ศธ.ระดมจิตอาสา7,500คน ฟื้นฟูภาคใต้หลังน้ำลด
ศธ.เตรียมระดมจิตอาสาอาชีวะ-กศน.300 ทีม 7,500 คน ลงพื้นที่ภาคใต้ร่วมฟื้นฟูหลังน้ำลด ตั้งแต่ 13 ม.ค.นี้
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมหารือการช่วยเหลือและแนวทางแก้ปัญหาผู้ประสบภับน้ำท่วมภาคใต้ ว่า ปัญหาน้ำท่วมใน 12 จังหวัดภาคใต้นั้น รัฐบาลได้บูรณการความร่วมมือหน่วยงานต่างๆการดูแลช่วยเหลือประชาชนในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับหน้าที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลด โดยจะระดมจิตอาสาทั้งครูและนักเรียนของสถานศึกษาในสังกัด ศธ. ทั่วประเทศลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน โดยได้กำชับให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยของผู้ปฎิบัติงาน ตั้งแต่ก่อนปฏิบัติงาน ระหว่างปฏิบัติ และเสร็จสิ้นภารกิจ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะนักเรียนที่ต้องหยุดเรียนติดต่อกันหลายวัน ซึ่งหลายภาคส่วนกังวลว่าเด็กจะมีเวลาเรียนไม่พอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รายงานว่าภายหลังน้ำลดสถานศึกษาได้เตรียมการจัดการเรียนการสอนชดเชยให้กับนักเรียนให้ครบชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรที่กำหนด
ด้าน ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้สรุปความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม พบว่า สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ได้รับความเสียหาย 1,791 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 700 ล้านบาท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เสียหาย 19 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 150 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 30 ล้านบาท และสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 293 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 18 ล้านบาท ทั้งนี้ ความเสียหายที่พบจะเกี่ยวกับอาคาร สถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่ง ศธ. เตรียมเสนอของบประมาณกลาง ปีงบประมาณ 2560 ประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อดูแลต่อไป
ในส่วนกิจกรรมที่จะให้บริการประชาชนหลังน้ำลด แบ่งเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ 1.การระดมจิตอาสาของนักเรียนอาชีวศึกษาและนักศึกษา กศน.ทั่วประเทศ จำนวน 300 ทีม รวม 7,500 คน แบ่งเป็น จิตอาสานักเรียน นักศึกษาอาชีวะ 200 ทีมๆละ 30 คน และจิตอาสา กศน. 100 ทีมๆละ 15 คน ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.2560 โดยการแบ่งพื้นที่การปฎิบัติงานช่วยเหลือประชาชนนั้นจะขึ้นอยู่กับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ส่วนหน้า) จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้บริการขนย้ายสิ่งของ ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ รถจักรยายนต์ และอุปกรณ์ทางการเกษตรให้แก่ประชาชน คาดว่าจะซ่อมแซมได้กว่า 400,000 ชิ้น
และ 2.การช่วยเหลือสถานศึกษาและนักเรียน ซึ่งอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดย สพฐ.จะจัดโครงการ “ปันเครื่องเขียนให้เพื่อน” ซึ่งจะเปิดรับบริจาคอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียนจากทั่วประเทศ เพื่อไปมอบให้แก่นักเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม ขณะเดียวกัน องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จะจัดหนังสือเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้แก่นักเรียนด้วย นอกจากนี้ สกสค.จะไปวางแผนและหามาตรการเพื่อดูแลสวัสิดการให้แก่ครูที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ด้วย