โฆษณาวีดิโอออนไลน์แข่งชิงงบสื่อทีวี

โฆษณาวีดิโอออนไลน์แข่งชิงงบสื่อทีวี

การพัฒนาแพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์ ประกอบกับความหลากหลายของคอนเทนท์ น่าจะขยายฐานผู้ชมวีดิโอออนไลน์ให้กว้างและรับชมนานขึ้น

โฆษณารูปแบบวีดิโอออนไลน์มีความใกล้เคียงกับโฆษณาทางโทรทัศน์ อีกทั้งมีราคาโฆษณาต่ำกว่า ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจง รวมถึงมีทางเลือกโฆษณาหลายรูปแบบ ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่แพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้โฆษณารูปแบบวีดิโอออนไลน์น่าจะมีบทบาทแข่งขันกับโฆษณาโทรทัศน์มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในปี 2560 น่าจะคิดเป็นมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 21-26 จากในปี 2559 ที่คิดเป็นมูลค่า 9,882 ล้านบาท

การเข้าสู่ยุค Internet of Things ที่การดำเนินชีวิตของผู้คนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สะท้อนถึงโอกาสในการยกระดับการโฆษณาออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่ความท้าทายของกลุ่มสื่อออฟไลน์ในปี 2560 อยู่ที่การนำเสนอแพ็คเกจโฆษณาที่มีความคุ้มค่า เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาจากภาคธุรกิจ

ความหลากหลายของสื่อออนไลน์ปัจจุบัน ที่มีทั้งโซเชียล มีเดีย โปรแกรมสำหรับแชท บล็อก และเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงสื่อออนไลน์แต่ละประเภทยังพัฒนาคุณสมบัติให้ครอบคลุม ตั้งแต่การติดต่อสื่อสาร การรับชมคอนเทนท์ ไปจนถึงการซื้อขายสินค้าและบริการ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้น และเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ปี60สื่อออนไลน์รุกแพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์

จากพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น ทั้งการติดต่อสื่อสาร การรับชมคอนเทนท์ รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการ ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านมาสู่การทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้น

ทิศทางสื่อออนไลน์ปี 2560 ต่างมุ่งเน้นการแข่งขันช่วงชิงเม็ดเงินโฆษณา ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์ โดยโซเชียล มีเดีย ทั้ง Facebook, Instagram และ Line รวมไปถึงเว็บไซต์ และผู้ผลิตคอนเทนท์ต่างๆ ได้เสริมฟีเจอร์การรับชมวีดิโอออนไลน์

ขณะที่สื่อออนไลน์ที่ให้บริการรับชมวีดิโอออนไลน์เป็นหลัก อย่าง YouTube ได้พัฒนาฟีเจอร์การรับชม ทั้งการยกระดับความคมชัดของภาพ การถ่ายทอดสดวีดิโอ 3 มิติ และ 360 องศา การพัฒนาระบบเสียงรอบทิศทาง รวมถึงการนำเทคโนโลยีสตรีมมิ่งมาช่วยให้การรับชมการถ่ายทอดสดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การรุกพัฒนาแพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์ของกลุ่มสื่อออนไลน์ในปี 2560 ประกอบกับความหลากหลายของคอนเทนท์วิดีโอออนไลน์ ทั้งจากผู้ผลิตคอนเทนท์รายย่อยที่มีความคิดสร้างสรรค์ และจากผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่นำรายการในระบบโทรทัศน์มาแพร่ภาพในรูปแบบวีดิโอออนไลน์ซ้ำ จะขยายฐานผู้ชมวีดิโอออนไลน์ให้กว้างขึ้น รวมถึงผู้คนใช้เวลารับชมวีดิโอออนไลน์ยาวนานขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ค่าโฆษณาที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับกลุ่มสื่อออนไลน์ที่พัฒนาแพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์ตามมา

ธุรกิจกระจายงบโฆษณาวิดีโอออนไลน์

การโฆษณารูปแบบวีดิโอออนไลน์มีความใกล้เคียงกับการโฆษณาทางโทรทัศน์ในด้านการนำเสนอโฆษณาในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว อีกทั้งการโฆษณาวีดิโอออนไลน์มีข้อได้เปรียบการโฆษณาทางโทรทัศน์ ทั้งค่าโฆษณาในระดับที่ต่ำกว่า การไม่มีข้อจำกัดในด้านระยะเวลาการโฆษณา การเข้าถึงผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง รวมถึงมีทางเลือกในการโฆษณาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเป็นสปอนเซอร์ ภาพนิ่งในตำแหน่งต่างๆ ของหน้าจอ ไปจนถึงภาพเคลื่อนไหวที่ผู้ชมสามารถเลือกรับชม หรือกดข้ามได้ โดยสามารถกำหนดการนำเสนอโฆษณาให้อยู่ตั้งแต่เริ่มต้น ระหว่าง หรือหลังการรับชมวีดิโอออนไลน์ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่แพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์ และโฆษณาวีดิโอออนไลน์จะมีบทบาทแข่งขันกับโฆษณาทางโทรทัศน์มากขึ้น

โดยคาดว่าปี 2560 เม็ดเงินโฆษณาผ่าน YouTube ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวีดิโอออนไลน์หลัก จะอยู่ในกรอบ 2,200-2,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ “3เท่าตัว” ในระยะเวลา 3 ปี โดยภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่ YouTube มากขึ้น

สอดคล้องกับการใช้เวลารับชมวีดิโอออนไลน์ผ่าน YouTube ของคนไทยโดยเฉลี่ยต่อคนที่มากถึง 1.9 ชั่วโมงต่อวัน

ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ มีแนวโน้มลดลงราวร้อยละ 8-12 หรือคิดเป็นมูลค่า 62,000-65,000 ล้านบาท นอกจากสื่อโทรทัศน์จะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มที่ภาคธุรกิจกระจายงบประมาณโฆษณาไปสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 แล้ว ภาวะที่มีจำนวนช่องรายการโทรทัศน์มากขึ้นในยุคทีวีดิจิทัล ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณากระจายตัวไปตามทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ อัตราค่าโฆษณาทางโทรทัศน์จึงยังอยู่ในระดับไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับยุคทีวีอนาล็อก ส่งผลให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์เผชิญความท้าทายยิ่งขึ้นในปี 2560 นี้

โฆษณาออนไลน์ 1.2 หมื่นล้าน

เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ที่ได้รับความนิยม อย่าง Facebook และ YouTube ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึง Facebook และ YouTube สูงเป็นลำดับต้นๆ ของภูมิภาค สะท้อนถึงอัตราการทำกิจกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มกระจายงบประมาณโฆษณามาสู่กลุ่มสื่อออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มสื่อออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเม็ดเงินโฆษณาในภาพรวม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ในปี 2560 น่าจะคิดเป็นมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 21-26 จากในปี 2559 ที่คิดเป็นมูลค่า 9,882 ล้านบาท

ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่าน Facebook และ YouTube คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 47 ของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์โดยรวม สะท้อนให้เห็นถึงการใช้งบประมาณโฆษณาออนไลน์ของภาคธุรกิจอย่างกระจุกตัวในสื่อออนไลน์ต่างชาติ ส่งผลให้มีหลากหลายประเด็นที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป ประกอบกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อสื่อสาร การรับชมคอนเทนท์ ไปจนถึงการซื้อขายสินค้าและบริการ ที่มีแนวโน้มทำกิจกรรมบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น

ส่งผลให้กลุ่มสื่อออนไลน์ของไทย เช่น ผู้ให้บริการ E-Commerce เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น เป็นต้น จำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณสมบัติ เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มสื่อออนไลน์ต่างชาติ