เปิดตัว ‘คลินิกแก้หนี้’
เปิดตัว "คลินิกแก้หนี้" เคลียร์ปัญหาเงินกู้ไร้หลักประกัน
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 59% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้
ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการวาง “โครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อช่วย “แก้ปัญหา” หนี้ภาคครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้หรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น การมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย เพื่อให้การแก้ไขหนี้ดังกล่าวเป็นไปอย่างครบวงจร และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน
ขณะเดียวกันหน่วยงานกลางที่ว่านี้ จะทำหน้าที่ให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกหนี้ เพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดย ธปท. ได้ตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ “แซม” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง โดยใช้ชื่อว่า “คลินิกแก้หนี้”
อาจมีคำถามว่า “คลินิกแก้หนี้” คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ..คลินิกแก้หนี้ หรือ โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของ ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ที่ต้องการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ
โดย ธปท. ได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารต่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์ของไทยและต่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมกับจัดตั้งโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน โดยเฉพาะหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย
ดังนั้นวัตถุประสงค์การจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเองตามความสามารถที่แท้จริง โดยลูกหนี้สามารถได้ข้อยุติกับธนาคารเจ้าหนี้ในคราวเดียวผ่านหน่วยงานกลางที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาแทนเจ้าหนี้ทุกรายอย่างครบวงจร ภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“หากลูกหนี้มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายรายและต้องการปลดภาระหนี้สิน โครงการนี้จะช่วยหาแนวทางการชำระหนี้ตามความสามารถที่แท้จริงของลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ข้อยุติในคราวเดียว ซึ่งเหมือน One Stop Service คือ ได้ติดต่อกับเจ้าหนี้ทุกรายแทนลูกหนี้”รายงานข่าวระบุ
กรณีนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมา ซึ่งลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย และตั้งใจจะปลดภาระหนี้สินทั้งหมดจะต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ทีละราย จนครบทุกราย ซึ่งยากที่จะเจรจาได้สำเร็จ เพราะเจ้าหนี้แต่ละรายมีหลักเกณฑ์และมาตรฐานการชำระคืนหนี้ที่แตกต่างกัน
สาเหตุที่โครงการนี้เลือกช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากสภาพตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันในประเทศไทย เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือของรัฐหรือหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยลด หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจภาคครัวเรือนของประเทศในระยะยาว การช่วยเหลือจึงมุ่งเป้ามาที่ลูกค้ากลุ่มนี้
สำหรับ “คลินิกแก้หนี้” ทาง ธปท. จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ค.นี้ โดยจัดให้มีการเซ็นสัญญาร่วมระหว่าง “แซม” และอีก 17 ธนาคารพาณิชย์ ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารไอซีบีซี ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) ธนาคารธนชาต ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารยูโอบี ซิตี้แบงก์ และ แบงก์ออฟไชน่า
ส่วนคุณสมบัติของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่เกิน 65 ปี (ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้) เป็นผู้ที่มีภาระหนี้ค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 แห่ง ก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560 มูลหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท และต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงโดยอยู่ที่ 4-7%
สำหรับหนี้บัตรเครดิต ต้องเป็นหนี้บัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมในโครงการนี้เท่านั้น ยกเว้นบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทในเครือของธนาคาร
ย้อนประวัติ-พันธกิจ ‘แซม’
บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ “แซม” จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2543 โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
พันธกิจของ แซม ได้แก่ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ได้รับข้อยุติโดยเร็วและลดสัดส่วนสูญเสียให้เหลือน้อยที่สุด บริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายให้ได้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่เหมาะสม สร้างและพัฒนาบุคลากรมืออาชีพด้านการบริหารสินทรัพย์ที่มีความสามารถและจริยธรรม พัฒนาระบบงานด้านบริหารสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อความเติบโตและยั่งยืนขององค์กร