165 นักโทษคดียาเสพติดเข้าเกณฑ์ปล่อยตามกม.ใหม่
ราชทัณฑ์เผยผลสำรวจ 165 นักโทษคดียาเสพติดเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิพิจารณาโทษใหม่ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดมาตรา 9 ขณะที่คุ้มครองสิทธิเผยนำร่องปล่อยแล้ว 1
นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า หลังจากพ.ร.บยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยมีการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 9 (65) วรรค 1 ที่ระบุว่า สำหรับนักโทษคดียาเสพติด กรณีศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้จะมีผลบังคับใช้และคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ เมื่อความปรากฏแก่ศาลหรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการสามารถร้องขอให้ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้นมีอำนาจกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายใหม่ และหากผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว และศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะรอการลงโทษที่เหลืออยู่ หรือจะปล่อยผู้กระทำความผิดนั้น กรมราชทัณฑ์ได้สำรวจนักโทษคดียาเสพติดที่เข้าข่ายตามมาตราดังกล่าวจากเรือนจำทั่วประเทศพบว่ามีนักโทษที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 9 จำนวน 165 คน และกลุ่มนักโทษดังกล่าวต้องโทษจำคุกไม่มาก ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาผลิตและจำหน่าย ซึ่งไม่ได้ตั้งโรงงาน แต่จะเป็นพวกขายเป็นขา หรือแบ่งซองจำหน่าย โดยขณะนี้ได้ส่งรายชื่อให้กับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไปแล้ว
ขณะที่น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า หลังจากกรมราชทัณฑ์ส่งรายชื่อมาให้ ศาลได้พิจารณาสั่งปล่อยผู้ต้องขังรายแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา คือ น.ส สุพัตรา รื่นเริง ผู้ต้องหาคดียาเสพติดซึ่งมียาเสพติดจำนวน 1 เม็ดครึ่งไว้ในครอบครอง และถูกศาลตัดสินจำคุก 25 ปี แต่จำเลยรับสารภาพและติดคุกมา 10 ปีแล้ว ดังนั้นเมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ศาลจึงมีคำสั่งปล่อยตัวทันที
"ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหม่ตามมาตรา 65 มี 3 บุคคลที่เกี่ยวข้อง คือ ศาล ซึ่งสามารถเรียกจำเลยมาดำเนินการได้เลย นอกจากนี้ก็มีอัยการและผู้ต้องขัง ที่สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องกับศาลได้โดยตรง เพื่อให้อัยการกลั่นกรองก่อนที่จะไปยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้งหนึ่ง"อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกล่าว
น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายชื่อทั้งหมดที่กรมราชทัณฑ์ส่งมาให้ตามขั้นตอน จากนี้ผู้ต้องหาคดียาเสพติดที่เข้าเกณฑ์ที่ได้รับสิทธิตนจะให้พนักงานคุ้มครองสิทธิเข้าไปพบนักโทษในเรือนจำ เพื่อให้คำแนะนำเรื่องการเขียนคำร้องและให้อัยการจังหวัดที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่ก่อนส่งให้ศาลพิจารณาเพิ่อกำหนดโทษใหม่ต่อไป