‘วิจัยขายได้’จุดยืนนวัตกร4.0
แอพพลิเคชั่นติดตามผู้ป่วยโรคไต เฝ้าระวังพฤติกรรมเด็กออทิสติก หรือโดรนเฝ้าะวังภัยหมอกควัน เป็นตัวอย่างผลงานจากนวัตกรเลือดใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บนคอนเซปต์ Sci+Business วางกรอบไอเดียสร้างงานวิจัยที่มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์ เติมความ
“เรามีจุดแข็งเรื่องวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มคือ แนวคิดในด้านธุรกิจจึงต้องเสริมชุดวิชาความเป็นผู้ประกอบการในหลักสูตร พร้อมเชิญผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญหรือความสำเร็จในแง่ธุรกิจมาให้ความรู้ ภายใต้แนวคิด Sci+Business และเริ่มเดินหน้าโครงการวิจัยตั้งแต่ชั้นปีที่ 2” รศ. ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
เปิดบ้านนวัตกร 4.0
ผู้ป่วยโรคไตปีละกว่า 8 ล้านคน ซึ่งกว่า 2 แสนคนที่มีอาการรุนแรงจนอยู่ในภาวะไตวาย ต้องฟอกไตหรือเปลี่ยนไต มีผลกระทบทั้งค่าใช้จ่ายและคุณภาพชีวิต ประกอบกับความกังวลในอาการโรคไตของคุณย่า จุดประกายให้ พิชญ์ชาธร บำรุงศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จับมือ รินทร์รัก นามานุภาพ พัฒนา Kidney Pro-Tech แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือตามติดพฤติกรรมเสี่ยงผู้ป่วยโรคไต ช่วยลดความรุนแรงของโรคที่จะเข้าสู่ภาวะไตวาย
แอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลกรอกข้อมูลจำเป็น เพื่อให้แพทย์ติดตามอาการและพฤติกรรมที่มีผลต่อไต ระบบจะแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของผู้ป่วยเป็นโมบายแอพพลิเคชั่นรองรับทั้งไอโอเอสและแอนดรอยด์ และส่วนของผู้ดูแลรักษาเป็นเว็บแอพพลิเคชั่น (Web Based Application) ประกอบด้วย แพทย์ผู้รักษา พยาบาล เภสัชกร และนักโภชนาการ ทำให้สามารถติดตามและตรวจสอบการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาการของผู้ป่วย
ผู้ป่วยจะบันทึกข้อมูลต่างๆ เข้าระบบ เช่น อัตราการเต้นหัวใจ น้ำหนัก ความดันโลหิตและสารอาหารที่ได้รับ เพื่อนำมาใช้วินิจฉัยอาการ และเพื่อให้แพทย์สามารถปรับเปลี่ยนจำนวนยา ปริมาณสารอาหารและน้ำที่จำเป็นได้ โดยการตรวจสอบอาการตัวเองในเบื้องต้นทำได้ใน 3 ระดับ ได้แก่ ปกติ ควรระวังและฉุกเฉิน อีกทั้งมีปุ่มฉุกเฉินเรียกรถพยาบาลได้ทันที
Kidney Pro-Tech เป็น 1 ใน 328 ผลงานที่นำเสนอในงาน Senior Project #3 ของ มธ. ร่วมกับอื่นๆ อาทิ แอพพลิเคชั่นติดตามพฤติกรรมเด็กออทิสติกที่ช่วยให้ผู้ปกครองและครูบันทึกพฤติกรรมของเด็ก ทั้งทางกายภาพและอารมณ์ เช่น ทำลายข้าวของ เสียงดัง ทำร้ายร่างกายเพื่อน หรือทำร้ายตัวเอง เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์กำหนดแนวทางพัฒนาพฤติกรรมและทักษะของเด็กต่อไป
หรือโดรนเตือนภัยหมอกควัน-ไฟป่า ฝีมือระดับนักเรียนมัธยมศึกษาจากโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว. ) ที่ใช้โดรนติดเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่ฟุ้งกระจายในอากาศไปประมวลผลและแสดงข้อมูลผ่าน NETPIE เพื่อบ่งชี้ความเข้มข้นของก๊าซฯ เฝ้าระวังเรื่องหมอกควันและไฟป่าได้
วิทยาศาสตร์เสริมการตลาด
ปัจจุบัน โลกและสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และภาคธุรกิจเปลี่ยนไป จึงต้องเตรียมนักศึกษาที่จะออกไปเป็นบุคลากรของประเทศให้มีศักยภาพ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก สำหรับงานแสดงนวัตกรรมวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ฝีมือเยาวชนครั้งที่ 3 มีชิ้นงานต้นแบบ 328 ชิ้นงาน ครอบคลุม 6 ด้านคือ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน, วิทยาศาสตร์กายภาพ, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, ดิจิทัลและระบบการวิเคราะห์ข้อมูล, ทฤษฎี และเทคโนโลยี
“การวิจัยและพัฒนาในปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เราไม่สามารถคิดโจทย์วิจัยในสิ่งที่ผู้วิจัยอยากทำ แต่ต้องมองตลาด มองความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ผลงานที่ออกมาสามารถนำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติหรือไทยแลนด์ 4.0” รศ.ปกรณ์กล่าว
รูปแบบการสร้างนวัตกรเลือดใหม่นี้ จะเป็นอาวุธให้กับบัณฑิตที่มีความพร้อมทั้งในแง่วิทยาศาสตร์และธุรกิจ เพื่อใช้ในการทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งสร้างธุรกิจของตนเองนั่นเอง