ช่วยน้ำท่วม 'ลดหย่อนภาษี1.5เท่า'
ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษีช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ลดย่อนเงินภาษีได้ 1.5 เท่าให้กับผู้บริจาค ทั้งบุคคลธรรมดา-นิติบุคคล ระหว่าง 1ม.ค.– 31 มี.ค
รัฐบาลออกมาตรการทางภาษีและทางการเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้ โดยเป็นมาตรการเฉพาะหน้า พร้อมออกมาตรการเพิ่มหลังจากประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10 ม.ค.) อนุมัติมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่และประจวบคีรีขันธ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา
มาตรการดังกล่าวจะเป็นการจูงใจให้เกิดการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านทางส่วนราชการ องค์การ สถานสาธารณกุศล หรือบริษัท และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินบริจาคที่ขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร ที่นำเงินหรือทรัพย์สินไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-31มี.ค.2560 สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาเป็นค่าลดหย่อนหรือค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 1.5 เท่า
ส่วนในกรณีบุคคลธรรมดาจะนำมาหักลดหย่อนได้กรณีเป็นตัวเงินเท่านั้น และเมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นๆต้องไม่เกิน10%ของเงินได้สุทธิ ส่วนนิติบุคคลนำมาหักลดหย่อนได้ทั้งที่เป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน และเมื่อรวมกันแล้วไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิ
นอกจากนี้ครม.ยังได้อนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรของผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ที่ต้องยื่นภายในเดือนม.ค.-ก.พ.2560ให้สามารถนำไปยื่นได้ภายในวันที่31มี.ค.2560โดยไม่เสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าปรับสัญญา
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ทุกหน่วยงานราชการทำงานร่วมกันอย่างเต็มความสามารถในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอุทกภัย
“ในแง่ของความเสียหายทางเศรษฐกิจคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการประเมินประมาณ1สัปดาห์ ซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจะต้องประเมินจากระยะเวลาที่น้ำท่วมด้วยว่ามีน้ำท่วมเป็นระยะเวลานานเท่าไร จากนั้นจึงจะมีการกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือภายหลังน้ำท่วมอีกครั้ง ซึ่งคาดว่า ครม.จะหารือเรื่องนี้ในการประชุมสัปดาห์หน้า”
คลังเล็งเพิ่มมาตรการเงินช่วยน้ำท่วม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่าขณะนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐหลายแห่งก็ได้ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นไปบ้างแล้ว เช่น การยกเว้นดอกเบี้ย และ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึง การบริจาคสิ่งของเพื่อยังชีพต่างๆ
ขณะนี้ สศค.กำลังหารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐต่างๆว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการดังกล่าวอีกหรือไม่ หากจำเป็นต้องเพิ่ม กระทรวงการคลังก็จะเข้าไปสนับสนุนวงเงินชดเชยแก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ
“ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจยังบอกไม่ได้ว่า จะมากน้อยเพียงใด เนื่องจาก สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย แต่เบื้องต้นประเมินว่า ผลกระทบจะมีต่อภาคเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ยังไม่ได้รับรายงานว่า ได้รับผลกระทบ”
เครดิตบูโรกำชับแบงก์ลงบัญชีปกติ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร กล่าวว่า ได้ออกหนังสือถึงธนาคารและสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกกว่า 94 แห่งเพื่อให้ระมัดระวังในการรายงานและนำส่งข้อมูลของลูกหนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ หากมีการผ่อนผันหรือผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ควรยึดถือข้อเท็จจริงตามนโยบายที่ได้ช่วยเหลือหรือผ่อนผันให้กับลูกค้า
เช่น กรณีที่ลูกค้าสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงหรือข้อผ่อนผันได้ สมาชิกสามารถรายงานและนำส่งข้อมูลการชำระหนี้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามข้อตกลงหรือข้อผ่อนผันนั้นในสถานะบัญชี “บัญชีปกติ” แทนการรายงานและนำส่งข้อมูลว่า “ลูกค้าผิดนัดชำระหนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้เกิดความเสียหายในประวัติของตน
นอกจากนี้กรณีที่มีการพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ หรือตามนโยบายของสมาชิกที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ เช่น ประสบภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติอื่น อาจนำส่งเป็น “พักหนี้ตามนโยบายของรัฐ” มาตรการนี้จะเป็นการช่วยเยียวยาทางด้านจิตใจและการดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องหลังน้ำลดแล้วแก่ผู้ประสบอุทกภัยอีกทางหนึ่งด้วย
คปภ.สั่งเร่งเยียวยาผู้ประสบภัย
ด้าน สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีรายงานเบื้องต้นจากบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับความเสียหายของรถยนต์ที่ทำประกันภัยจำนวน 501 คัน ประเมินความเสียหายประมาณ 79.75 ล้านบาท ความเสียหายเกี่ยวกับบ้านพักอาศัย 6 ราย ประเมินความเสียหาย 1 ล้านบาท ความเสียหายต่อสถานประกอบการจำนวน 3 ราย ประเมินความเสียหาย 9 ล้านบาท และพื้นที่ความเสียหายที่เป็นนาข้าวจำนวน 40,296 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย จึงได้สั่งให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์
สำนักงาน คปภ. เร่งรวบรวมตัวเลขความเสียหายทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมและเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ทำประกันภัยที่ประสบภัยในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน
ธพว.ให้กู้5แสนพักหนี้ 6 เดือน
นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่าได้ออก 2 มาตรการช่วยน้ำท่วม ประกอบด้วยพักชำระหนี้เป็นเวลา 6 เดือน และให้วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี ดอกเบี้ยไม่เกิน เอ็มแอลอาร์ ตลอดอายุสัญญา
นายสมชายกล่าวว่าวัตถุประสงค์เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
ซัมมิทเล็งยืดจ่ายหนี้-ลดค่าธรรมเนียม
นายวิชิต พยุหยาวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซัมมิท แคปปิตอล ลิสซิ่ง จำกัด เปิดเผยว่ากรณีน้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้บริษัทได้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้าหากสถานการณ์ ไม่เกิน1 เดือน คงจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่หากเกิน 1 เดือน แน่นอนว่า จะกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งบริษัทเตรียมมาตรเข้าไปช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ ด้วยการผ่อนปรนการชำระค่างวด หรือ ลดค่าธรรมเนียมโดยปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่อยู่ภาคใต้ มีอยู่ประมาณ 10% หรือคิดเป็น 300 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ประมาณ 500-600 คันต่อเดือน
“ถือว่ายังน้อยอยู่ และสาขาของบริษัทในภาคใต้ประมาณ4-5 แห่ง ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม”
แบงก์ปิดสาขาลดเหลือ9สาขา
นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การปิดทำการชั่วคราวของสาขาธนาคารพาณิชย์ทางภาคใต้ในวานนี้ (10 ม.ค.) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มดีขึ้น หลายสาขาสามารถกลับมาเปิดทำการตามปกติได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มส่งผลกระทบไปยังจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ทำให้จำนวนสาขาที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้นอีก 6 สาขา รวมเป็น 117 สาขา จากเมื่อวันที่ 9ม.ค. ซึ่งมีจำนวนสาขาที่ได้รับผลกระทบ 111 สาขา จากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 11 แห่ง
สำหรับสาขาที่ต้องปิดทำการชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้มีจำนวน 9 สาขา จาก 4 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย 3 สาขา ธนาคารกสิกรไทย 3 สาขา ธนาคาร ไทยพาณิชย์ 2 สาขา และ ธนาคารกรุงเทพ 1 สาขา