“ประชารัฐ” โมเดลกลับหัวเรือ เคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
การพัฒนาศก.ที่รวดเร็วเกิดแรงเหวี่ยงกระทบคนชนบท 30 ล้านคน “ประชารัฐ” คือโมเดลกลับหัวเรือเคลื่อนศก.ฐานราก ลดเหลื่อมล้ำ
ต้องยอมรับว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาถูกผลักดันโดยธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เมื่อหันกลับมาดูคนอีกภาคส่วน โดยเฉพาะคนชนบทอีกกว่า 30 ล้านคน ส่วนหนึ่งยังยืนไม่ได้ด้วยขาตัวเอง
จุดบอดที่พบคือ ยิ่งประเทศเติบโตไปไกลเท่าไร คนชนบทยิ่งอ่อนแอ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “ประชารัฐ” ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ รัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม จะต้องหันหลังกลับมาสร้างโอกาสให้คนเหล่านี้ โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
ในงานเสวนา Community-Based Economic Development in Thailand and how to develop and promote Micro-enterprises “ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาใหญที่ทั่วโลกเผชิญในขณะนี้ยังคงเป็น “ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน” ที่ห่างมากขึ้นแม้แต่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ เช่นเดียวกับในประเทศไทย
ยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจมี มากขึ้นปัญหาช่องว่างด้านรายได้ยิ่งมีมากขึ้น !
โดยเขาระบุว่า ความไม่เท่าเทียมกันของไทย เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 60 ปี หลังทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย มุ่งผลิตเพื่อส่งออกมากเกินไป (ปัจจุบันการส่งออกของไทยคิดเป็น 70% ต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี
ยิ่งตัวเลขส่งออกมากขึ้นเท่าไหร่ประเทศชาติยิ่งอ่อนแอ “กอบศักดิ์” เชื่อเช่นนั้น เพราะรายได้ที่แท้จริงกลับตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม ทำให้คนต่างจังหวัดที่มีกว่า 30 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีรายได้น้อย จำนวนหนึ่งมีฐานะยากจน ยิ่งไปกว่านั้นในชนบทมีเพียง เด็กและคนแก่ที่ถูกทิ้งไว้ ขณะที่คนหนุ่มสาวออกไปทำงานในเมืองหลวง หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่หลายคนมองเป็นอีกหนึ่งความหวังในการผลักดันเศรษฐกกิจ ที่ผ่านมากลับพบการ “กระจุกตัว” ของนักท่องเที่ยวอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ คือ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และอำเภอหัวหิน รวมถึงเชียงใหม่ เท่านั้น
ช่องว่างของคนรวยและคนจนห่างกันมากขึ้น โดยสัดส่วนคนรวย 20% มีรายได้สูงสัดส่วน 54% ของรายได้ทั้งประเทศ ขณะที่สัดส่วนคนจน 20% มีรายได้รวมกันสัดส่วนเพียง 4 % ของรายได้รวมทั้งประเทศ สัดส่วนแตกต่างกันถึง 20 เท่า เมื่อพิจารณาไปถึงการเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ดินพบว่า สัดส่วนคนรวย 20% เป็นเจ้าของที่ดินถึง 80% ขณะที่คนจน 20% ที่เป็นฐานรากถือครองที่ดินเพียง 0.25% หรือแตกต่างกันถึง 320 เท่า
แย่ไปกว่านั้นเพราะกลุ่มคนในชนบทมักเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนต้องกู้เงินนอกระบบ ที่ดอกเบี้ยสูงถึง 10-20% ต่อเดือนนั่นหมายถึงรวม 12 เดือนหากเงินต้น 1 ล้านบาทจะมีกำไรสูงถึง 4 ล้านบาทหรือ 300% สาเหตุหลักที่คนจนลืมตาอ้าปากไม่ได้หากต้องก้มหน้าชดใช้ดอกเบี้ยทบต้นไปเรื่อย
สถานการณ์มีแนวโน้มแย่ลงไม่ใช่แม้ในไทยแต่ในทุกประเทศทั่วโลก
คำตอบที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมคือ “แนวทางพัฒนาธนาคารชุมชน” ที่มีการบริหารจัดการและระดมทุนกันเอง บางหมู่บ้านที่ทำสำเร็จ จะเสียดอกเบี้ยเพียง1%ต่อเดือน หรือ 12-13%ต่อปี
ดร.กอบศักดิ์ มองว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงประเทศ กลับหัวเรือใหม่เน้นไปที่การกระจายรายได้ไปยังต่างจังหวัด โดยให้อำนาจการบริหารจัดการงบประมาณกับทางกลุ่มจัดหวัดเพื่อยกระดับรายได้ โครงการรวมถึงวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องพึ่งพากลุ่มภาคธุรกิจ ตามนโยบายประชารัฐ (Public Private Partnership) ที่มีองค์ความรู้ในแบบธุรกิจ เข้าใจการตลาด และความต้องการของลูกค้า โดยปล่อยให้เข้าไปทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ตลอดจนสถาบัรการศึกษา ค้นหาจุดแข็งของจังหวัด เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าไปสู่การการท่องเที่ยว โดยภาครัฐมีหน้าที่ส่งเสริมด้านกฎหมายและสิทธิพิเศษ
“กลุ่มภาคธุรกิจเข้าใจตลาด ชุมชนเข้าใจท้องถิ่นตัวเอง จึงให้ทำงานคู่ขนาน เพื่อเข้าไปเติมองค์ความรู้ด้านภาคธุรกิจในการบริหารจัดการท้องถิ่น เช่น การหาช่องทางการจัดจำหน่าย สร้างแบรนด์สินค้า เพิ่มมูลค่าการค้า ออกแบบสินค้าและประชาสัมพันธ์สินค้า”
ในอนาคตยังต้องผลักดันธุรกิจไปสู่การกระจายรายได้ในตลาดโลกโดยใช้ระบบอีคอมเมิร์ซ เพราะเห็นต้นแบบแรงบันดาลใจจาก “แจ็ค หม่า” ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จรวยที่สุดในประเทศจีน เจ้าของ”Alibaba” (อาลีบาบา) ที่สามารถสร้างรายได้จากเทคโนโลยีมาพัฒนาเป็นตลาดการค้าออนไลน์ จึงเชิญอาลีบาบามาร่วมมือกันพัฒนาผู้ประกอบการไทยในกลุ่มชุมมชนต่างจังหวัดให้เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาตลาดเชื่อมโยงจากชุมขนสู่ตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชนขับเคลื่อนโครงการ“สานพลังประชารัฐ” คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ กล่าวถึงเป้าหมายการร่วมมือกับ 5 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐ เอกชนหรือธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาหลักของชาติ คือความไม่เท่าเทียม ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน คนฐานรากกว่า 30 ล้านคนในประเทศจึงควรได้รับโอกาสในการสร้างรายได้ การขับเคลื่อนจากบริษัทประชารัฐรักสามัคคี
โดยแนวทางการขับเคลื่อนประเทศในเศรษฐกิจระดับชุมชนเพื่อเสริมขีดความสามารถเข้มของของประเทศนั้น เป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ “2020” ซึ่งกลุ่มธุรกิจไทยเบฟต้องการเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน ด้วยการพัฒนาทั้งกลุ่มธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(Sufficiency Economy Philosophy) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีแนวทางเดียวกันกับปฏิญญา 17 ประการที่องค์การสหประชาชาติ(UN-United Nations ) ได้วางเป้าหมายการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal)
“หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี2542 กลุ่มธุรกิจไทยเบฟซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจระดับอาเซียนเข้าใจดีกว่าไม่สามารถอยู่รอดได้หากไม่เดินตามแผนการพัฒนายั่งยืน เสริมสร้างความแข็งแกร่งและภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้และความดีงาม”
นอกเหนือจากจะแข็งแกร่งทางธุรกิจด้วยการกำกับดูแลการเงินแล้ว ยังเดินไปลงทุนทั้งสองทางคือเติบโตแบบคงที่และการควบคุมกิจการ(Mergers and Acquisitions) ในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม
การเข้าไปร่วมในคณะทำงานประชารัฐ เพื่อเป้าหมายของการสร้างการมีส่วนร่วมกับ 5 องค์กร เพื่อร่วมมือกัน 3 ด้านคือ สร้างความเท่าเทียมในสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตคน และสร้างขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ สอดคล้องกับการเติบโตตามวิสัยทัศน์2020 กลุ่มธุรกิจจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนายั่งยืนในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม ด้วยหัวใจ 5 ด้านคือ การเติบโตประสิทธภาพ ความหลากหลาย การสร้างแบรนด์ การขายและการกระจายสินค้า รวมถึงมีความเป็นมืออาชีพ
สิ่งที่ทำให้ไทยเบฟต้องเข้าถึงคนทุกกลุ่ม
“เราต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มชุมชนซึ่งปัจจุบันได้เข้าไปพัฒนา 1,200 กลุ่มทั่วประเทศ เป้าหมายต้องการให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีองค์ความรู้ในเชิงบริหารจัดการอย่างธุรกิจ”
ทางกลุ่มบริษัทประชารัฐฯ ได้เข้าไปช่วยบริหารจัดการวัตุดิบล้นตลาด แปรรูป หาช่องทางการจำหน่าย โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และในท้องถิ่นเช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รวมถึงโรงแรมท้องถิ่น ตลอดจนกิจกรรมที่สร้างแบรนด์และโปรโมทสินค้าในกลุ่มจังหวัด เช่นภูเก็ต ล็อบเตอร์ และสับปะรด ภูเก็ต ที่ส่งผลทำให้สินค้าตรงกับความต้องการตลาด
หลังจากที่เข้าไปจัดตั้งประชารัฐรักสามัคคีทั้ง 76 กลุ่มจังหวัด ภายในกลางปีนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์การประเมิน เพื่อกำหนดตัวชี้วัด (KPI) 2 ด้านคือ ในเชิงปริมาณ คือการมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น จำนวนการผลิตสินค้า และจำนวนเป้าหมายจำนวนชุมชนที่เข้าไปพัฒนา
ส่วนในเชิงคุณภาพคือ การพัฒนาองค์ความรู้ในชุมชน เช่น การจัดทำบัญชี การรรตลาด ด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กรัณย์ สุทธารมณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีเพชรบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เล่าถึงความร่วมมือกับบริษัท และชุมชนเข้าไปปรับภูมิทัศน์ ส่งเสริมถังปูม้าที่เพิ่มจาก 15 ถังเป็น 40 ถัง ทำให้ปริมาณมากขึ้น บวกกับแรงประชาสัมพันธ์ของทางกลุ่ม ทำให้นักท่องเที่ยวและปริมาณสินค้าท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มและกระจายรายได้ให้จำหน่ายได้เพิ่มขึ้นจาก 10 ก.ก.เป็น 50 ก.ก.ในช่วงสุดสัปดาห์
ยังมีสินค้าของดีของเด่นในจังหวัดอีกมากมายในจังหวัดเพชรบุรีที่รอการปรับปรุงเติมแต่งภาพลักษณ์ สร้างแบรนด์สร้างอัตลักษณ์ให้พร้อมออกสู่สายตานักท่องเที่ยวที่มาเยือนในจังหวัด อาทิ ตาลโตนด อาจจะยกระดับไปสู่การเป็นเครื่องสำอางค์มาส์กหน้า