อุตสาหรรมหนุนส่งเสริม “รถยนต์ไฟฟ้า” ดึงนักลงทุน

อุตสาหรรมหนุนส่งเสริม “รถยนต์ไฟฟ้า” ดึงนักลงทุน

แนะสนับสนุนด้านสังคม เสริมมาตรการภาษี แจ้งเกิด

                บริษัท สื่อสากล จำกัด ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 33 ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี จัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “ประเทศไทยพร้อมก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง?”

                นายณัฐพล รังสิตพล ผู้ตรวจราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 12 ของโลก แต่ในจำนวนนี้เป็นประเทศที่ 4 ที่ไม่มีสินค้ารถยนต์เป็นของตนเอง ดังนั้นจึงต้องสร้างความแข็งแกร่ง เพื่อสร้างความยั่งยืน ทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จทั้งการสร้างรถปิกอัพ และอีโค คาร์

                ขณะที่รถพลังงานไฟฟ้า หรือ BEV(Battery Electric Vehicle) ซึ่งเป็นกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เห็นได้จากผู้ผลิตรถยนต์ทุกยี่ห้อกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรถทั่วไป หรือแม้แต่ซูเปอร์คาร์ อย่างเฟอร์รารี ซึ่งไทยก็จะต้องเดินไปในเส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน

            ชี้ไทยส่งสัญญาณเวทีโลกชัดเจน

                ซึ่งที่ผ่านมาไทยต้องการที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรม บีอีวี เช่นกัน โดยทั้งหน่วยงานรัฐ และนายกรัฐมนตรี ต่างก็พูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีในการส่งสัญญาณให้โลกรับรู้ว่าไทยมีแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้

                อย่างไรก็ตามเห็นว่าไทยจะต้องรีบดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากเชื่อว่าแหล่งผลิตในประเทศอื่นๆ ต้องการที่จะมีฐานการผลิตบีอีวี เช่นกัน

                “ไทยเป็นประเทศที่ 4 ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์ที่ไม่มีสินค้าของตัวเอง จึงต้องพยายามดึงบีอีวีเข้ามาให้ได้ เพราะถ้าเข้ามาแล้วก็คงไม่ไปไหน แต่กลับกัน ถ้าหากเขาเข้าไปประเทศที่ 1,2 หรือ 3 แล้ว ก็ยากที่จะเข้ามาประเทศที่ 4”

                ส่งเสริมแค่ภาษีไม่พอ

                ทั้งนี้ การจะผลักดันให้บีอีวีเกิดขึ้น และได้รับความสนใจจากนักลงทุน จะต้องกำหนดกรอบการส่งเสริมที่ชัดเจนและดึงดูดเพียงพอ ซึ่งเห็นว่าการใช้เงื่อนไขทางด้านภาษีอย่างเดียวไม่เพียงพอ อีกทั้งโครงกสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่เพิ่งบังคับใช้ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเท่านั้น จึงไม่ควรจะไปยุ่งกรอบภาษีดังกล่าว แต่ควรหามาตรการส่งเสริมด้านสังคมอื่นๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับรถอื่นๆ เช่น รถปิกอัพ

                “หลายคนอาจมองว่าปิกอัพสำเร็จได้เพราะภาษี แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่ วันนี้ถ้าตัดเรื่องภาษีออกไป ปิกอัพก็ยังอยู่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้อยู่ไม่ได้คือ สิทธิพิเศษในการใช้งาน เช่น ใช้งานได้เหมือนรถเก๋ง ผู้โดยสารนั่งกระบะหลังได้ นั่งในแค็บได้ ซึ่งในหลายประเทศทำไม่ได้”

                3 แนวทางส่งเสริม

                สำหรับการเสริมรถบีอีวีนั้นควรมี 3 กลุ่มหลัก คือ 1.รถเดิมที่พัฒนาขึ้นเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 2.รถพลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ โดยดึงนักลงทุนเข้ามาผลิตในประเทศ และ 3.กลุ่มรถบัสโดยสาร รถใช้งานเฉพาะ เช่น รถท่องเที่ยว รถสามล้อ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นการให้โอกาสกับกลุ่มธุรกิจของไทยที่สามารถพัฒนาได้

                ทั้งนี้ในส่วนที่ 2 หรือการลงทุนผลิตรถบีอีวี จะต้องดึงกลุ่ม ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) เข้ามาร่วมด้วย เพราะรถทั้ง 2 กลุ่ม ใช้ชิ้นส่วนสำคัญพื้นฐานร่วมกัน เช่น แบตเตอรี มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยทำให้การเติบโตเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ พีเอชอีวี จะต้องได้สิทธิประโยชน์ที่น้อยกว่า บีอีวี