‘อีเวนท์ บานาน่า’ ครบเครื่องเรื่องจัดงาน
คนอาจใช้กูเกิลค้นหาสรรพสิ่ง ขณะที่ “อีเวนท์ บานาน่า” (Event Banana) ก็อยากเป็นได้เหมือนกูเกิล แต่โฟกัสสำหรับผู้ที่ต้องการ “ค้นหาสถานที่จัดงาน” ไม่ว่าจะเป็นงานสัมมนา ปาร์ตี้ เทรนนิ่ง ฯลฯ
นี่คือเป้าหมายของ “พิสิฐ เยาวพงศ์ศิริ” (เอ็ดดี้) และ “ณัฐนิช ทองไกรแสน” (แนน) ผู้ร่วมก่อตั้ง อีเวนท์ บานาน่า สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้นมีอายุยังไม่ถึงขวบปี ทว่าประสบการณ์ของพวกเขากลับไม่เบบี๋ พิสิฐเป็นเจ้าของบริษัทซอฟท์แวร์ดำเนินธุรกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วน ณัฐนิช ก็เคยทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก เรียกว่าได้เรียนรู้หลายต่อหลายธุรกิจมาแล้วทั่วโลก
แต่เมื่อพวกเขาตกลงใจกันว่าจะเป็น “หุ้นส่วนชีวิต” เพื่อดูแลซึ่งกันและกัน โดยปริยายเลยนำไปสู่ความต้องการที่จะเป็น “หุ้นส่วนธุรกิจ” กันด้วย
"พี่เอ็ดดี้มีแบ็คกราวน์ด้านเทค ตัวแนนมีแบ็คกราวน์บิสิเนส เลยคุยกันว่าทำเทคสตาร์ทอัพกันดีกว่า และก็ได้ศึกษาในหลายๆแอเรียว่าอะไรน่าจะเหมาะ ซึ่งเราพยายามเลือกแอเรียที่ตลาดไทยยังไม่มี และมีเพนพ้อยท์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แต่ธุรกิจที่แข่งขันกันเยอะทั้งต้องแข่งกับแบรนด์ใหญ่ๆ เช่นโลจิสติกส์ ดิลิเวอรี่ หรืออีคอมเมิร์ซ เราไม่กล้าทำ" ณัฐนิช กล่าว
ที่สุดก็มาลงตัวที่อีเวนท์ บานาน่า แพลตฟอร์มสำหรับหาสถานที่ ประชุม สัมมนา จัดอีเวนท์ต่างๆ สำหรับลูกค้าที่เป็นคอปอเรท ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี เพราะที่ผ่านมาต่างได้พบเจอกับปัญหาคือ ต้องใช้เวลาไปเยอะแต่ได้ผลลัพธ์กลับมาน้อย
"ที่จริงเราก็เคยเจอเหตุการณ์นี้ ตอนที่ต้องหาสถานที่จัดงานแต่งงานของพวกเราเอง ซึ่งพบว่ามันยาก เราใช้กูเกิลค้นหาสถานที่แต่ก็หาได้ทีละแห่ง และต้องมานั่งสรุปข้อมูลเอง สร้างเป็นเอ็กเซลว่าสถานที่แรกเราได้ใบเสนอราคามาเท่าไหร่ และสถานที่ที่สอง ที่สามเป็นอย่างไร ต่อให้ใช้เวลาเยอะแต่เรากลับยังไม่ได้ข้อมูลที่เยอะพอ"
คำถามคือ ทุกวันนี้มีเว็บไซต์จองห้องพัก หรือจองตั๋วเครื่องบิน แต่ทำไมไม่มีเครื่องมือหรือเว็บที่มาช่วยค้นหาสถานที่จัดงานเพื่อสามารถดูรูปสถานที่ในเบื้องต้น และเปรียบเทียบราคาได้
ณัฐนิช เล่าต่อว่า เพื่อหาว่ามีปัญหานี้อยู่จริงไม่ได้เป็นการคิดไปเอง เลยได้ทำแบบสอบถามคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดงานต่างๆ และพบคำตอบว่าทุกคนต่างประสบปัญหาและทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธิค้นหาแบบเดิมหรือใช้สถานที่ที่มีฝ่ายขายของแต่ละโรงแรม หรือสถานที่ที่ได้เคยมาติดต่อไว้ โดยไม่รู้ว่ามีทางเลือกที่มากกว่า มีความเหมาะสมกว่าอีกมากมาย
พวกเขายังสอบถามไปทางฟากของซัพพลายหรือเจ้าของสถานที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็พบเจอกับปัญหาเช่นกัน นั่นคือ อัตราการใช้งานห้องประชุม สัมมนา ห้องจัดเลี้ยงในประเทศไทยมีเพียงแค่ 15% เท่านั้น แปลว่ามีห้องที่อยู่ว่างๆไม่ใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับมาร์เก็ตเพลสอื่นๆ ที่ต้องเริ่มบิวด์จากทางฝั่งของซัพพลาย โดยการไปชักชวนให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มของอีเวนท์ บานาน่า แต่เพราะความใหม่พวกเขายอมรับว่าท้าทาย
" ช่วงแรกเราใช้วิธีเพิ่มข้อมูลเบื้องต้นเองก่อน เรามีคนทำรีเสิร์ซและใส่ข้อมูลของสถานที่ที่คิดว่าน่าสนใจ และจะมีเออีไปคุยกับฝั่งสถานที่ว่าเรามีบริการแบบนี้ เวลามียูสเซอร์เข้ามาค้นหาและสนใจเราจะมีขั้นตอนการทำงานกับเขาอย่างไร และเราก็ใช้โมเดลที่ให้เจ้าของสถานที่มาสร้างโพรไฟล์ในเว็บไซต์ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ว่าตั้งอยู่ตรงไหน ห้องขนาดเท่าไหร่ จุคนได้เท่าไหร่ จัดงานอะไรได้บ้าง แต่ถ้าเขาสนใจอยากจะโปรโมทตัวเองเพิ่มขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายที่เรียกว่าพรีเมี่ยมเมมเบอร์ชิฟฟี"
อย่างไรก็ดี พวกเขาบอกว่า แรกเริ่มเดิมทีก็ไม่ได้ฟิกตายตัวว่าโมเดลธุรกิจต้องเป็นอย่างไร แต่พยายามหาวิธีตอบโจทย์เสียก่อน จากนั้นก็เริ่มทำแพลตฟอร์มขึ้นมาและเริ่่มมองถึงเรื่องของรายได้ซึ่งทีแรกมองว่าเป็นค่าคอมมิชชั่นจากฝั่งซัพพลายแต่สุดท้ายมันก็ไม่เวิร์ค
"โมเดลของต่างประเทศถ้าเป็นแพลตฟอร์มแบบเราส่วนใหญ่จะเป็นค่าคอมมิชชั่น แต่พอทดลองทำก็พบว่ามันเป็นไปได้ยากมาก เพราะคนไทยไม่จองสถานที่ออนไลน์ บางทีเขาดูจากเว็บเราแต่ก็ไปติดต่อกับทางโรงแรมตรงด้วย และทางโรงแรมก็บอกว่าแล้วจะนับอย่างไร เราเลยทดลองออฟชั่นที่สองก็คือแอดเวอไทซิ่งเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว และพบว่ามันง่ายกว่ามาก ตอนนี้ใครๆก็อยากโฆษณาทางสื่อออนไลน์เพราะมันเป็นเทรนด์"
ปัจจุบันอีเวนท์ บานาน่ามีสถานที่จัดงานให้ลูกค้าได้เลือกมากถึง 500 แห่ง ลูกค้าที่เข้ามาในเว็บสามารถพิมพ์บนเสิร์ซบาร์ได้ว่า ต้องการสถานที่แบบใด อยู่ในทำเลไหน ประเภทของงานเป็นอย่างไร ฝึกอบรม สังสรรค์ เวิร์คชอบ งานปาร์ตี้ หรือคอนเสิร์ต ฯลฯ และอยู่ภายในงบประมาณเท่าไหร่
"เราต้องการให้แพลตฟอร์มมีความหลากหลาย โดยเฉพาะมีสถานที่ที่โดยปกติแล้วคนมักไม่ได้พบเจอในชีวิตประจำวัน คือไม่รู้ว่ามีสถานที่นี้ด้วย ที่นี่ก็จัดงานได้นะ มันจะช่วยให้คนได้เจอที่ที่ตรงใจมากกว่าและตรงบัดเจ็ทได้มากกว่า"
เป็นธรรมดาที่คนทั่วไปเวลาจัดงานก็มักลงเอยกับสถานที่ที่คุ้นเคย โดยไม่รู้ว่าที่จริงมีออฟชั่นอื่น ซึ่งบางทีมันได้ประโยชน์ในเรื่อง 1. ค่าใช้จ่ายที่อาจถูกกว่า และ 2. ได้บรรยากาศใหม่ๆไม่ต้องไปที่เดิมจนรู้สึกเบื่อหน่ายจำเจ
อีเวนท์ บานาน่ายังช่วยตอบโจทย์คนทำงานรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานทุกอย่าง หรือค้นหาทุกอย่างได้ง่ายบนหน้าคอมพิวเตอร์ เรียกว่ายังไม่ต้องยกหูโทรศัพท์คุยก็ได้ใบเสนอราคา ได้ข้อมูลสถานที่ไปเสนอหัวหน้าหรือเจ้านายแล้ว
"สำหรับโรดแมพในระยะยาวของเรา ที่ใช้ชื่อว่าอีเวนท์ บานาน่าก็เพราะอยากให้เรื่องการจัดงานเป็นเรื่่องกล้วยๆ ง่ายๆ หมายถึงการเป็นวันสต็อบเซอร์วิส โดยเริ่มจากสถานที่ก่อน จากนั้นจะมีเรื่องอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นแคทเทอริ่ง เดคคอเรชั่น เอ็มซี วงดนตรี หรือเซอร์วิสอื่นๆ สุดท้ายแล้วคนมาเว็บเราก็ช้อบปิ้งได้ที่เดียว ครบ จบ ไม่ต้องออกไปช้อบที่อื่นอีก"
เมื่อถามถึงแผนขยายตลาดพิสิฐมองว่าไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ดังนั้นสเต็ปแรกของอีเวนท์ บานาน่าจะโฟกัสตลาดไทยก่อน ส่วนสเต็ปสอง จะเป็นธุรกิจอินเตอร์ที่เข้ามาจัดงานในเมืองไทยถือเป็นการดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ ในเวลาเดียวกันก็ยังสามารถใช้ซัพพลายที่มีอยู่เดิมได้ด้วย
"ในวันหนึ่งเราก็อยากให้ อีเวนท์ บานาน่าเป็นกูเกิลสำหรับค้นหาสถานที่จัดงาน เวลานี้เรามียูสเซอร์เข้ามาค้นหาตลอด เรามีโปรไฟล์ รู้ว่าเขาจะจัดงานอะไร จัดที่ไหน งบประมาณเท่าไหร่ ถือว่าเราเป็นชาแนลที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเราอาจไม่บิ๊กวินในวันนี้ แต่เชื่อว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อเราเป็นที่หนึ่งได้ในแอเรียนี้แล้วก็ยากที่ใครจะเข้ามา"
ซินเนอยี่เร่งโต
เมื่อกำลังอยู่ในสเต็ปของการเติบโต ความเป็นสตาร์ทอัพย่อมหนีไม่พ้นโหมดของการระดมทุน ซึ่งพวกเขาบอกว่ามันอยู่ในแผนของปีนี้
"ก่อนหน้านี้เราพยายามบิวด์โปรดักส์ ทำความรู้จักลูกค้าแต่ปีนี้เราคิดว่าโมเดลธุรกิจที่ทำและอะไรหลายๆอย่างค่อนข้างลงตัวแล้ว ดังนั้นเราจะเริ่มไปคุยกับวีซีและพยายามไปพิชชิ่งให้มากขึ้น"
และสนามแรกของพวกเขาก็คือ โครงการ “สปาร์ค” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อถามว่าสนใจวีซีประเภทใด พวกเขาบอกว่าไม่เกี่ยงว่าจะเป็นสัญชาติไทยหรือต่างประเทศ แต่จะพิจารณาว่า ถ้าเป็นวีซีไทย ก็ต้องช่วยในเรื่องของคอนเน็คชั่นกับกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย แต่ถ้าเป็นวีซีต่างประเทศ ก็ต้องมีความช่วยเหลือให้สามารถขยายไปยังตลาดทั่วโลกได้ในอนาคต
"ก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกันไป แต่ที่สุดต้องมีซินเนอยี่มาให้เรา เวลานี้เรายังไม่ได้ตัดสินใจว่าอยากได้วีซีแบบไหนเป็นพิเศษ แต่เราจำเป็นต้องอาศัยวีซีเพื่อสามารถโตได้อย่างรวดเร็วอย่างที่อยากจะให้เป็น แต่ก็ไม่รีบเพราะอยากได้วีซีที่เหมาะสม คือไม่ใช่มาปุ๊บแล้วเขากลายเป็นเจ้าของบริษัท"