“ลดเหลื่อมล้ำ” โจทย์ยั่งยืนของแบรนด์ยุคใหม่

“ลดเหลื่อมล้ำ” โจทย์ยั่งยืนของแบรนด์ยุคใหม่

คนรวยที่สุด1%ครอบครองความมั่งคั่งมากกว่าประชากรทั้งประเทศรวมกัน โจทย์ท้าทายของแบรนด์ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและโลก

ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุดในไทยและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยรายได้เพียงปีเดียวของคนรวยที่สุดในไทย สามารถนำไปใช้ลดความยากจนของคนทั้งประเทศได้เป็นเวลา 1 ปี! คนรวยที่สุด 10% แรก มีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุด 10% สุดท้าย ถึง 35 เท่า! ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นจาก 5 คน เป็น 28 คน มีทรัพย์สินรวมกันสูงถึงกว่า 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ(2558) ขณะที่ประชากรไทย 7 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความยากจน  คนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และ 5 ปีที่ผ่านมาคนรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือทั้งประเทศรวมกันด้วยซ้ำ

นี่คือสถานการณ์จริง ในแผ่นดินสยามประเทศ จาก “รายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย” โดยองค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย โจทย์ท้าทายของภาคธุรกิจที่จะเมินเฉยต่อไปไม่ได้

“ถ้าธุรกิจไม่สนใจ ไม่กังวลถึงความเหลื่อมล้ำที่ฐานกว้างขึ้นเรื่อยๆ ปลายทางคือ สังคมไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้ และถ้าสังคมแตกแยกธุรกิจจะทำธุรกิจต่อไปได้ยังไง ย่อมส่งผลถึงเรื่องการค้า การลงทุน ทัศนคติต่อความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติประเมิน ซึ่งความแตกแยกในสังคมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน”

“สฤณี อาชวานันทกุล” กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด สะท้อนความสำคัญของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่เพียงจะส่งผลกระทบกับประเทศและสังคมเท่านั้น ทว่ายังรวมถึง “ภาคธุรกิจ” ด้วย ไม่ใช่แค่ในแง่ขาดตลาด ขาดคนมีกำลังซื้อ มาสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ แต่ยังขาด “ทุนมนุษย์” ที่มีศักยภาพ มาเพิ่มแต้มต่อให้กิจการด้วย ถ้าคนไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมตั้งแต่ต้น

และนั่นคือความจำเป็นที่ภาคธุรกิจ ต้องกลับมาถกคิดหาวิธีสลัดความเหลื่อมล้ำ ทั้งภายใน และนอกองค์กรให้ได้                 เริ่มจากจัดการกับเรื่องใกล้ๆ ตัว ตั้งแต่การจ่ายค่าตอบแทนลูกจ้างอย่างเท่าเทียมทั้งเพศหญิงและชาย ส่วนต่างเงินเดือนของผู้บริหาร กับค่าจ้างพนักงานระดับล่าง ต้องไม่ห่างกันไกลลิบโลก ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งกับ คู่ค้า ซัพพลายเออร์ เกษตรกร ฯลฯ มีความโปร่งใสในข้อสัญญา ไม่เอารัดเอาเปรียบ และตลอดห่วงโซ่อุปทานของการทำธุรกิจ ต้องไม่ละเมิดสิทธิแรงงาน  ไม่ก่อความเหลื่อมล้ำ

ขณะเดียวกันก็ต้องดูผลกระทบต่อคนภายนอกด้วย โดยต้องไม่ไปแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน ไม่บุกรุกพื้นที่ ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างความเดือดร้อน ให้กับทั้งชุมชนและสังคมด้วย

“จุดเริ่มต้นต้องอยู่ที่ ‘ทัศนคติ’ ที่อยากจัดการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง จากนั้นก็ไปดูผลกระทบ แล้วหาวิธีที่ลดความเหลื่อมล้ำนั้น ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ายิ่งเป็นคนข้างในธุรกิจเอง เช่น ลูกจ้างประจำ ก็ย่อมจัดการได้ง่ายกว่าคนที่อยู่ข้างนอก ก็ให้เริ่มจากตรงนั้น ทำอย่างไรให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในธุรกิจลดลงได้” เธอชี้แนะ

หนึ่งในตัวละครเอกที่จะจัดการกับปัญหาความเหลื่อมล้ำขององค์กร ก็คือ “ซีอีโอ” และผู้บริหารระดับสูงที่คอยกำหนดนโยบายให้กับองค์กร ในมุมของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตีเฮาส์ จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขวัญใจเด็กแนว บอกเราว่า ซีอีโอจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในองค์กรได้ ต้องเริ่มจากเห็นความสำคัญของชีวิตผู้อื่นเป็นจุดตั้งต้น

“ต้องมองว่าคนทุกคนสำคัญเท่ากันหมด จะลูกรปภ.ก็สำคัญเท่าลูกผม อย่างในบริษัท เราคุยกับ รปภ. คุยกับแม่บ้าน เขาอยู่กันอย่างไร ต้องการอะไร เราจะรู้เลยว่าเขาอยู่กันได้ไหม เงินเดือนพอใช้ไหม ซึ่งขอแค่เรามีใจดูคนรอบตัวเรา แล้วรู้สึกว่าความสำคัญของเขาไม่ต่างจากเราเลย ผมว่า เราจะมีความรู้สึกที่อยากเข้าไปดูแลเขา และลดความเหลื่อมล้ำลงได้”

เพราะสำหรับเขา การออกกฎระเบียบอาจยังมีช่องทางให้คนหนีได้ แต่ถ้าเราทำเรื่องพวกนี้ด้วยความรู้สึกที่เชื่อว่า ชีวิตทุกคนสำคัญเท่ากัน และอยากดูแลพนักงานจากใจจริงๆ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในองค์กรก็จะบรรเทาเบาบางลงได้

“จักรชัย โฉมทองดี” ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย แบ่งปันประสบการณ์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของธุรกิจชั้นนำระดับโลก ผ่านโครงการ "Behind the Brands" ของ อ็อกแฟม ที่ร่วมกับ แบรนด์ชั้นนำของโลก อาทิ ยูนิลีเวอร์, เนสท์เล่, มาร์คแอนด์สเปนเซอร์, โคคา-โคล่า และ เป๊ปซี่ เพื่อดูเบื้องหลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวสินค้าเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดิน การดูแลผู้หญิง และนโยบายด้านความเหลื่อมล้ำ

เขายกตัวอย่าง “ยูนิลีเวอร์” แบรนด์ที่ขายสินค้าหลักให้กับกลุ่มผู้หญิง แต่จากรายงานของอ็อกแฟม พบว่า การดูแลเรื่องผู้หญิงกลับยังไม่ค่อยดีนัก โดยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่เยอะมาก ระหว่างแรงงานผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้ ยูนิลีเวอร์ ได้เข้าไปหาวิธีจัดการกับเรื่องนี้  แม้แต่ “โคคา-โคล่า” ก็ได้เห็นปัญหาจากรายงานของ อ็อกแฟม ตั้งแต่โรงงานน้ำตาลที่พวกเขารับซื้ออยู่ ได้ไปขับไล่ที่ชาวบ้าน เพื่อขยายพื้นที่ปลูกอ้อยมาผลิตน้ำตาล เลยเป็นโอกาสให้ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไข เพื่อเลือกใช้คู่ค้าที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่เพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะจุดเล็กหรือซับซ้อนแค่ไหนในห่วงโซ่ธุรกิจของพวกแบรนด์เหล่านี้

“นี่เป็นตัวอย่างของการ แข่งกันวิ่งขึ้นข้างบน แทนที่จะมาแข่งกันเรื่องราคา เรื่องค่าแรง อะไรพวกนั้น ซึ่งในแง่ธุรกิจถ้าภาพลักษณ์ของแบรนด์ไม่ดี ก็เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง แล้วไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการโฆษณา แต่ต้องแก้ที่ธุรกิจหลัก (Core Business) ของเขา” จักรชัยย้ำ

นี่คือภาพสะท้อนความตื่นตัวของเหล่าแบรนด์ระดับโลก ที่ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้วเร่งดำเนินการแก้ไข ในวันที่ผู้บริโภคเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึง “ที่มา” ของสินค้าและบริการ และพลังของผู้บริโภคก็ดูจะทรงอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ

“จากนี้ไปจะเป็นบทบาทของผู้บริโภคที่จะช่วยกันจับตามอง ถ้าธุรกิจไม่ดำเนินการแก้ไข ในฐานะผู้บริโภคก็มีสิทธิ์ที่จะบอยคอตต์ไม่ซื้อสินค้านั้น เป็นการใช้อำนาจทุนนิยม แก้อำนาจทุนนิยม ซึ่งผู้บริโภคควรมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้อำนาจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้”

เพื่อให้ธุรกิจได้มีบทบาทช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ตอบความยั่งยืนของธุรกิจและโลก