ธุรกิจโรงพยาบาล ขุมทรัพย์ใหม่ “บิ๊กทุนไทย”
เมื่อเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว “กลุ่มทุนใหญ่” จำต้องแตกไลน์ สู่กิจการที่สร้างเงินสม่ำเสมอ หนึ่งใน “ดาวเด่น” ยกให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ความเสี่ยงต่ำ-รายได้โตสองหลัก
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ทำให้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากกำลังซื้อของผู้บริโภค
ทว่าสำหรับธุรกิจ “โรงพยาบาลเอกชน” ยังคงเป็น “ธุรกิจดาวรุ่ง” ที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้จากค่ารักษาพยาบาลใน “ระดับเลขสองหลัก”
สะท้อนผ่านตัวเลขของผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลจดทะเบียนไทยในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) ที่ในช่วงปี 2558-2559 “กำไรสุทธิเติบโต” อาทิ บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท และ 155 ล้านบาท บมจ.เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH มีกำไรสุทธิ 48 ล้านบาท และ 75 ล้านบาท
บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS มีกำไรสุทธิ 7,917 ล้านบาท และ 8,386 ล้านบาท บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH มีกำไรสุทธิ 3,435 ล้านบาท และ 3,626 ล้านบาท บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG มีกำไรสุทธิ 538 ล้านบาท และ 564 ล้านบาท เป็นต้น
สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพ ในระยะ 10 ปี จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก 4 ด้าน ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
ขณะที่ข้อมูลของ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ในปี 2560 ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยยังคงเติบโต โดยสัดส่วนลูกค้าคนไทยเป็นหลักราว 70% ของรายได้ทั้งหมดในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ทว่าปัจจุบันฐานลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก โดยตลาด “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Medical Tourism) สามารถทำรายได้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลเข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท
สะท้อนได้จาก รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มาจากกลุ่ม “คนไข้ต่างชาติ” มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 25% ของรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชนในปี 2554 เป็นกว่า 27% ในปี 2558 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2560 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้
เมื่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมี “ปัจจัยบวก” สนับสนุนทิศทางการเติบโตในอนาคต ส่งผลให้ปัจจุบันมีทั้งผู้เล่นรายเก่า-ใหม่ ต่างปรับโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่เปลี่ยนไปหันมาสนใจสุขภาพมากขื้น !
ก่อนหน้านี้ “เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ” (BDMS) ของหมอนักธุรกิจ “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ขยับตัวนโยบายไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลก ด้วยการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15 ไร่ ประกอบด้วย โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ และอาคารสำนักงานบางส่วน บนที่ดินผืนงามบนถนนวิทยุ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจร “BDMS Wellness Clinic” แห่งแรกในเอเชีย
ด้าน “กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี” ของ “นายแพทย์บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ล่าสุดอยู่ระหว่างพิจารณาแผนใช้งบลงทุนซื้อและพัฒนาที่ดินบริเวณรังสิต ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 100-140 ไร่ ลงทุนจัดตั้ง “เมดิคัล ซิตี้” ทำให้เป็นคอนเซ็ปต์เมืองที่มีบริการแพทย์ครบวงจรและธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพ
ขณะที่ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เตรียมก่อตั้งโรงพยาบาลอาร์เอสยูอินเตอร์เนชั่นแนล (RSU International Hospital) RIH พื้นที่ 11 ไร่ ในย่านธุรกิจบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก 6 ไร่ มีพื้นที่ทั้งหมด 66,000 ตารางเมตร และเฟสที่ 2 5 ไร่ มีพื้นที่ 56,000 ตารางเมตร โดยในเฟสแรก และในเฟสสอง เพิ่มพื้นที่อีก 5 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020
มาที่“กลุ่มบมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง” ของเศรษฐีหุ้น “ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์” ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่บริษัทแตกไลน์ลงทุน ธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มเติมรายได้ประจำเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของธุรกิจที่อยู่อาศัย โดยตั้งเป้าพอร์ตอสังหาฯ ให้เช่ามีสัดส่วนตั้งแต่ 5-15% ของเป้าหมายรายได้ 1 แสนล้านบาท ที่ขยับเป้าทำให้ได้ภายในปี 2563
สอดคล้องกับ "ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ว่า ที่ผ่านมามี“กลุ่มทุนใหญ่”เมืองไทยหลากหลายอุตสาหกรรม (Conglomerate) สนใจเข้าลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล อาทิ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ซึ่งเผชิญหน้ากับการแข่งขันสูง และหาซื้อที่ดินยากมากขึ้น จำต้องปรับพอร์ตรายได้ (Diversify) ด้วยการสร้างพอร์ต “รายได้ประจำ” หรือ Recurring Income ที่สร้างสินทรัพย์ที่มั่นคงด้านรายได้ต่อเนื่อง ไม่สวิงตามความผันผวนของเศรษฐกิจมากนัก อย่างกรณีของบมจ.พฤกษาฯ ที่ตั้งบริษัทโฮลดิ้งส์เข้ามาดำเนินธุรกิจใหม่ (New Business) นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาฯ
ล่าสุด “กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์” (CP) ธุรกิจล้านล้านของของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ดำเนินธุรกิจหลากหลายตั้งแต่เกษตรครบวงจร โทรคมนาคม ยานยนต์ อสังหาฯ มีแผนที่รุกสู่ธุรกิจโรงพยาบาล เช่นเดียวกับ กลุ่มเจ้าสัวเบียร์ช้าง “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ก็กำลังจะลงทุนโรงพยาบาลแถบพระราม 9 ซึ่งมีการซื้อตัวทีมบริหารพร้อมหมดแล้ว
ดร.อังกูร ยังกล่าวว่า ปัจจุบันถือว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็น “จุดสนใจ” ของเหล่าผู้เล่นหน้าใหม่เงินทุนหนาในเมืองไทย เพราะนอกจากธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะมีผลการดำเนินงานขยายตัวต่อเนื่องทุกปีแล้ว ยังเป็นธุรกิจที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” และเป็น “สินทรัพย์ที่มั่นคง” หากเทียบกับอสังหาฯ ที่ธุรกิจมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากปัจจัยรอบด้านกระทบค่อนข้างมาก
“จะเห็นว่าส่วนใหญ่กลุ่มทุนใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาล จะมีพอร์ตอสังหาฯอยู่แล้ว และมองเห็นว่าธุรกิจอสังหาฯ มีปัจจัยเสี่ยงกระทบมาก ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลมีความเสี่ยงค่อนข้างเสี่ยงต่ำ และเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคง-มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตลอด ฉะนั้น ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่น่าจะมองเห็นในจุดตรงนี้”
สำหรับ มุมมองส่วนตัวเห็นว่าการมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าจะเกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้พัฒนามากขึ้น ต่อยอดความเป็นไปได้ที่จะทำให้ไทยเป็น “เมดิคัล ฮับ”
นอกจากนี้ ในแง่ของผู้บริโภคจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น จากการแข่งขันที่สูงขึ้น จนถึงขั้นการซื้อตัวทีมแพทย์
ดร.อังกูร ยังกล่าวว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ทิศทางรายได้เริ่มมีข้อจำกัด แต่ในภาพรวมการเติบโตของรายได้ในต่างจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมองว่าภายในระยะเวลา 3-5 ปี อัตราการเติบโตจะอยู่ระดับ 100% ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีเป็น 10 แห่ง โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักลงท่องเที่ยวต่างชาติ
“ทิศทางการขยายตัวของธุรกิจโรงพยาบาลยังเติบโต ฉะนั้นโอกาสที่เหล่าดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่จะหันมาสนใจลงทุนในธุรกิจนี้ หากดูตัวเลขการขยายตัวยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดตอนนี้ขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะในแทบชายแดนและเขตอุตสาหกรรมพิเศษ"
ขณะที่ “นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และกรรมการบริหาร บมจ.เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อโรงพยาบาลเอกชัย จ.สมุทรสาคร ยอมรับเช่นกันว่า ขณะนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในธุรกิจโรงพยาบาลสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ โดยเป็นการลงทุนมูลค่าสูง แต่ยังเป็นการลงทุนที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเป้าหมายของกลุ่มทุนใหญ่จะเป็นตลาดคนไข้ต่าชาติ โดยเฉพาะใน CLMV คือ กัมพูชา ,ลาว ,เมียนมา และเวียดนาม
ทว่าในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า ในส่วนของผู้บริโภคถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าจะได้รับบริการที่ดีขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกมากขึ้น แต่สำหรับผู้ประกอบการโรงพยาบาลรายเดิม อาจจะถูกแบ่ง “ส่วนแบ่งทางการตลาด” แต่เชื่อว่าเมื่อคนเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็ต้องมารักษา ฉะนั้น ความเสี่ยงของธุรกิจมีแต่ไม่สูง เพียงแต่อนาคตมาร์จิ้น(กำไรต่อหน่วย)อาจจะลดลงบ้าง กรณีที่มีการแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดกันมากขึ้นของผู้เล่นหลายราย
ขณะที่ในมุมของคนไข้ไม่น่าห่วง เพราะต่อไปคนไข้จะมีทางเลือกในการเข้ามาช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น เช่น ประกันชีวิต ,ประกันกลุ่มบริษัท และสวัสดิการสังคมจากรัฐเป็นต้น ซึ่งลูกค้าก็จะใช้สิทธิกันมากขึ้น
“โรงพยาบาลเป็นเหมือนกับสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่สบาย เหมือนกับทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องกินอาหารเวลาหิว และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเมื่อเจ็บไข้ก็ต้องหาโรงพยาบาลที่มั่นใจว่าจะรักษาให้เราหาย เพียงแต่ว่าช่วงแรกต้องสร้างความมั่นใจให้คนไข้ได้ว่าการรักษาของโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือและพึ่งพาได้ เป็นสิ่งที่ทำยาก ไม่ใช่เพียงแต่มีเงินแล้วลงทุนได้เท่านั้น"
สำหรับปัญหาที่น่ากังวลสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลใหม่ คือ “บุคลากรทางการแพทย์” ซึ่งในอนาคตมีโอกาสจะเกิดการแย้งตัวบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
ส่วนโรงพยาบาลที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว ต้องปรับตัวเองอยู่ตลอด โดยเฉพาะด้านคุณภาพของการรักษา เปรียบเหมือนหากมีสินค้าไม่มีคุณภาพก็อยู่ลำบาก ฉะนั้น มาตรฐานการรักษาต้องน่าเชื่อถือ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งมีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่ง รพ.เอกชัยมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรทางการแพทย์น่าเชื่อถือ ยืนยันได้จากการการร่วมงาน 10 กว่าปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นกลุ่มที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” หากเทียบกับในธุรกิจด้านอื่นๆ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนเช่นนี้
สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนผลประกอบการเติบโตทุกๆปี โดยในกลุ่มโรงพยาบาลขนาดใหญ่อัตราการเติบโตอยู่ที่ 3-4% ต่อปี ในอดีตโตสัดส่วนสูงกว่านี้เพราะว่าฐานยังเล็ก แต่ปัจจุบันฐานเพิ่มขึ้น แต่ประชากรในเมืองไทยเพิ่มขึ้นไม่มาก “เมื่อฐานใหญ่เติบโตได้ระดับนี้ถือว่าน่าพอใจ” แต่หากเป็นโรงพยาบาลขนาดกลาง-เล็ก โดยอยู่รอบนอกกรุงเทพฯ อัตราตัวเลขการเติบโตยังเป็น “ตัวเลขสองหลัก” เพราะว่าฐานคนไข้เล็ก และยังพื้นที่ให้เติบโตได้อีกมาก
“ในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเปรียบเหมือนน้ำซึมบ่อทราย ไม่หวือหวาเหมือนธุรกิจอสังาหฯ แม้ว่า เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างไร แต่ธุรกิจโรงพยาบาลก็ยังอยู่ได้”
--------------
ทำไม?รพ.พาเหรดเข้าตลาดหุ้น
“ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH บอกว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีโรงพยบาลเอกชนเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการเงินระดมทุนไปปรับปรุงและขยายกิจการ และจะช่วยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น
อีกประเด็น การนำธุรกิจรพ.เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น ทำให้รพ.ลาดพร้าวเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะนายแพทย์ ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันบรรดาหมอมีพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งการที่มีรพ.อยู่ในตลาดหุ้นช่วยทำให้มีหมอเห็นข้อมูลของรพ. จากแบบแสดงรายการข้อมูล แบบ 56-1 และหากธุรกิจของรพ.มีการเติบโตทุกปี แสดงว่ารพ.มีธุรกิจที่มั่นคง ส่งผลให้หมอๆ อยากจะเข้ามาร่วมทำงานด้วย
“หลังโรงพยาบาลลาดพร้าวอยู่ในตลาดหุ้น มีหมอเก่งๆ มาทำงานด้วยหลายท่าน จากอดีตเป็นเรื่องยากมากที่เราจะได้หมอเก่งๆ มาร่วมงานด้วย”
ด้าน“นายแพทย์อำนาจ เอื้ออารีมิตร” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และกรรมการบริหาร บมจ.เอกชัยการแพทย์ หรือ EKH บอกว่า หลังจากโรงพยาบาลเอกชัย เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นเมื่อปีก่อน ทำให้ปัจจุบันมีหมอรู้จักโรงพยาบาลเอกชัยมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีตัวเลือกบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปก่อสร้างศูนย์กุมารเวชแห่งใหม่ 200 ล้านบาท ที่เหลือนำไปปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลเดิม และเป็นเงินทุนหมุนเวียน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมภาพลักษณ์ และรับมือการแข่งขันของโรงพยาบาลรายใหญ่
“โรงพยาบาลสยังมีศักยภาพแข่งขัน หากมีความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ การรักษาที่มีมาตรฐาน ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมีจุดแข็งและจุดเด่นชัดเจน ในอนาคตเราไม่ได้ปิดกั้นความร่วมมือเชนโรงพยาบาลต่าง ๆ หากทำให้การบริหารงานและการให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
------------------
โบรกฯส่องหุ้นกลุ่มรพ.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของผลประกอบการและราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่หากเปรียบเทียบโอกาสของการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลและแนวโน้มการเติบโตของรายได้ โดยเฉพาะรายได้ของโรงพยาบาลเอกชน หุ้นกลุ่มนี้น่าสนใจโดยปีนี้คาดว่าตัวเลขการเติบโตของรายได้
ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังเป็นธุรกิจที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตของรายได้จากค่ารักษาพยาบาล โดยหลักๆ มาจากฐานลูกค้าต่างชาติ โดยตลาด Medical Tourism ซึ่งยังไม่รวมถึงรายได้ที่สะพัดไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (อาทิ ค้าปลีก ท่องเที่ยว ร้านอาหาร) ส่งผลให้ตลาด Medical Tourism กลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย
ขณะที่ตลาดลูกค้าคนไทยที่ยังคงมีสัดส่วนรายได้หลักราว 70% ของรายได้ทั้งหมดในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน อาจจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมถึงการขยายสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐที่ครอบคลุมโรคมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการเข้ารับการรักษาพยาบาลของกลุ่มลูกค้าคนไทยเปลี่ยนแปลงไป
“ในปี 2560 ภาพรวมรายได้ของรพ.เอกชน ที่จับตลาดลูกค้าต่างชาติเป็นหลักจะขยายตัวประมาณ 10-12% เทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่รายได้ของรพ.เอกชนที่เน้นจับตลาดลูกค้าคนไทยคาดว่าจะขยายตัว 7-9% เทียบกับปีที่แล้ว”
บล.เคจีไอ ระบุว่า แนะนำ “ซื้อ” หุ้น LPH เป้าหมาย 11 บาท หลังยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากการใช้เม็ดเงินจากการขายหุ้น IPO เพื่อการขยายกิจการศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และโรงพยาบาลใหม่แล้ว บริษัทก็ยังมีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการเพิ่มรายได้ของทั้งในส่วนผู้ป่วยที่ชำระเงินสด และผู้ป่วยประกันสังคมในระยะยาวด้วยการเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และสร้างศูนย์การแพทย์สำหรับรองรับผู้ป่วยประกันสังคม
ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 ไว้ที่ 198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และปี 2561 ไว้ที่ 228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นอกจากนี้ ยังคิดว่าอาจจะมีปัจจัยกระตุ้นอีกบางตัว ซึ่งจะช่วยเพิ่ม upside ให้กับประมาณการกำไรของเราในระยะ 2 ปีนี้ ได้แก่ 1.โอกาสในการเข้าลงทุนในโรงพยาบาลที่มีกำไร (ด้วยการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในโรงพยาบาลเป้าหมาย) 2.กำไรจากการขายที่ดิน (คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 120 ล้านบาท) และ 3. โอกาสในการนำบริษัทลูก (‘AMARC’) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีหน้า