'ตลาดยุโรป' ฐานใหม่ อาม่า มารีน
ล่องเรือตามฝัน 5 ปี สยายปีกสู่ 'ทวีปยุโรป' พิศาล รัชกิจประการ เอ็มดี 'อาม่า มารีน' รับรองเช่นนั้น
ถือเป็นหนึ่ง 'จุดเด่น' ของ บมจ.อาม่า มารีน หรือ AMA ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือ และให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางรถยนต์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ผ่านกลุ่ม 'พิพัฒน์ รัชกิจประการ' ที่มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ 'พิทักษ์ รัชกิจประการ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG
หลากหลายความโดดเด่น ส่งผลให้หุ้น AMA กลายเป็นหุ้นไอพีโอที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่และสถาบัน สะท้อนผ่านการกวาดหุ้นเข้าพอร์ตของ 'เสี่ยยักษ์-วิชัย วชิรพงศ์' เจ้าของห้องวีไอพีประจำ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ที่สามารถคว้าไปครอบครองได้เพียง 1 ล้านหุ้น มูลค่า 9.99 ล้านบาท คิดเป็น 0.93% ของการเสนอขาย
ทว่าผ่านมาเพียงเดือนกว่า นับจากวันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ Market Cap ของหุ้น AMA ทะยายจากระดับ 6,689 ล้านบาท (ตัวเลขวันที่ 22 ธ.ค.2559) เป็น 10,358 ล้านบาท (ตัวเลขวันที่ 31 ม.ค.2560) หลังราคาหุ้นขยับขึ้นจาก 15 บาท เป็น 25.25 บาท (26 ธ.ค.2559) ปัจจุบันซื้อขายเฉลี่ย 23.90 บาท สูงกว่าราคาเป้าหมายปี 2560 ที่เหล่านักวิเคราะห์เคาะไว้ที่ระดับ 15.20 บาท
'ไม่ต้องการเพียงตำแหน่งผู้ประกอบการขนส่งน้ำมันปาล์มทางเรือระดับเอเชีย แต่อยากขึ้นแท่นผู้ประกอบการระดับโลก' วิสัยทัศน์ธุรกิจระยะยาวของ 'พิศาล รัชกิจประการ' กรรมการผู้จัดการ บมจ.อาม่า มารีน หรือ AMA
เป้าหมายสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2560-2564) คงหนีไม่พ้นการยกระดับการขนส่งสินค้าของเหลวทางเรือเข้าสู่ 'ทวีปยุโรป' เพราะยุโรปถือเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมัน ปาล์มมากสุดเป็นอันดับ 2 คิดเป็นสัดส่วน 6.70 ล้านตัน (ตัวเลขปี 2558) รองจากประเทศอินเดีย
แต่ก่อนจะก้าวไปสู่จุดนั้น ภายในช่วง 3 ปีจากนี้ บริษัทต้องช่วงชิง 'ตัวเลขมาร์เก็ตแชร์' ตลาดเอเชียให้ได้ก่อน คู่แข่งสำคัญ คือ ผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น,เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น วิธีการชิงตัวเลขมาครอบครอง คงหนีไม่พ้นการ 'เพิ่มเส้นทางขนส่ง' จากปัจจุบันที่ขนส่งสินค้าไปใน 3 ประเทศหลัก นั่นคือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และพม่า
โดยในช่วงเดือนพ.ค.2559 บริษัทได้ขยายเส้นทางการขนส่งไปในประเทศอินเดีย จีน เกาหลีใต้ และบังคาลาเทศ หลังซื้อเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี ภายใต้ชื่อ 'เมญ่า' ขนาดบรรทุก 9,942 ตัน (อายุการใช้งาน 21ปี) และซื้อเรือชื่อ 'อุลญา' ขนาดบรรทุก 13,020 ตัน (อายุการใช้งาน 23 ปี) ในช่วงเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุดวางแผนจะขยายเส้นทางไปในประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มค่อนข้างสูง โดยอินเดีย จีน และญี่ปุ่น มีการนำเข้าเฉลี่ย 9.50 ล้านตัน 5.60 ล้านตัน และ 0.60 ล้านตัน ตามลำดับ
'ก่อนรุกทวีปยุโรปต้องสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และต้องไม่ลืมที่จะลงทุนเพิ่มเติม ด้วยการซื้อเรือขนาดใหญ่ 30,000 ตัน'
กรรมการผู้จัดการ เล่าต่อว่า ตลาดอาเซียนที่เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าของบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้ไม่ได้มีปริมาณลดลง ยกตัวอย่าง ประเทศพม่าที่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มในปี 2558 ที่ระดับ 1.34 ล้านตัน สะท้อนผ่านการใช้เรือขนส่งสินค้า จากเคยใช้เรือขนส่งขนาด 2,000 ตัน ปัจจุบันใช้เรือขนส่งขนาด 4,000-4,500 ตัน
ขณะที่ประเทศเวียดนาม ก็มีลักษณะความต้องการใช้คล้ายคลึงกัน หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ แต่เดิมใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นหลัก ทว่านับตั้งแต่โดนมรสุมใต้ฝุ่นเล่นงานเมื่อ 3-4 ปีก่อน ทำให้ต้นมะพร้าวได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้ต้องนำเข้าน้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยปี 2558 นำเข้าน้ำมันปาล์ม 0.75 ล้านตัน
เมื่อเจาะลึกแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2560-2562) นายใหญ่ อธิบายว่า ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 3 ส่วน นั่นคือ 1.ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ 2.ธุรกิจขนส่งสินค้าทางรถยนต์ และ 3.ซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโลจิสติกส์ (M&A)
ในส่วนของ 'ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ' ปัจจุบันขนส่งผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม 97% และผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช 3% เช่น น้ำมันถั่วเหลือ และน้ำมันมะพร้าว ในอนาคตวางแผนจะขยาย เส้นทางเพิ่มขึ้น เช่น จีน ,ญี่ปุ่น ,ไต้หวัน ,อินเดีย ,บังกลาเทศ เป็นต้น
ควบคู่กับการขยายบริการขนส่งสินค้าเหลวประเภทอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ,กากน้ำตาล ,สารเคมีที่มีความอันตรายไม่สูง (Easy Chemical) เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์สารเคมีดังกล่าวจะมาจากจีน และเกาหลีใต้ เพราะประเทศดังกล่าวมีโรงกลั่นจำนวนมาก และมีผู้ซื้อหลักอยู่ในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับแผนธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือตลอดปี 2560 ตั้งใจจะซื้อเรือขนาด 13,000 ตัน จำนวน 2 ลำ มูลค่าประมาณ 240-250 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 400 ล้านบาท ภายในไตรมาส 1 ปี2560 โดยจะเริ่มให้บริการไตรมาส 2 ปี 2560 ตามแผนจะใช้เงินกู้ 70% และกระแสเงินสด 30% ปัจจุบันบริษัทมีเรือทั้งหมด 8 ลำ ขนาดบรรทุก 46,661 ตัน
'เป้าหมายการขนส่งน้ำมันปาล์มของเราอยู่ที่เมืองจีน ฉะนั้นหากสามารถ ขนสินค้าประเภทอื่นกลับมาได้ เราจะได้ไม่ต้องวิ่งเรือเปล่า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงและมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น'
เอ็มดีใหญ่ บอกว่า แม้ความต้องการน้ำมันปาล์มในภูมิภาคอาเซียนจะมีสัดส่วนสูง แต่ หากบริษัทอยากเติบโตต่อเนื่องคงต้องพยายามขยายเส้นทางใหม่เพิ่มขึ้น เบื้องต้นคงเน้นตลาดจีนและอินเดียก่อน เขาย้ำ
เนื่องจากสองประเทศนี้มีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันปาล์มมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ส่วนประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มและส่ งออกมากสุด เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก
สำหรับแผน 'ธุรกิจขนส่งสินค้าทางรถ' ปัจจุบันขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง 90% และน้ำมัน ดีเซล (B100) 10% ผ่านรถยนต์ขนส่งทั้งสิ้น 80 คัน ขนาดบรรทุก 45,000 ลิตรต่อคัน โดยเป้าหมายสำคัญในปี 2561 คือ เพิ่มจำนวนรถยนต์อีก 80-100 คัน ขนาดบรรทุก 45,000 ตัน
ถือเป็นการรองรับความต้องการของลูกค้าหลักอย่าง บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG และลูกค้าที่ขายน้ำมันดีเซลไบโอดีเซล (B100) หลัง PTG มีแผนจะลดการลงทุนในธุรกิจขนส่งน้ำมัน เพื่อว่าจ้างบริษัทเอาท์ซอร์ซให้ดำเนินการแทน ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้ AMA ได้ประโยชน์ตามไปด้วย
ส่วนแผนงาน 'ซื้อกิจการ' ปัจจุบันกำลังศึกษากิจการทางเรือ รถ อากาศ และคลังสินค้า ซึ่งการขยายตัวเข้าสู่งานเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สิน และตกลงเรื่องราคาซื้อขายที่เหมาะสม ตอนนี้คงยังบอกรายละเอียดไม่ได้ พูดได้เพียงว่า การขนส่งทางเรือและรถยังคงมีโอกาสขยายตัวอีกมาก
AMA การันตีปีนี้ 'เงินงอก 50%'
กรรมการผู้จัดการ ประเมินผลประกอบการปี 2560 ว่า ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตเฉลี่ย 50% จากปี 2559 ส่วนในแง่ของ 'อัตรากำไรสุทธิ' (Net profit margin ) คงอยู่ระดับ 15-19% และ 'อัตรากำไรขั้นต้น' (Gross profit margin ) อาจอยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 30% ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าขอปรับขึ้นค่าบริการ หลังต้นทุนราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนแผนลงทุนปีนี้อย่างที่บอกไปตั้งใจจะซื้อเริ่มเพิ่มอีก 2 ลำ เพื่อให้บริการในช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 เมื่อรวมเรือที่เปิดให้บริการไปแล้วในเดือนพ.ย.2559 จำนวน 1 ลำ จะทำให้บริษัทมีเรือใหม่ทั้งสิ้น 3 ลำ คิดเป็นปริมาณบรรทุกรวม 39,000 เมตริกตัน จากปัจุบันที่มีอยู่ 7 ลำ คิดเป็นปริมาณบรรทุกรวม 33,661 เมตริกตัน
'ในอดีต AMA มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 23% แต่จากนี้เมื่อมีเงินทุนพร้อมจนสามารถขยายตลาดใหม่ได้ต่อเนื่องเราอาจเติบโตเฉลี่ยปีละ 50%'
'พิศาล รัชกิจประการ' เข้าสู่แวดวงขนส่งสินค้าเมื่อปี 2539 เริ่มต้นจากเรือ 2 ลำ ขนาดบรรทุก 2,000 ตัน เพื่อให้บริการบรรทุกสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงกลั่น ไทยออยล์ ,เอสโซ่ และบางจาก เป็นต้น ลูกค้าหลัก คือ บมจ.พีทีที เอนเนอร์ยี่ (ชื่อเดิม บริษัทภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด)
ต่อมาในปี 2544 บริษัทเริ่มมองหาช่องทางการขนส่งใหม่ ด้วยการขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ จากเดิมที่เน้นขนส่งสินค้าภายในประเทศเป็นหลัก หลังการขนส่งสินค้าทางเรือภายในประเทศเริ่มไม่ทำกำไรเหมือนเคย
การแตกไลน์สู่ตลาดใหม่ในครานั้น ถือเป็นการขนส่งน้ำมันปาล์มที่บริษัทรับมาจาก ลูกค้าในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อนำไปส่งยังประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรก และยังเป็นจุดกำเนิดในการขยายเส้นทางไปยังประเทศพม่า และฟิลิปปินส์ด้วย
ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2544 บริษัทมีสัดส่วนรายได้ระหว่างประเทศเข้ามาครั้งแรก และมีสัดส่วนรายได้ภายในประเทศลดลง ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' มาจากต่างประเทศ
'เหตุผลสำคัญที่บริษัทต้องปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ด้วยการยกเลิกการขนส่งสินค้าภายในประเทศเป็นเพราะนโยบายภาครัฐที่ได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ' 'พิศาล รัชกิจประการ' ทิ้งท้ายเช่นนั้น