ดีเดย์ 1 ธ.ค.คนจนรับ 1,500-3,000บาท
ครม.อนุมัติ 1.27 หมื่นล้านช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนอกภาคเกษตร 2 กลุ่ม 5.4 ล้านคน รับ 1,500 - 3,000 บาทต่อราย ดีเดย์ 1 ธ.ค.โอนเงินเข้าบัญชี
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วานนี้(22พ.ย.)เห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโครงการดังกล่าวจะครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนไว้กับภาครัฐเมื่อเดือน ก.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา ในกลุ่มที่อยู่นอกภาคเกษตร ผู้ว่างงาน และผู้มีรายได้น้อยกว่า100,000บาทต่อปี ประมาณ5.4 ล้านคน ใช้วงเงินดำเนินการ12,750 ล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุมครม. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยให้สำนักงบประมาณบรรจุรายจ่ายไว้ในการจัดสรรงบประมาณปี 2561 ระหว่างนี้ให้ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)ให้ดำเนินการโครงการนี้สำรองจ่ายไปก่อน ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ6เดือนบวก1% หรือFDR+1(ปัจจุบันอัตราFDRเท่ากับ1.225ต่อปี)
ดีเดย์1ธ.ค.โอนเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้การจ่ายเงินเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยนอกภาคเกษตรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3.1 ล้านคน จะได้รับเงินจากรัฐบาล 3,000 บาทต่อคน ใช้วงเงินประมาณ 9,300 ล้านบาท และกลุ่มผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001-100,000 บาทต่อปี มีอยู่ 2.3 ล้านคน ได้รับเงินจากรัฐบาล 1,500 บาทต่อคน ใช้วงเงินประมาณ 3,450 ล้านบาท รวมวงเงินที่ต้องใช้ทั้งสิ้น12,750 ล้านบาท โดยธนาคารที่รับผิดชอบทั้ง 3แห่ง จ่ายเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่มีสิทธิ์ตั้งแต่วันที่1- 30 ธ.ค.2559
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับเงินตามมาตรการนี้ นอกจากมีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปีแล้ว ต้องมีสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า18 ปี ณ วันที่15 ส.ค.2559 ได้รับการตรวจสอบสถานะบุคคล และความถูกต้องของข้อมูลจากกรมสรรพากร และกรมการปกครองแล้ว โดยวิธีการโอนเงินกรณีที่ผู้มีรายได้น้อยมีบัญชีกับ 3 ธนาคารแล้วให้ธนาคารดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงิน
ส่วนกรณีที่ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคารให้ผู้มีสิทธิ์ไปแสดงตัว และเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคาร ที่ได้ไปลงทะเบียนตามโครงการ และสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีได้หลังจากเปิดบัญชีใน 7 วัน
ชี้เป็นมาตรการที่ใช้เงินไม่มาก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้น้อยให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มาตรการนี้เมื่อมีการจ่ายเงินลงไปถึงกลุ่มเป้าหมายก็จะเกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจวงเงินประมาณ 1หมื่นล้านบาท ที่ใช้ในมาตรการนี้ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
เลขาธิการครม.จี้คลังติดตามผล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่ามาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อย ตามโครงการสวัสดิการของรัฐ รวมทั้งวงเงินสำหรับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรเป็นวงเงินที่สูง ดังนั้นกระทรวงการคลังต้องดำเนินการติดตามและประเมินผลมาตรการด้วย และเสนอผลการดำเนินการ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนำต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศและ ครม.ให้รับทราบด้วย
เตรียมออกมาตรการเพิ่มช่วยผู้สูงอายุ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนจนเมืองที่มีรายได้น้อย ประกอบอาชีพอิสระให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ จากนี้ไปจะยังมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมอีก เช่น การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหามาตรการมาดูแลต่อไป
ขณะเดียวกันยังมีแนวทางช่วยเหลือด้านการเดินทาง โดยอาจใช้กลไกของพร้อมเพย์ ด้วยการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยใช้บัตรเพียงใบเดียว สามารถนำมาใช้โดยสารรถสาธารณะ และรถไฟฟ้าได้ฟรีในบางช่วง บางเส้นทาง เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น
เล็งออกมาตรการ "บิ๊กแบงค์" กระตุ้นศก.
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ไปพิจารณามาตรการกระตุ้น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่ 4-4.5% จากปัจจุบันที่เติบโตในระดับ 3% เท่านั้น และ รวมถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนด้วย
“เศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ในระดับ 3.2% ในปีนี้ ก็ถือว่า น่าพอใจ แต่รมว.คลังอยากเห็นเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ แม้ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะโตในระดับต่ำก็ตาม ท่านบอกว่า เราไม่ควรตามกระแส และ ให้เศรษฐกิจไทยโตแบบสวนกระแสได้ไหม ดังนั้น ผมจึงมอบ สศค.ไปคิดนวัตกรรมเชิงนโยบายที่จะให้เศรษฐกิจสามารถโตแบบบิ๊กแบงค์ได้เลย”
นายสมชัย กล่าวว่า คาดว่า สศค.จะสรุปมาตรการได้เร็วๆ นี้ โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ต้องพิจารณาว่า จะเหมาะสมกับเซ็คเตอร์ใด และ ให้เน้นไปที่โครงการลงทุนที่ไม่ได้ใช้เวลานานมาก เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถโตแบบก้าวกระโดด
จ่อออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว
“ให้ดูมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ท่านรมว.คลังให้เร่งออกก่อนปีใหม่ ที่จริงเราเน้นมาตรการกระตุ้นลงทุนมากกว่า ถ้าปีหน้าควรทำต่อ แต่อาจไม่ใช่ 2 เท่า ยังดูอยู่ โดยเราต้องดูผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย ถ้ารายได้หายไป คุ้มค่าที่ควรจะทำมาตรการหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มก็ไม่ทำ แต่ที่เราทำเรื่องลดหย่อน 2 เท่าจากการลงทุนนั้น จะคุ้มหรือไม่ ต้องรอให้เอกชนเสนอเรื่องขอลดหย่อนมาก่อน ปีหน้าคงรู้”
ครม.ไฟเขียวขึ้นค่าจ้าง5-10บาท
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่าครม.ยังได้อนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 69จังหวัดทั่วประเทศในอัตรา 5 -10บาท ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งได้มีมติปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานปี2560 หลังจาก ครม.เห็นชอบจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่1ม.ค.2560
การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 4 ปี เฉลี่ยปรับขึ้นค่าจ้าง1.71% แบ่งการขึ้นค่าจ้างออกเป็น 4กลุ่ม 1.จังหวัดที่ไม่มีการปรับค่าจ้างแรงงานโดยคงค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ตรัง, ระนอง, นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา
2.กลุ่มจังหวัดที่ปรับขึ้น10บาทต่อวัน จำนวน7จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และภูเก็ต
3.กลุ่มที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ8บาทต่อวัน จำนวน13จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, เชียงใหม่, สระบุรี, ฉะเชิงเทรา, กระบี่, พังงา และอยุธยา
และกลุ่มที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5 บาทต่อวัน มี 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, น่าน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, เพชรบุรี, พัทลุง, สตูล, กำแพงเพชร, พิจิตร, แพร่, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, สกลนคร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อำนาจเจริญ, ชัยนาท, ลพบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ประจวบคีรีขันธ์, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, ตราด, ลำพูน, พะเยา, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, นครพนม, อุบลราชธานี, อ่างทอง, เลย, หนองบัวลำภู, มุกดาหาร, ยโสธร, เชียงราย, พิษณุโลก, อุดรธานี, ชัยภูมิ, ศรีษะเกษ, นครสวรรค์ และหนองคาย
นายกฯเตือนอย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้เป็นการใช้ข้อมูลจากการสำรวจค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของแรงงานในพื้นที่ต่างๆว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นหรือไม่ โดยพิจารณาจากความคิดเห็นของทุกฝ่าย เชื่อว่าไม่มีอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป หลังประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี2560 กระทรวงแรงงานจะติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ
“นายกรัฐมนตรีได้แจ้งในการประชุม ครม.ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอัตราที่ปรับขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้แรงงานมีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น ขอให้หน่วยงานราชการต่างๆชี้แจงทำความเข้าใจ ขอให้อย่ามีการอ้างเอาการปรับขึ้นค่าจ้างไปใช้เป็นเหตุผลปรับขึ้นราคาสินค้า”นายกอบศักดิ์ กล่าว