กสทช.ชี้ 'หัวเว่ย' หากยื่นสเปคไม่ตรงจัดว่าเถื่อน
กสทช. ชี้ หัวเว่ย หากสเปคเครื่องไม่ตรงที่ขอใบอนุญาต ถือเป็นเครื่องเถื่อน
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยปกติการขอนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคม จะต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งสำนักงานกสทช.จะต้องมีการรับรองมีการแสดงเครื่องหมาย (Label) เป็นการกำหนดหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคมให้กับเครื่องวิทยุคมนาคม ที่ได้รับอนุญาตทำ หรือนำเข้ามาในประเทศ และผ่านการตรวจสอบลักษณะทางวิชาการจากสำนักงาน กสทช. แล้ว
นอกจากนี้ ต้องระบุข้อมูลบนเครื่องหมาย คือ หมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม (Registration number) ซึ่งไม่ใช่หมายเลขของการทดสอบรับรองตัวอย่าง (Type approval number) ผู้ได้รับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ผ่านการทดสอบรับรองตัวอย่างแล้ว จะต้องส่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับอนุญาตทำ หรือนำเข้า ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบลักษณะทางวิชาการ และกำหนดหมายเลขทะเบียนวิทยุคมนาคม
โดยในกรณีหัวเว่ยดังกล่าวนี้ ต้องกลับไปดูเอกสารว่ามีการขอนำเข้าอุปกรณ์ที่ระบุมาในใบอนุญาตนำเข้าว่าตรงกับที่ขออนุญาตหรือไม่ หากไม่ตรงตามเอกสาร อุปกรณ์โทรคมนาคมเหล่านั้นจะถือเป็นเครื่องเถื่อน
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในสายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหัวเว่ยเกี่ยวกับหน่วยความจำของหัวเว่ยรุ่นเมท 9 และพี 10 ว่าสเปคไม่ตรงกับที่วางจำหน่ายว่า
โดยอำนาจของกสทช.มีหน้านี้ตรวจสอบเฉพาะคลื่นความถี่ที่ตัวเครื่องส่งสัญญาณ ซึ่งจะมีการเช็คกับแล็บในต่างประเทศว่า การส่งสัญญาณของเครื่องตรงตามที่ระบุในใบขออนุญาตหรือไม่ การตรวจสอบก็เพื่อไม่ให้คลื่นความถี่รบกวนกัน โดยในกรณีดังกล่าวผู้บริโภคไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถือเป็นสิทธิของผู้บริโภค โดยแนวทางของสคบ.ก็จะเชิญตัวแทนของสำนักงานกสทช.ไปให้ข้อมูล
ทั้งนี้ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ มีแบตเตอรี่ฝังมากับตัวเครื่องไม่ได้แยกชิ้นเหมือนแต่ก่อน กสทช.จึงอยากขอส่งหนังสือไปยังสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อได้รับสิทธิในการตรวจสอบเครื่องทั้งหมด ไม่ต้องแยกชิ้นส่วนเหมือนที่ผ่านมา