จากบ้านอาจารย์ฝรั่ง ถึงบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
ตั้งใจไปชมบ้านอาจารย์ฝรั่ง บ้านหลังแรกที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และครอบครัว อาศัยอยู่ ครั้นไปถึงได้เห็นสิ่งที่มากกว่านั้น
บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อาคารประธาน ซึ่งประกอบไปด้วยเรือนบริวาร 3 หลัง (บ้านอาจารย์ฝรั่งเป็น 1 ในนั้น) นับเป็นโบราณสถานที่ควรเข้าชมควบคู่กันไป
การเดินทางไปบ้านอาจารย์ฝรั่ง หากตั้งต้นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ถนนราชวิถีให้มุ่งหน้าไปทางสะพานกรุงธน หรือ สะพานซังฮี้ ผ่านสี่แยกไฟแดงให้ชิดขวาไว้ ตรงๆไปประมาณ 20 เมตรพบสะพานลอยคนเดินข้ามแล้วเตรียมเลี้ยวขวาเข้าสู่สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ทหารรักษาการณ์หน้าประตูพร้อมต้อนรับและดูแลเรื่องที่จอดรถอย่างมีอัธยาศัย
เนื่องจากบ้านอาจารย์ฝรั่ง เปิดให้ชมวันพุธเพียงวันเดียว เราจึงได้เห็นนักศึกษา ประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทะยอยกันเข้ามาเยี่ยมชมอาคารประวัติศาสตร์หลังนี้อย่างต่อเนื่อง
พันเอกนพดล เรืองวิรัตน์ อธิบายว่าการเข้าชมไม่จำเป็นต้องนัดหมายล่วงหน้า เนื่องด้วยเป็นช่วงการเริ่มต้นเปิดบ้านจึงเปิดให้ชมได้เพียงวันเดียว โดยมีบุคลากรนำชม
“โครงการเปิดเป็นบ้านอาจารย์ฝรั่ง เริ่มต้นอาจารย์ประสพชัย แสงประภา ค้นประวัติว่าช่วงแรกอาจารย์ศิลป์มาเช่าบ้านอยู่ละแวกนี้ โดยมีทายาทของตระกูลไกรฤกษฺร่วมค้นหา จนได้ข้อยุติว่าน่าจะเป็นอาคารหลังนี้
ต่อมาทางกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร กับสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก มาคุยกันเรื่องอนุรักษ์อาคาร” ผู้การนพดล เล่าถึงที่มา
ในส่วนของเรื่องราวในช่วงที่อาจารย์ศิลป์มาพำนักอยู่ ณ บ้านหลังนี้ มีบันทึกไว้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 6 กรมศิลปากรได้เช่าบ้านหลังนี้ ให้เป็นที่อยู่ของช่างปั้นชาวอิตาเลียน Prof. Corrado Feroci(ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) และครอบครัว เมื่อปี 2466 และพำนักอยู่นานถึง 8 ปี ก่อนย้ายไปอยู่ที่บ้านสีลม
ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าไว้ในวันเปิดบ้านอาจารย์ฝรั่งว่า ช่วงที่อาจารย์ศิลป์อยู่บ้านหลังนี้เป็นเวลาที่ทำงานสร้างสรรค์พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ บีโน โรมาโน ลูกชายอาจารย์ศิลป์ถือกำเนิดที่บ้านหลังนี้
แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาเพียง 8 ปี ประกอบกับบันทึกเรื่องราวในเวลานั้นไม่มาก หากการจะทำความรู้จักอาคารจำเป็นต้องศึกษาเทียบเคียงไปกับประวัติของบ้านไปพร้อมกัน
บ้านอาจารย์ฝรั่ง จัดเป็น 1 ใน 3 ของเรือนบริวารของบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกฤกษ์) จางวางมหาดเล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด ตราบจนถึงวันสวรรคต และเป็นต้นตระกูลไกรฤกษ์
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ได้รับวางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ตามเสด็จใกล้ชิดโดยตลอด ท่านทุ่มเทให้กับการรับราชการสนองพระเดชพระคุณจนแทบไม่ได้กลับบ้านซึ่งอยู่ไกลออกไป ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินปลายถนนราชวิถีให้ท่านปลูกสร้างบ้านพักอาศัยสะดวกในการเดินทางไปรับราชการ
ทรงพระราชทานเงิน 300 ชั่งเพื่อใช้ในการปลูกสร้างบ้านหลังใหญ่จึงได้สร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบวิคตอเรียน เรเนสซองค์ โดยอาศัยช่างก่อสร้างชาวต่างประเทศชุดเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี โดยพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเป็นผู้วางแปลนเองทั้งหมด หลังคาทรงปั้นหยา อวดพื้นหลังคาด้วยกระเบื้องว่าวเจาะตกแต่งช่องหน้าต่างเล็กๆบนหลังคา
วันประวัติศาสตร์ของบ้านหลังนี้คือ 13 มีนาคม พ.ศ.2448 เป็นวันขึ้นบ้านใหม่ เป็นวันที่รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินเหยียบบ้านหลังนี้ทุกห้อง เพื่อเป็นสิริมงคล ทรงเสวยพระกระยาหารโดยพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เป็นผู้ถวายพระกระยาหารด้วยตนเอง
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา 14 พฤศจิกายน 2521
นับแต่ ปี 2522 เป็นต้นมา อาคารอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักตรวจบัญชีกองทัพบก มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์มาโดยลำดับเพื่อให้คงไว้ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
ในส่วนของบ้านอาจารย์ฝรั่ง จัดแสดงภาพถ่ายครอบครัวและผลงานของอาจารย์ศิลป์บริเวณชั้นบนและชั้นล่าง ในส่วนของรูปทรงทางสถาปัตยกรรมแม้ว่าจะเป็นเรือนบริวาร หากมีความสมส่วนลงตัวและมีเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็นซุ้มหน้าต่าง ไปจนถึงลวดลายประดับไม่ว่าจะเป็นปูนปั้นหรือไม้แกะสลัก ให้ความรู้สึกร่มรื่น งดงาม
ขณะที่อาคารหลัก แม้ว่าจะยังไม่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการ แต่ก็เปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้ กล่าวได้ว่าบ้านหลังนี้มีความสวยงาม ยิ่งใหญ่ และอลังการอยู่มาก ยิ่งเมื่อได้ช่างชุดเดียวกันกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมด้วยแล้ว ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
สถาปัตยกรรมภายนอกโดดเด่นด้วยป้อมปราการ ปูนปั้นประดับประตูหน้าต่างสวยงามมาก ยิ่งเมื่อเข้าไปชมภายในจะเห็นการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักฝีมือประณีตมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของบันไดที่คงความสมบูรณ์ กระจกสีบานใหญ่ตรงเชิงบันไดตระการตามาก
ใครที่ชอบภาพเขียนสีเฟรสโก้ บอกเลยว่าบริเวณเพดานห้องชั้นล่างนั้นสวยงามสุดบรรรยาย
เราใช้เวลาอยู่ที่บ้าน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ อยู่หลายชั่วโมง กับการชื่นชมสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบ นอกจากเรือนอาจารย์ฝรั่งแล้ว เรือนบริวารอีก 1 หลัง ยังเปิดเป็นร้านกาแฟ AIAO บริการเครื่องดื่มและเบเกอรี่ในราคาสวัสดิการ
ระเบียงภายนอกดูร่มรื่นน่านั่งแล้ว ภายในร้านยังมีมุมสบายท่ามกลางแอร์คอนดิชั่นเย็นฉ่ำ ทำให้รู้ว่าร้านกาแฟเล็กๆในตึกหลังงามนี้เป็นสถานที่หลบมุมของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ของวชิระพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียง และนักศึกษาในละแวกนี้
อยากเดินย้อนเวลามาชมบ้านอาจารย์ฝรั่ง และสัมผัสความงดงามของบ้าน พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ สามรถเข้าชมได้เฉพาะวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ณ สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ถ.ราชวิถี (ใกล้เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งพระนคร) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 2849 7538