ศาลกาฬสินธุ์ พร้อมทดลองกระบวนการ ปล่อยตัวชั่วคราว
ศาลยุติธรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ เตรียมความพร้อม ให้แก่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ในการนำระบบประเมินความเสี่ยง กำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคร่าว
วันที่ 21 ม.ค.2560 ที่โรงแรมริมปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรม ในการนำระบบประเมินความเสี่ยง และกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว ไปทดลองใช้ในศาลชั้นต้น โดยมีนาย วิชัย รอดพิเศษ รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เป็นประธานเปิดการประชุมและเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ โดยนายถาวร เศษมะพล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ในศาลยุติธรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติ เจ้าพนักงานสอบสวน เข้าร่วมประชุม จำนวน 50 คน
นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำ สำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ด้วยปัญหาการปล่อยตัวชั่วคราวในปัจจุบัน เกิดจากผู้พิพากษาได้รับข้อมูลไม่เพียงพอในการประเมินว่าผู้ต้องหาหรือจำเลย จะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายซ้ำ หลังปล่อยชั่วคราว และไม่มีมาตรการใดในการดูแลหลังปล่อยชั่วคราว เมื่อเกิดการหลบหนีก็มีการจับกุมได้น้อย ดังนั้นแม้มีหลักการว่าในคดีอาญา ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ให้สันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ด้วยความที่ผู้พิพากษาไม่อาจวางใจให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่เรียกหลักประกันใด ๆ ได้ ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกัน จึงไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวและต้องถูกขังระหว่างพิจารณา อันเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกันในสังคม
นายถาวร เศษมะพล ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ระบบการประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแล ที่ศาลยุติธรรมจะนำร่องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จำเป็น แล้วจึงนำมาวิเคราะห์และประเมินหาความเสี่ยง ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี หรือก่อเหตุร้ายผ่านกระบวนการทางสถิติและพฤติกรรมศาสตร์ ผู้พิพากษาจะได้รับข้อมูลและข้อวิเคราะห์เหล่านี้ มาประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งจะย่อมช่วยให้การสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตอิงกับข้อเท็จจริงมากขึ้น นากจากนี้ระบบใหม่ยังมีกลไกและมาตรการต่าง ๆ ในการกำกับดูแลหลังปล่อยชั่วคราวที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงมารองรับ เช่น ผู้มีความเสี่ยงต่ำ อาจปล่อยได้ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือให้มารายงานตัวตามกำหนดก็เพียงพอ
ส่วนผู้มีความเสี่ยงสูงอาจปล่อยพร้อมเงื่อนไขจำกัดการเดินทาง โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Eiectronic Montoring หรือ EM) ไม่ว่าจะในรูปแบบกำไลข้อเท้าหรือผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (Smartphone Monitoring หรือ SM) ในการกำกับดูแล เป็นต้น ความจำเป็นในการเรียกหลักประกันหรือกระทั่งให้ทำสัญญาประกันย่อมลดลงหรือหมดไป ระบบเมื่อได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์ย่อมช่วยให้ศาลสั่งปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องอิงเงินหรือทรัพย์สินอีกต่อไป ทั้งยังรับประกันการมาศาลและไม่ก่อเหตุร้ายหลังปล่อยชั่วคราวได้สูงกว่า การเรียกประกันตามระบบปัจจุบัน ดังที่ได้รับการพิสูจน์ในกรุงวอชิงตัน ดีซี และในอีกหลายท้องที่ในประเทศสหรัฐอเมริกามาหลายสิบปีแล้วว่า ระบบดังกล่าว เป็นธรรมกว่า มีประสิทธิภาพกว่า และประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐมากกว่าการเรียกประกันเป็นเงินหรือทรัพย์สิน
ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้เล็งเห็นถึงทิศทางในการพัฒนา การปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดทดลองใช้กับศาลชั้นต้น ซึ่งมี 3 ระยะ ในแต่ละระยะมีกำหนด 12 เดือน โดยในระยะแรกจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะนำระบบทดลองใช้กับคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ในศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช และขยายไปยังศาลที่มีการทดลองใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการติดตามตัว (Eiectronic Montoring)
เพื่อเตรียมการรองรับต่อการทดลอง ระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแล ในชั้นปล่อยชั่วคราวได้อย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานของศาลจึงจำเป็นต้องมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความรู้ความเข้าใจ และเสนอแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่ศาลทดลอง ในระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราว