บันได 6 ขั้นปราบพฤติกรรม tantrums

บันได 6 ขั้นปราบพฤติกรรม tantrums

tantrums คืออารมณ์เกรี้ยวกราด เกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุและทุกอาชีพ ยิ่งโตขึ้นมากเท่าไหร่พฤติกรรมรูปแบบ tantrums จะยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น ความซับซ้อนของอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นตามอายุเกิดจากการไม่ได้รับการฝึกฝนการจัดการทางอารมณ์ตั้งแต่เมื่อเล็กๆ นั่นเอง

สมัยที่ผู้เขียนเรียนที่อเมริกานั้น มีอยู่วิชาหนึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการพฤติกรรมสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดการ tantrums นั่นเองค่ะ อย่างที่เกริ่นไปตอนที่แล้วว่า tantrums หรือที่แปลว่า อารมณ์เกรี้ยวกราดนั้น เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุและทุกอาชีพ ยิ่งเราโตขึ้นมากเท่าไหร่ พฤติกรรมรูปแบบ tantrums จะยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้น เราเห็นเด็กโวยวายและลงไปดิ้นกับพื้นเวลาที่ไม่ได้ของ ในขณะเดียวกันเราก็เห็นผู้ใหญ่หลายคนแสดงอาการฟาดงวงฟาดงากับทุกสิ่งที่อยู่ใกล้เวลาไม่ได้ดังใจ

เมื่อย้อนกลับไปดูจะพบว่า ความซับซ้อนของอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นตามอายุเกิดจากการไม่ได้รับการฝึกฝนการจัดการทางอารมณ์ตั้งแต่เมื่อเล็กๆ นั่นเอง

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากวิชานั้นก็คือ “change our thoughts, change our actions” การจัดการพฤติกรรม tantrums หงุดหงิด กรี๊ด โวยวายและเหวี่ยงวีนนั้น ถ้าจะให้ได้ผลก็คือ ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดของคุณพ่อคุณแม่ เพราะเมื่อความคิดเปลี่ยนแล้ว วิธีการตอบสนองของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย และถ้าให้ตรงประเด็นกว่านั้นก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกให้ได้ว่า เวลาลูกกรีดร้องขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่รีบเข้าไปหาเพราะอะไร?

แบบทดสอบที่ 1 จงบอกความคิดแรกเมื่อได้ยินเสียงลูกกรีดร้องโวยวายไร้สาเหตุ
_ เฮ้อ...อีกแล้ว
_ เบื่อเหลือเกินมันอะไรกันเนี่ย
_ ไม่รู้จะเอายังไงแล้ว นี่ก็ไม่เอานั่นก็โวยวาย
_ ทำไมต้องเป็นชั้นอีกแล้ว ทำไมไม่เป็นตอนอยู่กับคนอื่นนะ
_ มันต้องมีอะไรผิดแน่ๆ ทำไมถึงร้องได้ตลอดเวลา
_ อยากจะย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่นจริงๆ
_ เป็นอย่างนี้ตลอดเวลาเลยไหมเนี่ย เมื่อวานก็เป็น เมื่อเช้าก็เป็น นี่ก็เป็นอีก
_ รับมือจะไม่ไหวแล้ว
_ คนอื่นจะคิดว่ายังไงเนี่ย
_ รู้งี้ไม่อยู่บ้านก็ดี
_อื่นๆ

แบบทดสอบที่ 2 จงบอกอารมณ์ของตนเอง ตอนที่ได้ยินเสียงร้องโวยวาย
_ เศร้า
_ อารมณ์เสีย
_ หงุดหงิด
_ เบื่อ
_ ลนลาน
_ ทนไม่ไหว
_ โกรธ
_ ตื่นตระหนกตกใจ
_ โอเค
_ สงสัย
_อื่นๆ


แบบทดสอบที่ 3 จงบอกว่าร่างกายตอบสนองตอนที่ได้ยินเสียงร้องโวยวายอย่างไร
_ รู้สึกว่าเกร็งไปทั่วตัว
_ เริ่มกลั้นหายใจ
_ หัวใจเต้นแรง
_ ขบกรามไม่รู้ตัว
_ กัดฟัน กัดริมฝีปากไม่รู้ตัว
_ ถอนหายใจ
_ ตาเบิกกว้าง
_ มือเปียก เท้าเปียกใจสั่น
_อื่นๆ

จากการตอบแบบสอบถามจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าเพราะเหตุใดร่างกายจึงตอบสนองจนทำให้ตัวเองต้องรีบเข้าไปหาลูกทันทีที่ลูกแสดงอาการ tantrums แน่นอนว่า เด็กทุกคนสามารถรู้ได้และใช้มันให้เป็นประโยชน์ อย่างที่บอกว่า การที่เด็กร้องโวยวายนั้นเป็นวิธีการที่จะทำให้เด็กได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการอย่างเร็วที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมวิธีการนั้นจึงถูกนำกลับมาใช้ในทุกครั้ง เพราะมันได้ผลนั่นเองค่ะ

ดังนั้น วิธีการ 6 ขั้นตอนที่จะแบ่งปันกันต่อไปนี้ น่าจะเป็นขั้นตอนที่คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับใช้ได้ (อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า การปราบ trantrums นั้นไม่ใช่การปราบพฤติกรรมลูก แต่เป็นการปรับพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่) เมื่อลูกแสดงอาการ tantrums ค่ะ
1) เช็คก่อนว่าเรารู้สึกอย่างไรอยู่ การนำสติกลับมาอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของเรา ลองคิดดูสิคะ ถ้าเรารู้หรือคิดได้ว่า การที่ลูกกรี๊ดโวยวายนั้นเป็นเพราะเค้าต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่าง เราก็จะไม่เลือกที่จะตะโกนด่าว่าลูกให้หยุด หรือเงื้อมมือตีลูกแน่ๆ
2) อยู่นิ่งๆ ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งเอาอารมณ์เราไปเล่มตามเกมลูก หายใจเข้า-หายใจออก
3) ค่อยๆ อธิบาย เดินไปหาแล้วบอกลูกว่า ลูกร้องไห้ได้ แต่ก็ต้องบอกได้ว่าลูกร้องไห้ทำไม ถ้าบอกไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกถามเป็นคำถามหรือลองเดาว่า เพราะเหตุนี้ใช่หรือไม่อย่างไรก่อน
4) ให้ทางเลือกลูกในการอธิบาย ในกรณีที่ลูกอธิบายได้ไม่ดี หรือคุณแม่ฟังไม่เข้าใจ หรือคิดว่าเหตุผลที่ลูกร้องไห้นั้นช่างไม่สมเหตุสมผลเลย เช่น น้องอาจได้ขนมในขณะที่ตัวเขาไม่ได้ หรือแม่ซื้อของให้น้องแต่ไม่ซื้อให้เขา ก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ในการอธิบายว่าเพราะเหตุใดถึงทำเช่นนั้น เปิดโอกาสตัวเองในการอธิบายเพื่อไม่ให้ลูกเข้าใจผิด รวมถึงให้โอกาสลูกในการพูดถึงอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น เช่น รู้สึกแย่ รู้สึกเสียใจ รู้สึกโกรธ
5) เข้าอกเข้าใจลูก เมื่ออธิบายจบแล้ว ถ้าลูกยังคงร้องไห้อยู่ คุณแม่อาจแนะนำทางเลือกอื่น เช่น พาลูกไปดูของอย่างอื่น ชวนลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น พร้อมกับบอกด้วยว่า ลูกสามารถบอกอารมณ์และความคิดของลูกได้โดยที่ไม่ต้องกรี๊ดหรือโวยวาย และนั่นทำให้แม่เข้าใจได้ดีกว่าการที่ลูกร้องโวยวายเสียอีก
6) ยืนหยัดอย่างมั่นคง รวมถึงทุกๆ คนในครอบครัวควรทำแบบเดียวกัน การปรับพฤติกรรมจะไม่ได้ผลเลยถ้าแต่ละคนในครอบครัวเลือกที่จะตอบสนองต่อความต้องการของเด็กต่างกัน เด็กมักจะเลือกที่จะแสดงอาการไม่พอใจไปจนเกรี้ยวกราดใส่คนที่ตนเองคิดว่า สามารถให้ของหรือให้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเป็นลำดับแรกเสมอ ดังนั้น เรื่องการปรับทัศนคติในตรงกันจึงควรเป็นเรื่องพื้นฐานของครอบครัวค่ะ

เด็กๆ ที่เคยแสดงอาการ tantrums มาก่อนมักจะคิดว่า วิธีการนี้จะได้ผล ดังนั้นแม้คุณพ่อคุณแม่จะทำทั้ง 5 ขั้นตอนมาระยะเวลาหนึ่งมักจะสังเกตเห็นว่า อาการโวยวายแบบเดิมจะกลับมาบ้าง ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่าตกใจและคิดว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผล บางครั้งเด็กจะต้องการทดสอบว่า เมื่อเค้าเคยทำพฤติกรรมเหล่านี้แล้วเคยได้ในบางครั้งนั้น จะทำให้เขาได้สิ่งที่ต้องการในตอนนี้อีกหรือไม่
     จะอย่างไรก็ตามถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่หันหลังกลับไปตามใจอีก พฤติกรรม trantrums จะค่อยๆหมด จนหายไปเองแน่นอนค่ะ


*บทความโดย ผศ.ดร. ปรียาสิริ วิฑูรชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาฟื้นฟูสำหรับเด็กพิเศษ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี