ยึด 'คันไซ' โมเดลปรับรูปแบบอีอีซี

ยึด 'คันไซ' โมเดลปรับรูปแบบอีอีซี

ครม.ไฟเขียวใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ "คันไซ" ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นแบบการพัฒนาอีอีซี นายกฯสั่งหน่วยงานไปปรับใช้กับแผนเดิม

รัฐบาลปรับรูปแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจะยึดเอาเขตเศรษฐกิจพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นแบบมาประยุกต์ใช้ จากเดิมก่อนหน้านี้นำรูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี่ยงไฮ้ของจีน

ปัจจุบัน อีอีซีประกาศบังคับใช้แล้ว เพียงแต่รอพระราชบัญญัติบางฉบับประกาศใช้ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการสนับสนุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ ตลอดจนแผนงานทั้งหมด รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้(14 ก.พ.)รับทราบผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาอีอีซี ในประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนที่ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนอยู่ในปัจจุบัน

“การใช้รูปแบบการบริหารและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ในไทย โดยใช้รูปแบบของเขตคันไซประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนญี่ปุ่น ที่รู้จักการพัฒนาในรูปแบบดังกล่าว และรู้จักโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด มีความมั่นใจโครงการมากขึ้น โดยในอีก2เดือนข้างหน้ารองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ก็จะเดินทางไปหารือความร่วมมือและการศึกษาการพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย”นายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ สศช.รายงานให้ ครม.ทราบว่าญี่ปุ่นมีนโยบายการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติมอีก 12 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นคือเขตเศรษฐกิจพิเศษคันไซ ครอบคลุม3เขตสำคัญคือ โอซาก้า เกียวโต และเงียวโกะ โดยมีการก่อตั้งในปี 2557 ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้าของญี่ปุ่น และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยา และพลังงานและใช้เป็นเขตสำหรับการทดลองการปฏิรูปกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจตลอดจนส่งเสริมสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจและใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้สะดวกขึ้น

แบ่งกลไกบริหาร2ระดับ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคันไซ มีการบริหารจัดการใน2ระดับ ได้แก่1.กลไกระดับชาติ ประกอบด้วย สภาเขตพิเศษยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่หาข้อยุติกรณีการเจรจา ของคณะทำงานฯและหน่วยงานที่มีปัญหาด้านต่างๆ และคณะทำงานเขตพิเศษยุทธศาสตร์ ประกอบด้วยนักธุรกิจและนักวิชาการซึ่งเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เจรจากับหน่วยงานของรัฐ

2.กลไกระดับพื้นที่ มีสภาเขตพิเศษ ประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐบาลกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชน ทำงานร่วมกันเพื่อจัดเตรียมแผนพัฒนา แผนงาน โครงการ และการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมาย

นายกฯสั่งปรับใช้โมเดลคันไซ

“นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้แต่ละหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซีนำผลการศึกษาเขตพิเศษฯคันไซไปปรับกับแผนงาน จะได้ไม่ต้องศึกษาเองทั้งหมดเพราะเขตพิเศษฯคันไซ กับอีอีซีมีลักษณะคล้ายกัน โดยประเทศญี่ปุ่นใช้ที่นี่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญรวมทั้งเป็นแหล่งลงทุนใหม่ที่จะลองรับการจัดตั้งเมืองธุรกิจ ที่จะมีบริษัทแม่ของธุรกิจขนาดใหญ่ (Global Business Hub) มาลงทุนและตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย รวมทั้งเตรียมที่จะส่งเสริมการวิจัยโดยมีการสร้างเมืองวิทยาศาสตร์และการวิจัยเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนา”นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่าสศช.มีข้อเสนอว่าประเทศไทยควรจะนำรูปแบบการพัฒนาของเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ ปรับใช้กับอีอีซีใน 4 ด้าน คือ 1.ควรมีกลไกระดับนโยบายที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดด้านกฎหมาย ระเบียบและวิธีขั้นตอนปฏิบัติงานหน่วยงานเพื่อเกิดการบริหารงานที่คล่องตัว เกิดการบูรณาการและประสานงานที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการดำเนินการเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วซึ่งปัจจุบันกลไกของไทยก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาอีอีซี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจะมีการตั้งสำนักงานอีอีซีแล้ว

2.ในการขับเคลื่อนอีอีซี ควรมีกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.) และภาคเอกชน โดยเอกชนควรมีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อเสนอการพัฒนาที่เป็นความต้องการของภาคเอกชนอย่างมีเอกภาพ

แนะอปท.เร่งเตรียมความพร้อม

สำหรับ อปท. ควรเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพในการเข้ามามีบทบาทร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนา ซึ่งในพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ขณะนี้อยู่ในชั้นการตรวจแก้ไขร่างโดยสำนักงานกฤษฎีกานั้นจะกำหนดให้มีเงินกองทุนที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นด้วย

3.ควรสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาในส่วนของภาคเอกชนและสถาบันการศึกษามากขึ้น โดยอาจให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ภาคเอกชนและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุนให้นักวิจัยต่างประเทศเข้ามาทำการวิจัยในประเทศไทย และ 4.ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและอีอีซี เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานและการอยู่อาศัยในระดับสากลเพื่อสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งรองรับการขยายตัวของเมืองเนื่องมากจากการเข้ามาอยู่อาศัยของนักลงทุนและแรงงานไทยและต่างชาติ