“ธัชพล”พลิกโฉม การเคหะแห่งชาติ สู่ยุค"สร้างรายได้”
โมเดลใหม่คือการลงทุนร่วมกับเอกชนในที่ดินที่มีศักยภาพ ระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนอสังหาฯ
เปิดตัวเป็นครั้งแรก สำหรับผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ (กคช.) คนใหม่ “ธัชพล กาญจนกูล” กับภารกิจสำคัญนำพาองค์กรของรัฐ ที่มีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางได้พัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 43ปี ทั้งสิ้นกว่า7.1แสนยูนิต ให้ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงพร้อมกับแผนการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ด้วยการนำ “โมเดลทางการเงิน” มาใช้เพิ่มรายได้
จากดีกรีของ ธัชพล เขาถือเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านการเงิน จบการศึกษาปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิต ด้านการวิจัยการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยเป็นรองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส กลุ่มยุทธศาสตร์
ธัชพล เปิดใจว่า นโยบายสำคัญคือการผลักดันให้กคช.เป็น “องค์กรสมรรถนะสูง” ทั้งด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง มุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
ทั้งนี้ เป้าหมาย กคช.ในยุคใหม่ จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ไม่เพียงแต่สร้างที่อยู่อาศัย แต่ต้องสร้าง “คุณภาพชีวิตที่ดี” และสร้างอนาคตให้กับคนในชุมชน ภายใต้แนวคิด “โปร่งใส ทันสมัย ใส่ใจประชาชน” และสร้างการดำเนินงานให้เติบโตต่อเนื่อง โดยการนำความรู้ด้านการเงินและสถาปัตยกรรม มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ
โดยที่ผ่านมา กคช.จะเน้นการลงทุนเองโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่จากนี้ไปจะมี“โมเดลใหม่”เพื่อให้พัฒนาโครงการได้เร็วขึ้น เช่น การลงทุนร่วมกับเอกชน ในที่ดินที่มีศักยภาพ การนำโครงการให้เช่าที่มีอยู่มาแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือนำโครงการให้เช่าที่มีอยู่จัดตั้งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) เพื่อระดมทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยในโครงการถัดๆไป
พร้อมทั้งสานต่อโครงการต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (2559-2568) โดยในปี 2560 คาดว่าจะพัฒนาที่อยู่อาศัยรวม 2 หมื่นยูนิต มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท อาทิ โครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง เฟส 2-4 ซึ่งเฟสที่ 2 จะประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนเฟสที่ 3-4 จะใช้การลงทุนภาครัฐร่วมเอกชน(PPP) ขณะนี้ เฟสแรกได้เริ่มก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2561
โดยโครงการนี้มีแผนที่จะทำทางเดินเชื่อมต่อรถไฟฟ้า“สายสีส้ม” เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และจะใช้โครงการนี้เป็นต้นแบบพัฒนาเป็น “สมาร์ทซิตี้” ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้คนทุกเพศทุกวัย มีบริการให้แก่ประชาชน มีแหล่งกระจายสินค้า คล้ายๆ โอทอป และหากโมเดลนี้สำเร็จ จะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนอื่น ในหัวเมืองใหญ่ที่มีที่ดินอยู่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี2559 จำนวน 22 โครงการ รวม 7.2 พันยูนิต โครงการบ้านข้าราชการ แบ่งออกเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ (เช่าซื้อ) จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติจำนวน 3,000 หน่วย และโครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) จำนวน 10,000 หน่วย ภายในเดือน ก.ย.2560
โครงการเคหะประชารัฐ โดยปี 2560 กำหนดเป้าหมายขาย จำนวน 12,754 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านพร้อมอยู่ จำนวน 6,822 หน่วย และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง (พร้อมอยู่ภายใน 18 เดือน) จำนวน 5,932 หน่วย
โครงการบ้านกตัญญู โดยจะดำเนินการพัฒนา 2 โครงการ ในพื้นที่จ.นนทบุรี (วัดพระเงิน) เป็นอาคารพักอาศัยสูง 5 ชั้น จำนวน 352 หน่วย และจ.เชียงใหม่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และโครงการพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมโครงการเดิมอีกกว่า 100 ชุมชน
“โครงการต่างๆของกคช.ใช้เงินค่อนข้างมาก ตามพันธกิจที่ต้องสานต่อด้านที่อยู่อาศัยจะใช้เงินมากกว่าแสนล้านบาท ดังนั้นการนำนวัตกรรมทางการเงินเข้ามาเสริม จะช่วยแบ่งเบาภาระรัฐบาล โดยโครงการใหม่อาจจะใช้วิธีระดมทุนผ่านรูปแบบ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือรูปแบบ PPP ที่เปิดให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ เพื่อเพิ่มความคล่องตัว”
ทั้งนี้ มีแผนที่จะร่วมกับพันธมิตร เช่น กระทรวงพลังงาน พัฒนาโครงการที่ติดโซลาร์รูฟ โดยผู้อยู่อาศัยในโครงการจะจ่ายค่าไฟฟ้าถูกกว่าปกติ และโครงการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วน 10% หรือบริเวณชั้น 2-3 ของแต่ละอาคารจะพัฒนาเป็นห้องรูปแบบยูนิเวอร์แซลดีไซน์ และจะมีผู้ดูแลตลอด24ชั่วโมง รวมทั้งการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะพัฒนาทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) เพื่อบริการประชาชน โดยออนไลน์ข้อมูลโครงการของกคช. ทั่วประเทศ อยู่ระหว่างการหาพื้นที่ที่เหมาะสม
ผู้ว่าฯกคช.ยังกล่าวถึงการบริหารจัดภายในองค์กรว่า สิ่งที่ต้องแก้ปัญหาในกคช.มีหลายมิติ ซึ่งมิติเรื่องงบการเงินจะผูกโยงไปถึงการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เนื่องจากกคช.เปรียบได้กับเป็นผู้ผลิตสินค้าผลิตสินเชื่อแล้วให้สถาบันการเงินอื่นๆมาปล่อยลูกค้าในโครงการต่างๆของกคช.
แต่ในภาวะที่เกิดปัญหาหนี้เสีย กคช.มีการค้ำประกันรับซื้อคืน 5 ปี ก็วกกลับมาเป็นปัญหาที่ต้องแก้ต่อไป รวมถึงโครงการเดิมของกคช.ที่ไปสร้างในตามต่างจังหวัดแต่ยังคงเหลือ เนื่องจากโครงการไม่สอดรับกับกำลังซื้อ
“เรื่องของการสร้างรายได้ก็สำคัญ โดยแนวทางการเพิ่มรายได้จะไปขยับพอร์ตเช่าซื้อมากขึ้น ด้วยวิธีโครงการเช่าซื้อที่กคช.ดำเนินการอยู่เพื่อให้สอดรับกับความสามารถของผู้อยู่อาศัย การบริหารอาคารที่มีอยู่ หรือแม้แต่การสร้างมูลค่าในโครงการเดิม”
นอกจากนี้ จะบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เข้มงวดมากขึ้น โดยใช้รูปแบบของธนาคาร “ออมสิน” ที่จะส่งเสริมให้ลูกบ้านมีฝากเงินอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือนและใช้การตัดยอดหนี้จากเงินฝากส่วนนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากแผนต่างๆ ในปีงบประมาณ 2560 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และกำไรเติบโตอยู่ที่ 800 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 2559ที่ผ่านมา กคช. มีรายได้7,293ล้านบาท กำไร572ล้านบาท จากปีงบประมาณ2558ที่มีรายได้7,659ล้านบาท กำไร415ล้านบาท
ส่วนตัวเลขเงินกู้ของกคช.ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 มีกำหนดชำระประมาณ 3,400 ล้านบาท