ต่อสัญญาเอ็น.ซี.ซี.พัฒนาศูนย์ประชุมสิริกิติ์เดินตามสัญญาเดิม

ต่อสัญญาเอ็น.ซี.ซี.พัฒนาศูนย์ประชุมสิริกิติ์เดินตามสัญญาเดิม

“ธนารักษ์” แจงต่อสัญญา“เอ็น.ซี.ซี.ฯ” พัฒนาโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นไปตามสัญญาเดิม

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติเรื่องการพัฒนาโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ เพื่อลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมใหม่วงเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท มีระยะเวลาเช่าที่จากกรมราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์ 50 ปี นับจากวันลงนามในสัญญา กรมธนารักษ์ จะได้รับผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา 18,900 ล้านบาท และหากทอนมาเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 5,100 ล้านบาท

การให้บริษัทเดิมได้รับสัมปทาน เป็นผลจากการเจรจา เพราะเดิม เอ็น.ซี.ซี. ต้องดำเนินการระยะที่ 2 คือ สร้างเป็นโรงแรมช่วงปี 2534-3535 แต่ติดเรื่องผังเมือง กทม.ประกาศหลังจากเอกชนลงนามกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว ทำให้เอกชนไม่สามารถลงทุนต่อไปได้ เรื่องนี้ค้างอยู่ที่กรมธนารักษ์มานานกว่า 20 ปี ดังนั้นตั้งแต่ตนมารับตำแหน่ง มีนโยบายเจรจาเพื่อแก้ปัญหาโครงการลงทุนที่ราชพัสดุที่ยังค้างค้าอยู่ ซึ่งได้เจรจากับเอกชน รวมถึงหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลากว่า 2 ปี จึงเป็นที่มาอยู่การเสนอเข้าครม.

“ที่ไม่เปิดประมูลใหม่ เพราะการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโครงการเดิม สัญญาเดิม ลงทุนในพื้นที่เดิม และใช้รากฐานทางวิศวกรรมเดิม หารือกับสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว และหารือกับสำนักงานโยธาแล้ว โดยได้มีการเสนอโครงการดังกล่าวเข้าคณะกรรมการร่วมลงทุน (พีพีพี) แล้ว เนื่องจากมีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านบาทเข้าข่ายพีพีพี แต่หลังผ่านครม.ไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ จากทีมโฆษก หรือกระทรวงการคลัง จึงทำให้มองว่าเงียบๆ แต่มีผู้สื่อข่าวมาถาม ผมก็ตอบ ครั้งนี้ไม่ได้ทำแบบงุบงิบ ที่ผ่านมาให้ข่าวเรื่องนี้กับสื่อมวลชนมาตลอดว่าได้เจรจรกับเอกชนรายเดิมในเรื่องศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”

ส่วนการยืดเวลาให้เอกชนถึง 50 ปีเป็นไปตามที่ปรึกษาทางการเงินเสนอมาว่า หากให้คุ้มค่ากับการลงทุนให้เวลา 47 ปี บวกเวลาก่อสร้าง 3ปี รวมเป็น 50 ปี ซึ่งกรมธนารักษ์ไม่สามารถยกเลิกสัญญากับเอกชนได้ เพื่อนำมาเปิดประมูลใหม่ได้ เพราะเอกชนไม่ได้ผิดสัญญาอะไร และถ้าไม่ทำอะไรยังทิ้งไว้เหมือนเดิม กรมจะได้ค่าตอบแทนปีละ 100-200 ล้านบาท

ขณะนี้รอมติครม.อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นจะร่างสัญญา และส่งไปให้อัยการตรวจสอบอีกครั้ง จึงจะลงนามกับเอกชนได้ เอกชนใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ ซึ่งสัญญา 50 ปีนับจากวันลงนาม ไม่เหมือนกับที่ผ่านมาจะนับจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ