี้กดปุ่มเพื่อจะเดินเครื่อง ให้เตาเผาเดินเครื่องทำงาน โดยช่วงแรกนี้ยังใช้ขยะเก่าแต่ในวันที่ 29 ก.ย.เป็นต้นไป จะใช้ทั้งขยะเก่าและขยะใหม่ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ขีดความสามารถในการรองรับขยะ ของโรงงานขยะแห่งนี้รองรับได้วันละ 600 ตัน แยกเป็นการรองรับขยะเก่าวันละ 200 ตัน ขยะใหม่วันละ 400 ตัน ขยะใหม่ในส่วนเทศบาลเองมีประมาณวันละ 210 ตัน ส่วนอื่นจะเติมมาของแต่ละเทศบาลท้องถิ่น ที่จะบูรณาการร่วมกันในการกำจัดขยะ ตั้งแผนเอาไว้ว่านอกจากจะกำจัดขยะใหม่ขยะเก่า ที่สุมเป็นภูเขานี้จะใช้เวลาในการกำจัดให้หมดประมาณ 7-10 ปี ขยะเก่าที่เห็นอยู่ก็จะหมดไป เทศบาลก็จะคืนพื้นที่สีเขียว ให้กับชุมชนบริเวณรอบข้าง และโดยนโยบายของผู้ว่าราชการฯพื้นที่สปก.รอบข้างให้เทศบาลดำเนินการบับเฟอร์โซน โดยการปลูกต้นไม้เพื่อที่จะเป็นพืชกันชนไม่ให้เกิดมลพิษมลภาวะเรื่องกลิ่นต่อไป

สำหรับโรงไฟฟ้าขยะของเทศบาลนครขอนแก่น ดำเนินการโดยเอกชนคือบริษัทอัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด ด้วยงบประมาณการก่อสร้างหรือลงทุน 800 ล้าน โครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2553 แต่โดยเริ่มลงมือก่อสร้างหลังจากได้รับใบอนุญาตโรงงาน รง.4 เมื่อปีที่แล้ว และได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ ด้วยกำลังการผลิตใช้วัตถุดิบขยะวันละ 450 – 600 ตัน ได้พลังงานไฟฟ้าวันละ 4.9–6 เมกกะวัตต์เพื่อขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4.5 เมกกะวัตต์ และที่เหลือนำใช้ภายในโรงงาน

โดยคิดค่ากำจัดขยะใหม่ 250 บาทต่อตันใน 3 ปีแรก และเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ทุก 3 ปีถัดไป กำหนดระยะเวลา 20 ปี โดยใช้เทคโนโลยีแบบเผาตรง นำพลังงานความร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถเผาขยะได้ทุกชนิดพร้อมๆ กันไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ กระดาษ พลาสติก ยาง ผ้าและเศษอาหาร