'สติ 'หยุดความรุนแรงบนท้องถนน
กรมสุขภาพจิต แนะ ใช้สติ ปรับเปลี่ยนความคิด หยุดความรุนแรงบนท้องถนน
กรมสุขภาพจิต แนะ ใช้สติ ปรับเปลี่ยนความคิด หยุดความรุนแรงบนท้องถนน
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนท้องถนนทุกวันนี้ ว่า พฤติกรรมก้าวร้าวอารมณ์ฉุนเฉียว ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการจัดการอารมณ์ตนเองในภาวะกดดันไม่ได้เวลาเราถูกปลุกเร้าหรือถูกกระตุ้นอารมณ์ด้วยการกระทำของผู้อื่นอารมณ์โกรธจะพุ่งสูงขึ้น หากมีสติ สามารถควบคุมอารมณ์ไม่ให้หลุดได้รวมทั้งรู้ถึงผลเสียที่จะเกิดตามมา อารมณ์ก็จะลดลง จนคลี่คลายเองในที่สุด เมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งบนท้องถนน จึงอย่ายึดติดว่า มันทำเราก่อนยอมไม่ได้ ขอให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าเราจะยอมให้ตัวเองไปเสี่ยงกับเรื่องแบบนี้ทำไม
เบื้องต้น ให้รู้สัญญาณเตือนอารมณ์โกรธของตนเองให้ได้ก่อน เช่นเกิดความคิดเกรี้ยวกราด เจ้าคิดเจ้าแค้น เกร็งกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะหรือหัวใจเต้นเร็วขึ้น หากพบว่า เริ่มโกรธหรือโมโหให้ใช้เวลาสงบสติอารมณ์อาจขับรถไปจอดข้างทาง ขับออกจากทางหลักหรือเบนออกไปบนไหล่ทางซึ่งต้องมั่นใจว่าปลอดภัย หรือหาที่จอดพักรถ ใช้เวลารวบรวมสติและสงบใจก่อนกลับไปบนถนน โดยทำสมาธิ หรือสูดลมหายใจลึกๆแล้วหายใจออกช้าๆ หรือใช้วิธีการนับเลข หรือวิธีการอื่นๆที่สามารถเรียกสติกลับคืนมาได้ ตลอดจน หยุดหรือปรับเปลี่ยนความคิดที่จะเอาคืน หลีกเลี่ยงการแสดงท่าทางที่ยั่วโมโห เก็บอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ระหว่างที่คนอื่นกำลังโมโห หยุดการโต้ตอบ ถอยออกจากคนที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้แล้ว แต่หากรู้สึกไม่ปลอดภัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้ หากฝึกบ่อยๆอารมณ์โกรธจะสั้นลง เราจะควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง