ส่องแผนฟื้นฟู7รัฐวิสาหกิจ เอสเอ็มอีแบงก์ฟื้น-รถไฟล่าช้า

ส่องแผนฟื้นฟู7รัฐวิสาหกิจ  เอสเอ็มอีแบงก์ฟื้น-รถไฟล่าช้า

คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด จะมีการประชุมนัดแรกของปี 2560 ในวันที่ 9 ม.ค. นี้ โดยคณะอนุกรรมการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ

 จะรายงานผลการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 7 แห่งในปีที่ผ่านมา พร้อมกับเสนอแผนงานในปี 2560 ที่แต่ละแห่งจะต้องทำให้ที่ประชุมรับทราบ

รัฐวิสาหกิจ 7 แห่งนั้น ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

หลังจากพยายามแก้ไขปัญหามากว่า 2 ปี พบว่า รัฐวิสาหกิจที่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ดี และคืบหน้ามากที่สุดมี 2 แห่ง คือ “เอสเอ็มอีแบงก์” และ “การบินไทย” โดยเฉพาะเอสเอ็มอีแบงก์ สามารถเดินตามแผนที่วางไว้ได้ จนทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นเพียงแห่งเดียวที่อนุกรรมการฟื้นฟูฯ จะเสนอให้ คนร. นัดนี้ พิจารณาอนุมัติให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

เมื่อย้อนดูฐานะของเอสเอ็มอีแบงก์ ในช่วงก่อนเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ หรือข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2557 พบว่า ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 35,167 ล้านบาท คิดเป็น 39.92% ของสินเชื่อรวม และมีสินเชื่อคุณภาพดี 52,928 ล้านบาท คิดเป็น 60.08% ของสินเชื่อรวม ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio ต่ำกว่า 8.5%

เอสเอ็มอีแบงก์เน้นลดหนี้

แนวทางการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีแบงก์ หลักๆ จึงมุ่งลดเอ็นพีแอล ทั้งการตัดขายหนี้เสีย ป้องกันปัญหาหนี้ตกชั้น รวมถึงการมุ่งขยายสินเชื่อดี โดยเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ธนาคารก็ดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้กระทรวงการคลังยอมทยอยใส่เงินเพิ่มทุนในส่วนที่เหลือให้รวม 2 พันล้านบาท

ขณะที่ฐานะของธนาคารก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 26,154 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,248 ล้านบาท สำหรับในปี 2559 ณ สิ้นเดือนพ.ย. เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยสินเชื่อได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เอ็นพีแอลลดลงเหลือ 18,892 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีจะลดลงเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาทตามเป้าที่วางไว้ และมีกำไรสุทธิ 1,594 ล้านบาท

“ใน 7 รัฐวิสาหกิจมี 2 แห่งที่มี 2 มีผลการดำเนินงานฟื้นตัวอย่างชัดเจน คือเอสเอ็มอีแบงก์และการบินไทย ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์จะมีการพิจารณาเรื่องการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เพราะทำตามแผนได้ทุกด้าน ทั้งการปล่อยสินเชื่อและลดเอ็นพีแอล ซึ่งปีนี้จะลดเอ็นพีแอลเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท และปี 2560 ปรับลดลงเหลือ 1.6 หมื่นล้านบาท” น.ส.ปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยสคร.ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจระบุ

คาดพ้นแผนฟื้นฟูในเร็วๆ นี้

จากผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ข้างต้น เชื่อว่า ความหวังที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะการออกจากแผนฟื้นฟูนอกจากจะดีต่อตัวเอสเอ็มอีแบงก์ ที่จะทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้นแล้ว ยังเป็นผลดีต่อคณะกรรมการคนร.ด้วย เพราะเท่ากับว่าการดำเนินงานแก้ปัญหาของ คนร. ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาไม่เสียเปล่า แถมยังประสบความสำเร็จจนทำให้รัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการดำเนินงานอยู่ในขั้นวิกฤติ กลับมาดำเนินงานตามปกติได้

ส่วนบริษัทการบินไทย ที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นเป็นอันดับ 2 นอกนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยได้มีการปรับการดำเนินงาน มุ่งลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงเส้นทางการบิน และหารายได้เพิ่ม อีกทั้งยังมีการปรับระบบการจองตั๋วเครื่องบิน การบริการ และการปรับลดค่าใช้จ่าย จนทำให้ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิแล้ว แม้จะยังไม่มาก ก็ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมาที่ขาดทุนในระดับหมื่นล้านบาท

เห็นภาพการแก้ปัญหาบินไทยชัดเจนขึ้น

เรื่องนี้ สคร. ระบุว่า ต่อไปการบินไทยจะยิ่งเห็นภาพที่ดีชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องรายได้ และกำไร โดยในปี 2560 การบินไทยก็ต้องเดินหน้าต่อในเรื่องการปรับระบบการจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ต จากปัจจุบันที่มีการจองตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจนคิดเป็นสัดส่วน 20 % แล้ว อีกทั้งจะมีการบริหารงาน และบริหารทรัพย์สิน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเพื่อลดค่าใช้จ่าย

การออกจากแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย อาจจะยังไม่ได้ตามหลังเอสเอ็มอีแบงก์ไปติดๆ เพราะนอกจากการบินไทยจะต้องมีฐานะกิจการที่แข็งแกร่งกว่านี้แล้ว การบินไทยยังต้องปรับปรุงการบริการ โดยต้องเทียบเคียงกับสายการบินชั้นนำอื่นๆ ในโลกด้วย

ส่วนรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ นั้น แม้จะยังมีฐานะการดำเนินงานที่แย่อยู่ แต่ก็มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา โดยในส่วนของไอแบงก์ได้ทำแผนงานรองรับสำหรับการเพิ่มทุนมาแล้ว เตรียมจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเรื่องการเพิ่มทุนต่อไป

ขณะที่บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท. โทรคมนาคมนั้น ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษามาดูความเหมาะสมเรื่องการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแล้ว ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น เป็นเรื่องรถเมล์เอ็นจีวี ซึ่งจะถึงกำหนดส่งมอบรถจากบริษัทเบสท์ริน ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ ส่วนแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถได้ศึกษาแล้วเสร็จแล้ว เตรียมเสนอครม.เพื่อปรับเส้นทางเดินรถใหม่

การรถไฟเผชิญปมปัญหาใหญ่หลายจุด

รัฐวิสาหกิจที่อาจจะแก้ยากที่สุด เห็นจะเป็นการรถไฟ เพราะมีปมใหญ่ๆ หลายส่วนที่ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน ทั้งปัญหาเรื่องหนี้สินกว่าแสนล้านบาท ปัญหาการขาดทุนที่แต่ละปีการรถไฟขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ไหนจะเรื่องการลงทุนใหม่ ซึ่งปี 2560 มีแผนจะลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะทำงานมาบริหารที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ หรือ Non Core กว่า 3.9 หมื่นไร่แล้ว คาดว่าเริ่มมีรายได้เข้ามาตั้งแต่ในปี 2560 เป็นต้นไป แต่กว่าจะมีรายได้ครอบคลุมภาระการขาดทุนปีละ 1 หมื่นล้านบาทนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี

ขณะที่แผนการโอนที่ดินมักกะสันให้คลังเพื่อแลกหนี้ 6 หมื่นล้านบาทก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่าสรุปแล้วจะเดินหน้าต่อ หรือจะกลับลำให้การรถไฟกลับไปพัฒนาเอง เรื่องนี้ก็คงต้องรอดูมติคนร.ในวันที่ 9 ม.ค.นี้ว่าจะออกอย่างไร