ชี้เด็กไทยถูกผูกขาดทางการศึกษา เน้นการท่องจำ
นักวิชาการชี้ เด็กไทยเน้นเรียนแบบท่องจำ ขาดการคิดวิเคราะห์ นักเรียนถูกผูดขาดทางการศึกษา เผยผู้มีอำนาจไม่เปิดกว้างทางการศึกษา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการจิจัย (สกว.) จัดงานเสวนา “Knowledge Farm Talk#2 : 7 แพร่ง ทางออกการศึกษาไทย” โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย และกลุ่มนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมเพื่อถกประเด็นปัญหาการศึกษาไทยและเพื่อสร้างแนวทางการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
นายจำรัส ช่วงชิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกุดเสถียร จังหวัดยโสธร กล่าวว่า ความน่ากลัวที่แท้จริงทางการศึกษาคือ ผู้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาขาดเสรีภาพในการดำเนินงาน ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยอยู่ในรูปแบบของการสั่งการเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีการปฏิรูปการศึกษาแต่ในทางปฏิบัติ ตนพบว่าเป็นการกระจายอำนาจเพียงตัวอักษรเท่านั้น ทำให้บริบททางการศึกษาของเด็กแต่ละพื้นที่เหมือนกันไปหมด มันจึงเกิดคำที่ว่า “สิ่งที่เรียนไม่ได้ใช้ สิ่งที่ใช้ไม่ได้เรียน” ดังนั้นควรจัดการศึกษาบูรณาการพัฒนาทักษะชีวิตให้เหมาะกับบริบทของเด็ก เช่น นักเรียนโรงเรียนกุดเสถียรควรจะได้เรียนรู้วิถีอาชีพของชุมชน แต่ที่ผ่านมานักเรียนถูกกำหนดให้เรียนตามแบบแผนของกระทรวงศึกษาธิการส่งผลให้นักเรียนมักโดนจำกัดความรู้เพียงเพราะครูผู้สอนไม่มีวุฒิการศึกษา
“หากเปรียบเทียบการศึกษาไทยในระดับนโยบายคงเปรียบได้กับหมอ เพราะยาขนานเดียวของหมอรักษาได้ทุกโรค ซึ่งที่จริงแล้วมันไม่ใช่” อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกุดเสถียร กล่าวทิ้งท้าย
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผู้มีอำนาจบางรายไม่มีความเชื่อว่าการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงได้ หากผู้มีอำนาจมีเจตคติที่ดีทางการศึกษา คิดว่าการศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ ทิศทางการพัฒนาการศึกษาจะมีรูปแบบที่เปิดกว้างทางความคิด ส่วนเรื่องความเท่าเทียมกันทางการศึกษา พบว่าในพื้นที่ห่างไกลที่ผ่านมาภาครัฐมักเน้นความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ขาดความเป็นธรรมทางการศึกษา คือ นักเรียนและครูที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาสควรได้รับการชดเชยเพื่อสร้างขวัญกำลังใจทางการศึกษา
นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ตนพบว่าการศึกษาไทยยังขาดตัวเลือกในในรายวิชาการเรียนการสอน ไม่ตอบโจทย์ความสนใจของผู้เรียน และเด็กยังไม่มีอำนาจในการกำหนดตัวของตัวเอง ไม่สามารถเลือกวิชาเรียนหรือตัวผู้สอนด้วยตนเองได้ ดังนั้นโรงเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมทางการศึกษาแก่โรงเรียนนั้นๆ อย่างจริงจัง
“ตนมักได้ยินเสมอว่าโรงเรียนคือการจำลองชีวิตจริง มันเลยดูยังไม่จริง ผู้สอนจึงมักจะตีกรอบความคิดของเด็ก แต่ในความเป็นจริงชีวิตของเด็กมันจริงตั้งแต่เกิด ดังนั้นนักเรียนจึงขาดโอกาสแสดงความคิดเห็นในกิจกรรมทางการศึกษา” นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ หัวหน้าโครงการจัดการความรู้และสื่อสาร เผยถึงผลกระทบจากการศึกษาไทยว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. พบว่านักศึกษาบางคนตอบตัวเองไม่ได้ว่าตนชอบอะไร อยากทำงานอะไรในอนาคต ได้คำตอบเพียงว่า “เพราะหนูเรียนมา 7 วัน” มันจึงสะท้อนว่าช่วงที่เรียนมัธยมปลายเด็กเรียนมากเกินไป เรียนในรูปแบบท่องจำ เรียนโดยไม่เกิดการตั้งคำถาม จึงทำให้ผู้เรียนขาดการคิดวิเคราะห์ร่วมถึงทักษะชีวิต ดังนั้นตัวผู้สอนควรเปิดกว้างทางความคิดให้แก่เด็กโดยเน้นสอนให้ผู้เรียนเข้าใจไม่เน้นเทคนิคมากเกิน และมีการแลกเปลี่ยนความคิดอยู่ระหว่างกันเสมอ