เทรนด์‘เฮลธ์ตี้’หนุนฟิตเนสบูม
สถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขยายตัวสูง มีผู้เล่นแบรนด์ไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้ามาชิงโอกาสจากตลาดนี
อรวรรณ เกลียวปฏินนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ฟิตเนส เฟิร์สท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กระแสใส่ใจดูแลสุขภาพทำให้เกิดความต้องการใช้บริการสถานที่ออกกำลังกาย บางรายต้องการเทรนเนอร์ช่วยให้คำแนะนำ ทำให้ธุรกิจนี้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย
ปัจจุบัน มีฟิตเนสหลายแห่งได้ขยายสาขา เปิดตัวแบรนด์ใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีรูปแบบบริการหลากหลายทั้งอินดอร์ เอาท์ดอร์ หรือฟิตเสนของผู้ประกอบการรายย่อยที่เน้นให้บริการเฉพาะบางกิจกรรม เช่น โยคะ มวยไทย นอกจากนี้ ยังมีอีเวนท์ เช่น วิ่งมาราธอน ขี่จักรยาน เกิดขึ้นจำนวนมาก
“ฟิตเนสในไทยเป็นธุรกิจที่หอมหวล แต่ก็เป็นธุรกิจที่ยาก ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาดูและวางแผนงาน ต้องพัฒนาและปรับตัวอยู่ตลอด ในต่างประเทศธุรกิจฟิตเนสอยู่ในขั้น Facility Provider ชูจุดเด่นด้านอุปกรณ์การออกกำลังกายและการบริการต่างๆ แต่ในไทยยังต้องพัฒนาทั้งการเป็น Facility Provider และสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าใช้บริการไปพร้อมๆ กันก่อน เพราะคนไทยยังไม่ได้เข้าใช้บริการฟิตเนสมากนักเทียบต่างประเทศ”
ปัจจุบัน ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการฟิตเนส เฟิร์ส กว่า 7 หมื่นราย ใช้บริการสม่ำเสมอ 70-80% แต่ละปีมีฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น10% สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อายุ 28-40 ปี ลูกค้าสมาชิกใหม่มีความถี่ใช้บริการ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ สมาชิกเกิน 12 เดือน ใช้บริการเฉลี่ย 2.6 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นโจทย์ท้าทายที่จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้กลับมาใช้ฟิตเนสบ่อยครั้ง จึงเตรียมเพิ่มคลาสฟิตเนสให้หลากหลาย เพราะจะทำให้สมาชิกมีทางเลือกคลาสเรียน นอกจากนี้จะมีการสร้างกิจกรรมออกกำลังกายแบบกลุ่ม เพื่อให้ลูกค้าที่มาคนเดียวไม่รู้สึกเบื่อ
“เรามองที่ลูกค้าเป็นสำคัญ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาไม่เบื่อ ทำให้รู้สึกใช้เวลาคุ้มค่าที่ได้มาฟิตเนส ไม่ต้องเสียเวลานั่งรอคลาสถัดไป แต่สามารถออกกำลังกายเอาท์ดอร์ ในคอนเซปท์เพลย์กราวด์ที่มีลู่วิ่งระหว่างรอเรียนแต่ละคลาสได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกายมากขึ้น ทำให้เขาเห็นผลลัพธ์จากการเข้าใช้ฟิตเนส”
ในปี 2560 จะมีการขยายสาขาเพิ่ม 2 แห่ง เน้นทำเลกรุงเทพฯ เพราะยังมีศักยภาพเติบโตสูง จากไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นิยมออกกำลังกาย ปัจจุบัน ฟิตเนส เฟิร์สท เปิดบริการา 28 สาขา
พรศรี พริ้งสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท วี ฟิตเนส โซไซตี้ จำกัด กล่าวว่า ตลาดฟิตเนสปี 2559 ที่ผ่านมา เติบโต 15-20% มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท
ปัจจุบันมีทั้งผู้ประกอบการรายย่อยภายในประเทศ และแบรนด์ใหญ่จากต่างประเทศเปิดตัวในไทย ขณะที่ผู้เล่นรายย่อยขยับเข้ามาเปิด “ฟิตเนส สตูดิโอ” ในเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะย่านทองหล่อ รวมถึงการเจาะย่านผู้บริโภคกำลังซื้อสูง พร้อมจ่ายเงินเพื่อส่งเสริมสุขภาพแข็งแรงและรูปร่างที่ดีขึ้น
เทรนด์การออกกำลังกายในปี 2560 จะมีความหลากหลายมากขึ้น มีทางเลือกจากไลฟ์สไตล์ฟิตเนสต่างๆ เริ่มใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมาตรวจสอบสุขภาพร่างกายควบคู่กับการออกกำลังกาย
อย่างไรก็ดี ธุรกิจฟิตเนส ยังคงเป็น Red ocean หรือตลาดที่แข่งขันรุนแรง มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาตลาด แต่ภาพรวมการออกกำลังกายของคนไทยก็ยังไม่สูงมาก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.6% ของประชากรทั่วประเทศเท่านั้น แตกต่างจากประเทศอื่น เช่น ออสเตรเลีย คนออกกำลังกายคิดเป็นสัดส่วน 8% ของประชากรรวม
หากผู้เล่นในตลาดร่วมกันให้ข้อมูลความรู้ ส่งเสริมให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น จะผลักดันตลาดเติบโตได้อีกมาก
ปีนี้บริษัทจะเน้นการเพิ่มคลาสออกกำลังกายทุกไตรมาส และพัฒนาคลาสออกกำลังกายแบบกลุ่ม รับพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ชอบออกกำลังกายแบบมีเพื่อน หรือมีคนรู้จักอยู่ร่วมกันในคลาส ทั้งเตรียมนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายภายในฟิตเนส เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและดูแลสุขภาพนำเข้า
นอกจากนี้ มีแผนเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจเช็คสุขภาพ สอดรับแนวทางที่โรงพยาบาลเริ่มขยายสู่บริการเพื่อสุขภาพมากขึ้น
“มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทและโรงพยาบาลในไตรมาส 2 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ทั้ง 2ฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนฐานลูกค้าระหว่างกัน โรงพยาบาลก็อาจส่งผู้ป่วยมาฟิตเนส เพื่อให้ช่วยบริการโปรแกรมออกกำลังกาย ฟื้นฟูร่างกาย และการรับบริการจากเทรนเนอร์ ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นแนวทางที่จะร่วมกันสร้างสังคมสุขภาพได้ทั้ง 2 ฝ่าย”
ในปี 2560 บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มลูกค้าแอคทีฟกว่า 2 หมื่นราย จากปี 2559 มียอดลูกค้าแอคทีฟ 1.5 หมื่นราย โดยมีลูกค้าที่ซื้อเทรนเนอร์เพื่อฝึกสอนออกกำลังกาย ถึง 30% ของลูกค้าแอคทีฟ ปัจจุบันเปิดบริการ 4 สาขา
รายย่อยพลิกโอกาสเจาะชุมชน
วิสุทธิ์ สุระเฉลิมกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม ฟิตเนส จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจฟิตเนสมีศักยภาพเติบโตตามเทรนด์สุขภาพ แต่ตลาดมีการแข่งขันสูง มีผู้เล่นทุกระดับเข้ามาขยายธุรกิจ โดยแข่งขันกันด้วยทำเลที่ตั้ง ที่ต้องเดินทางสะดวก บางรายอาจแข่งขันกันด้วยค่าบริการที่จูงใจ เพื่อทำให้คนเข้ามาใช้บริการฟิตเนสได้ต่อเนื่อง
เอ็ม ฟิตเนส ใช้ความได้เปรียบของการเป็นผู้เล่นรายย่อยขยายฟิตเนสในชุมชนต่างๆ เป็นการเจาะตรงเข้าถึงลูกค้า เรียกว่า อำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการแบบไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง หรือเข้าห้าง
“เราไม่เน้นเพิ่มจำนวนลูกค้าสมาชิกให้ได้มากที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เกิดความแออัดที่จะใช้บริการจนมากจนเกินไป แต่หากสาขาไหนมีผู้ใช้บริการมาก ก็จะพิจารณาเพิ่มสาขาใกล้เคียงรองรับความต้องการ”
นอกจากนี้ เตรียมเพิ่มคลาส เช่น ระดับเริ่มต้น และแอดวานซ์ ให้ผู้เล่นไม่เบื่อกับการออกกำลังกายในระดับเดิมๆ
ปีนี้เตรียมขยายเพิ่มอีก 3 สาขา ลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 10 ล้านบาท คาดมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันเปิดบริการ 4 สาขา ตั้งเป้าหมายเปิดครบ 10 สาขา และมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ภายในปี 2561