จุดประกาย ‘โค้ดดิ้ง’ หนุนผู้พิการใช้เทคโนฯ ข้ามขีดจำกัด

จุดประกาย ‘โค้ดดิ้ง’ หนุนผู้พิการใช้เทคโนฯ ข้ามขีดจำกัด

ไมโครซอฟท์เปิดตัว YouthSpark สร้างมูลค่างานด้วยโค้ดดิ้ง เสริมอาชีพเยาวชนไทย ให้เหนือข้อจำกัดทางกายภาพ

แม้ในไทยจะมีกฎหมายต่างๆ ที่ส่งเสริมความสามารถของบุคคลพิเศษ การยอมรับความแตกต่างและความเท่าเทียม รวมทั้งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 มาตรา 33 ที่กำหนดให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะงานในสัดส่วนที่เหมาะสมอัตรา 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน แต่ทางปฏิบัติแล้วผู้พิการจำนวนมากยังไม่ได้รับการจ้างงาน

เนื่องจากขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน ซึ่งเปลี่ยนไปตามความต้องการนายจ้างแต่ละยุคสมัย ขณะที่ หนึ่งความต้องการตลาดแรงงานยุคนี้ คือ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และไอที

บาทหลวง ดร.พิชาญ ใจเสรี ประธานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ บอกว่า ผู้พิการสามารถพัฒนาทักษะตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการ โดยเฉพาะด้านไอทีที่นำความรู้ไปต่อยอดประกอบอาชีพและพึ่งพาตัวเองได้ แม้ยุคที่เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนเร็ว

"หวังว่านอกจากจะใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมในห้องเรียน เยาวชนจะมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชนที่ดำเนินชีวิตอยู่และความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ”


รัฐ-เอกชนร่วมปลุกไฟ
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด (ประเทศไทย) บอกว่า จากการสำรวจพบว่า ทั่วโลกภายในปี 2563 ความต้องการแรงงานด้านไอทีมีถึง 6 ล้านคน ขณะที่ไทยความต้องการแรงงานด้านไอที โดยเฉพาะโปรแกรมเมอร์ยังอยู่ในจุดที่ขาดแคลน

ทั้งนี้ “ไมโครซอฟท์” เข้ามามีบทบาทสนับสนุนสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีผ่านโครงการต่างๆ “ยูธ สปาร์ค” เป็นหนึ่งในหลายโครงการ ที่สร้างความรู้ด้านไอทีและกระตุ้นความสนใจการศึกษาด้านไอทีให้เยาวชน ผ่านรูปแบบการอบรม ผู้สอนสามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ต่อ ตั้งแต่ความรู้ระดับเริ่มต้น การสร้างอาชีพด้านเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเอง รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

ล่าสุดร่วมมือกับ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” และ “มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ” และ “สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น” จัดอบรมทักษะด้านโค้ดดิ้ง หรือเขียนโปรแกรมให้เยาวชนผู้พิการ

เป้าหมายสอนให้เยาวชนเริ่มสนใจเขียนโปรแกรม หรือโค้ดดิ้งเพื่อสร้าง “ผู้ผลิตและสร้างสรรค์” งานด้านไอทีและซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อุตสาหกรรมขาดแคลน

“เราทำตั้งแต่เบื้องต้น ปูพื้นฐานตั้งแต่ระดับที่ง่ายสุด ให้เยาวชนมีทักษะ มีตรรกะ และความสามารถแก้ปัญหา เป็นพื้นฐานสำคัญการโค้ดดิ้ง สำคัญกว่านั้น คือ สร้างความเข้าใจใหม่ให้เยาวชนเหล่านี้มองว่าการเขียนโปรแกรม หรืองานหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ใช่งานเฉพาะของผู้ชาย หรือคนปกติเท่านั้น แต่ใครๆ ก็ทำได้ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ หรือเป็นผู้หญิง ผู้ชาย”

โครงการครั้งนี้ คาดว่า จะสามารถปูพื้นความรู้การเขียนโปรแกรมให้เยาวชนทั่วประเทศ 7,000 ราย จำนวนนี้เน้นกลุ่มเยาวชนผู้พิการ 1,000 ราย ภายใต้งบประมาณราว 2 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558-2559 ของไมโครซอฟท์

ศิษย์เก่าแนะทางเซียนไอที
นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ โปรแกรมเมอร์และที่ปรึกษาไอทีในบริษัทต่างๆ บอกว่า ไม่ว่าคนพิการหรือไม่พิการทุกคนล้วนต้องมีความพยายาม หนึ่งในผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจ คือ เป็นหนึ่งในทีมพัฒนาระบบไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 97 เวอร์ชั่นภาษาไทย แสดงให้เห็นว่า ศักยภาพผู้พิการไม่ต่างจากคนทั่วไป หากสิ่งสำคัญคือ ความพยายามต้องมีมากกว่าปกติ

โอกาสจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้านั่งอยู่เฉยๆ ในโลกนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย คือ ต้องมีความพยายาม

ไม่ต่างกับมุมมองผู้พิการรายอื่นๆ เช่น นายนครินทร์ ลาโยธี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาแอพพลิเคชั่น ธนาคารเอชเอสบีซี บอกว่า เริ่มหัดเขียนโปรแกรมจากพระมหาไถ่จนปัจจุบันมีโอกาสได้ทำงานกับธนาคาร และเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ใช้เท้าเขียนโปรแกรม

“ทุกวันนี้ส่งน้องเรียนจบป.โท เราอยากได้อะไรก็ได้สิ่งที่เราอยากได้ ถ้าเรานำความสามารถที่มีมาใช้ประโยชน์ ทุกอย่างสำหรับผมเริ่มต้นมาจากการเขียนโค้ดดิ้ง ซึ่งผมอาจะเป็นคนแรกๆที่เขียนโปรแกรมได้ด้วยเท้าโดยไม่ได้มีอุปกรณ์พิเศษ หรือคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ”