“มนุษย์ทองคำ”พันธุ์ใหม่ โดนใจธุรกิจ 4.0..!
จากมนุษย์เงินเดือนธรรมดา แต่หากมีทักษะ“สเปเชียล” ตอบโจทย์ธุรกิจยุคดิจิทัลได้ล่ะก็..! คุณคือคนที่องค์กร“ถวิลหา”ส่องอาชีพใหม่ “มนุษย์ทองคำ”อาชีพที่มักเริ่มต้นด้วยคำว่า“ดาต้า” และห้อยท้ายด้วยคำว่า “ดิจิทัล”
โลกธุรกิจจะหมุนช้าหรือเร็ว เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ในกระบวนการทำงาน “มนุษย์” ก็ยังเป็น “หัวใจสำคัญ” มากกว่า “จักรกล” ในการขับเคลื่อนให้องค์กรให้เดินหน้าเติบใหญ่อยู่เสมอ
ทว่า การทำงานในหลายองค์กรธุรกิจ ที่่เปลี่ยนไปภายใต้แรงกดดันของ “โลกดิจิทัล” ทำให้มีการลงทุนปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งโลกอนาคต 4.0 หรือ ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสนล้านอย่างเครือไทยเบฟเวอเรจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ทุ่มทุนมหาศาลตั้งบริษัท เบฟเทค เพื่อเสริมแกร่งด้านเทคโนโลยีการผลิตเต็มสูบ
เครือเบทาโกร อีกหนึ่งผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปอาหารรายใหญ่ในไทย ที่เตรียมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล รับโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีมหาศาล (Big Data) บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ยักษ์ธุรกิจค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าในไทย ที่ประกาศกร้าวสู่การเป็น Central Centrality เครือสหพัฒน์ พี่เบิ้มธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าในไทย ของตระกูลโชควัฒนา ที่ต้องมุ่งค้าขายเป็นออมนิแชนแนลมีมีทั้งส่วนผสมออนไลน์ ออฟไลน์(หน้าร้าน) เป็นต้น
การปรับตัวดังกล่าว ทำให้องค์กรเริ่มควานหา “มนุษย์เงินเดือน” ที่มีทักษะ (Skill)ใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของการดำเนินธุรกิจในยุคใหม่
แล้วคนเป็นไหน ? อาชีพแบบไหนกัน ? ที่กำลังเข้าข่ายกลายเป็น “มนุษย์ทองคำพันธุ์ใหม่" ไปฟังการให้สัมภาษณ์ของกูรูสนามอาชีพถ่ายทอดมุมมอง
“นพวรรณ จุลกนิษฐ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เล่าว่า แม้ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างตลาดแรงงานไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ” เพราะสถานการณ์หลายมิติชี้ให้เห็นว่าเกือบศตวรรษ นักเรียนนักศึกษาไม่ได้เลือกเรียนวิชาความรู้เพื่อจบไปประกอบอาชีพ “ตามความต้องการของตลาดแรงงาน” แต่กลับเลือกเรียนตามค่านิยมเพื่อน ผู้ปกครอง หรือกระทั่งวิชาที่ทำให้จบการศึกษาได้โดยง่าย
โดยไทยจะมีอัตราการว่างงานต่ำ 1.2% (ณ เม.ย.60) แต่ด้านอุปสงค์และอุปทานคนทำงานกับตำแหน่งที่ว่างงานก็ยังไม่สอดคล้องกัน โดยยังมี“ว่างงาน”หลากรูปแบบทั้งที่เคยมีงานทำแล้ว“ตกงาน”ด้วยสารพัดเหตุผล เช่น หันไปประกอบอาชีพอิสระ มีครอบครัว และอีกส่วนเพราะ“ธุรกิจขาลง”ส่งผลให้ลดคนทำงาน รวมถึงคนที่เรียนจบมาไม่ตรงกับตลาด เลยยังตกงาน
อีกกลุ่มคือคนไม่เคยมีงานทำ ซึ่งในส่วนนี้เป็นเด็กจบการศึกษาใหม่2.6แสนคน ในระดับปริญญาตรี55%ซึ่งนอกจากจบไม่ตรงตามตลาดต้องการ ยังเรียกเงินเดือนสูงเกินประสบการณ์ ความสามารถ เลือกงานมากเกินไป ทำให้สูญเสียโอกาสทำงานโดยปริยาย
ขณะที่ภาวะความต้องการ“แรงงาน”ตลาดก็ไม่เปลี่ยน อาชีพหลักที่องค์กรควานหาหนีไม่พ้น
อันดับ1งานขาย บริหาร พัฒนาธุรกิจ ที่เป็นฟันเฟืองเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต แต่ก็มีความกดดันในการทำงานทั้งการ“ทำยอดขาย”หรือมีเก่งก็ย้ายองค์กรหาผลตอบแทนที่ดี
อันดับ2 วิศวกร ตราบใดที่อุตสาหกรรมไทยยังขยายตัว นี่เป็น1ในตัวเลือกที่ตลาดต้องการ
อันดับ3 ไอที ผลพวงจากเทคโนโลยีเข้ามาเป้นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ทั้งนำมาใช้ดูแลพนักงาน ระบบคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ การเขียนโปรแกรมตลอดจนแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งเจาะลุกในกลุ่มนี้ ยังมีบางสาขาที่คนจบน้อย และอันดับ4 ทรัพยากรบุคล ฝ่ายที่จะเมกชัวร์เรื่องการดูแลพนักงานของบริษัทอย่างดี เฟ้นหาคนเก่งที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร โดยในส่วนจ๊อบส์ดีบี มีคนกรอกประวัติทิ้งไว้ประมาณ1.7ล้านคน ขณะที่เว็บไซต์มีการประกาศหางาน 1.7 หมื่นอัตรา
อย่างไรก็ตาม นอกจากอาชีพยอดนิยมข้างต้น โลกใบใหม่ที่หลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัล “อาชีพแปลกใหม่” ที่องค์กรเริ่มมีความต้องการมากขึ้นเริ่มมีให้เห็น สำหรับ “นพวรรณ” เธอยกให้อาชีพ “นักการตลาดดิจิทัล” หรือ Digital Marketing ซึ่งเป็นนักการตลาดยุคใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน ทำการตลาดให้ถึง“กลุ่มเป้าหมาย”
“ตอนนี้นักการตลาดดิจิทัลเป็นที่ต้องการมาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัยก็มีการสอนน้อยเรื่อง เพราะยังใหม่จริงๆ อาจารย์ก็ขาดแคลน มีคนที่ทำได้ แต่ก็จะอยู่ตามดิจิทัล เอเยนซี่”
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แวดวงสินค้าขาดแคลนนักการตลาดดิจิทัลมากถึง85% “นพวรรณ” ประเมิน
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากองค์กรได้คนเก่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการตลาดดิจิทัลไปทำงานจริงๆ ในระดับปฏิบัติการและผู้บริหารขั้นต้น ก็จะได้รับผลตอบแทนหรือเงินเดือนสูงขึ้นถึง 61%เมื่อเทียบกับการตลาดปกติ แต่ถ้าตำแหน่งสูงขึ้น ก็ต้องพ่วงความสามารถทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์
นอกจากนี้ ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลเว็บไซด์ หรือที่เรียกว่า SEO:Search Engine Optimization เป็นอีกตำแหน่งที่มีความต้องการสุง เพราะพวกเขามีหน้าที่ทำเว็บไซต์ของลูกค้า ปรากฎอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่มีการสืบค้นผ่านเว็บเสิร์ชเอนจิน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นและเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านเว็บไซด์นั้นก่อนใคร
ตามมาด้วยตำแหน่ง SEM : Search Engine Marketing หรือการทำการตลาด และวางแผนการใช้เงินในการทำตลาด ผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเตอร์เน็ตอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ
อีกอาชีพที่น่าสนใจคือ อาชีพ “ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์” หรือ Influencer บล็อกเกอร์ต่างๆ ที่ฝีมือฉกาจในการเขียนริวิวสินค้าและบริการต่างๆ ที่สร้งรายได้ผ่านYoutube (ยูทูบ) ได้มหาศาล จากการที่เจ้าของสินค้า ใช้งานพวกเขาในการเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมาย แม้กระทั้งเด็กอนุบาล ก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลได้ ผ่านการเล่าเรื่องราว ท่องเที่ยว ทุกกิจกรรมผ่านยูทูบ ซึ่งจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กด้วยกันติดตามดู
ขณะที่ระดับโลกหนุ่มสวีเดนนาม Felix Arvid Ulf Kjelberg มีผู้ติดตามชมคลิปวิดีโอของเขามากหลักหลายสิบล้านวิว และสร้างรายได้ผ่านช่องทางดังกล่าวกว่า400ล้านบาท ในปีก่อนหน้า
และเพราะโลกเต็มไปด้วยข้อมูลมหึมา (Big Data) จึงเกิดความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ในแขนงต่างๆมาจัดการ วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ที่บอกเลยว่า กำลังเป็นอาชีพฮอตฮิตในตอนนี้
อีกอาชีพที่หายาก มีความต้องการสูง แต่น้อยคนจะทำได้ ต้องเป็นคนระดับ“หัวกะทิ”ในเมืองไทย นั่นคืออาชีพ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย” ที่จะต้องคำนวณวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในประกันภัย อีกธุรกิจฮอตหลังคนไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการทำประกันมากขึ้น ทำให้อาชีพดังกล่าวเป็นที่ต้องการในตลาดสูง
ขณะที่อีกฟากของ “อาชีพดับ” สวนทางกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก็มีหลากหลาย เช่น พนักงานจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ โบรกเกอร์ พนักงานชำระเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ สามารถดำเนินการผ่าน“ออนไลน์”ได้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซื้อขายหุ้นออนไลน์ จองและซื้อตั๋วภาพยนตร์ผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ จองตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก เป็นต้น ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่างๆต่ำกว่าแรงงานคนด้วยซ้ำ
ตลาดแรงงานที่เริ่มมีการปรับตัว ไม่เพียงแค่“ตัวเร่ง”ของความก้าวหน้าในโลกดิจิทัลเท่านั้น ที่กระทบวิถีการทำงาน แต่ยังมีประเด็นทาง “เศรษฐกิจ-สังคม-การเมือง” เข้ามาพัวพันกระทบต่อความต้องการในสาขาอาชีพต่างๆ อาทิ โลกไร้พรมแดน เรื่องง่ายๆอย่างการสื่อสารระหว่างกันให้เข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ “ภาษาที่ 2 และ 3 " เป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนที่ขวนขวาย หากต้องการให้ขึ้นชื่อว่า เป็น "มนุษย์ทองคำ" เพราะเวลานี้บริษัทไทยโกอินเตอร์ก็มาก บริษัทข้ามชาติเองก็ยกขบวนมากปักหมุดทำตลาดในไทยไม่น้อย
ด้านองค์กร ที่เผชิญการแข่งขัน ทำอย่างไรจะหาทางดึง“คนเก่ง”เข้ามาทำงานได้ วันนี้นอกจากเงินเดือน สวัสดิการที่ดี ยังมีเรื่องของการ "สร้างวัฒนธรรมองค์กร และบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงาน และรักษาคนทำงาน” ให้อยู่หมัด
“ทั้งบริษัทและคนทำงาน จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี ใครปรับตัวเร็วสุด ก็จะอยู่รอดก่อนใคร"
ขณะที่ “แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ็อบไทยดอทคอม(JobThai.com) ระบุว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศไทยช่วง3-5ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีอะไรพลิกโผนัก โดยองค์กรยังเผชิญความยากลำบากเหมือนเดิม ในการ“ควานหาบุคลากรที่โดนใจ”และทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
เธอบอกว่า “5 อาชีพ” ยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานไล่เลียงจากอันดับ
อันดับ1.งานขาย บริการลูกค้าต่างๆ โดยจากข้อมูลของเว็บไซต์จัดหางานอย่างจ็อบไทย พบว่า องค์กร บริษัท ห้างร้านต่างๆมองหาคนทำงานในตำแหน่งดังกล่าวมากถึง18,000อัตรา
ตามด้วยอันดับ2 ช่างเทคนิค 9,600 อัตรา3 งานวิศวกร7,000อัตรา4.งานด้านการผลิต6,600อัตรา อันดับ5และ6คืองานบัญชี การเงิน และงานธุรการ ประสานงาน จำนวน 5,600 อัตรา
แต่คนทำงาน กลับสวนทางกัน เพราะ“มนุษย์เงินเดือน”มองหาและกรอกใบสมัคร ฝากประวัติทิ้งไว้มากสุด5อันดับแรก คือ ธุรกิจ การจัดซื้อ นำโด่งเป็นอันดับ1โดยมีอันดับ2งานด้านการผลิต2แสนราย อันดับ3 งานบัญชี การเงิน อันดับ4 ช่างเทคนิค และอันดับ5 งานด้านทรัพยากรมนุษย์
“จ็อบไทยมีคนฝากประวัติหรือรีซูเม่ไว้มากถึงหลักล้านราย แม้งานขายเป็นที่ต้องการมากสุด แต่แปลกใจไหมที่คนสมัครจริงและต้องการมากที่สุดกลับเป็นงานธุรกิจ จัดซื้อ มีมากถึง3.6แสนราย” เธอบอก
และเมื่อโลกย่างกรายสู่ยุคดิจิทัล อาชีพใหม่ๆที่เกิดขึ้น และเป็น“เทรนด์โลก”และ“ใกล้ตัว”คือการทำงานร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างคนยุคก่อน กับเจนเนอเรชั่น Y -Z ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และคนเหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมาก
“นี่จะส่งผลต่อวิธีการทำงานเจนฯX ซึ่งเป็นยุคก่อนหน้าเจนฯ Y และ Z ” เธอแจกแจง
เธอยังเห็นสอดคล้องว่า โลกซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล ปูไปสู่การค้นหาอาชีพ Data Scientist ซึ่งมีทั้ง Data Engineer, Data Analytic และอีกหลายอาชีพที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า Data ที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์บ้าง คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น เพื่อมาวิเคราะห์ข้อมูล และคนกลุ่มนี้จะต้องมีทักษะหรือSkillหลายอย่าง ใช้คอมพิวเตอร์คล่อง สื่อสารเป็นได้หลายภาษา วิเคราะห์ข้อมูลได้ และฉลาดพอที่จะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
โดยอาชีพดังกล่าว เป็นที่ต้องการในองค์กรยักษ์ใหญ่ของไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่คนมีความรู้ความสามารถจะสวมบทบาทนี้ในไทยมี“น้อยมาก”ทำให้ต้องมีการดึง“ต่างชาติ”มาร่วมงาน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม โดยเฉพาะในอนาคตที่จะมีการนำ“หุ่นยนต์”มาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น กลายเป็นประเด็นที่มีการตั้งคำถามกันบ่อยๆ ว่า หุ่นยนต์จะมาแทนที่แรงงานคนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะจากการติดตามข้อมูลในตลาดโลก เช่น ประเทศญี่ปุ่น นำหุ่นยนต์มาใช้เป็นในงานบริการมากขึ้น นอกเหนือจากหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคการผลิต อาทิ หุ่นยนต์พนักงานต้อนรับในธุรกิจต่างๆ เป็นต้น
“เมื่อเกิดนวัตกรรมใหม่สิ่งที่เกิดตามมาและมีคนถามบ่อยๆ คือหุ่นยนต์จะมาแทนแรงงานมนุษย์หรือเปล่า ซึ่งจากการติดตามกระแสโลกจะพบว่าโรงแรมในประเทศญี่ปุ่น นำหุ่นยนต์มาเป็นพนักงานต้อนรับ นี่เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะสะท้อนถึงอิทธิพลสิ่งใหม่ๆที่จะมาแทนที่การทำงานของมนุษย์” เธอบอกและว่า
อาชีพใหม่ๆที่เห็นเป็นเทรนด์ระดับโลก และอาจจะเข้ามาในไทย คือ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบโลจิสติกส์” หรือการส่งสินค้า อาทิ อาชีพ คนบังคับ“โดรน” (อากาศยานไร้คนขับ) นี่เป็นผลพวงจากค้าปลีกออนไลน์ที่ทวีความสำคัญมากขึ้น และยังมองไปถึงเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ
“เรื่องนี้ใกล้ตัวมาก เพราะหากทำได้จะทำให้อาชีพคนขับรถหายไป ตลอดจนอาชีพพนักงานชำระเงินในธุรกิจค้าปลีก ก็อาจลดน้อยลง เพราะโลกค้าปลีกมีอเมซอน โก (Amazon go) ที่ผู้บริโภคสแกนเครื่องอัตโนมัติชำระค่าสินค้าเอง ไม่ต้องมีพนักงาน"
นอกจากนี้ ยังคาดว่าในอาคตจะมีอาชีพแปลกๆมากมายบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องระวังให้ดี กับการหลอกลวงบนโลกออนไลน์ผ่านอาชีพเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีการทำงานอย่างรวดเร็ว การปั้นคนป้อนโลกธุรกิจดิจิทัลยังเป็นโจทย์ยาก เพราะการเรียนการสอนทุกวันนี้ก็“ผลิตคนทำงาน”ไม่ทันกับความต้องการตลาด
นอกจากเทรนด์ทำงานเปลี่ยน“คนทำงาน”ยุคนี้ก็พลิกโฉม เพราะแรงงานวันนี้ล้วนเป็น“เจเนอเรชั่นY-Z”การทำงานในองค์กรจึงต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกันระหว่างคน“ต่างสายพันธุ์”ด้วย
“เจนฯ Y-Z จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น เขาโตมากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว นี่จะส่งผลต่อวิธีการทำงานระหว่างเจนฯได้เช่นกัน"
ความท้าทายเหล่านี้ องค์กรและคนทำงานต้องปรับตัวอย่างไร“แสงเดือน”บอกว่า ฝั่งคนทำงานต้องเรียนรู้ตลอด พัฒนาทักษะให้เป็นที่ต้องการขององค์กร และภาษาอังกฤษจะต้องได้ เพราะจากการประกาศหางาน หากคนพร้อมด้านภาษาจะเป็นประโยชน์มาก
ฟากองค์กร ก็ต้องพัฒนาให้การทำงานร่วมกันของคนต่างเจเนอเรชั่นได้ หากลยุทธ์รักษาคนเก่ง นำดิจิทัลมาใช้ลดต้นทุน เพิ่มธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ
“ที่สำคัญต้องพัฒนาพนักงานให้มีทักษะตอบโจทย์ยุค4.0ได้ โดยความท้าทายที่รออยู่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานหรือ องค์กร คือต้องปรับตัวตลอด ต้องรับรู้การเปลี่ยน รู้นวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น”
------------------------
หลากมิติ “ฟรีแลนซ์”
เป็นคนรุ่นใหม่ที่เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ทำงานที่นิวยอร์ค สหรัฐฯ ทำให้เขาเห็นแนวโน้มของโลกการทำงานเปลี่ยนไป โดย “วสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์” ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Fastwork.com และโมบายแอพพลิเคชัน “Fastwork” จึงฉายภาพว่า
“เทรนด์โลกตะวันตก หรือกระทั่งสหรัฐเอง ตอนนี้ เกือบ 50%คนทำงาน(Workforce)เป็นคนทำงานอิสระหรือFreelance กระทั่งงานพิเศษ(Moonlight) ซึ่งเทรนด์นี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และคนเห็นความดีของอาชีพฟรีแลนซ์มากขึ้นเรื่อยๆ "
ในมิติของการทำงานฟรีแลนซ์ จะมีทั้งแบบทำเพื่อหารายได้เพิ่ม และเป็นฟรีแลนซ์แบบเต็มเวลา(Fulltime) เหตุผลที่คนหารายได้จากการทำงานอิสระ เพราะคนที่เติบโตขึ้น คนรุ่นใหม่เจเนอเรชั่น Y Z มองว่าสามารถหาเงิน “ผ่านอุปกรณ์” และเทคโนโลยีต่างๆได้โดยนั่งอยู่ที่บ้าน ต่างจากยุคพ่อแม่ยุคเบบี้บูมเมอร์(เกิด 2589-2507) ที่ทุ่มเททำงานสุดตัวเพื่อให้มีรายได้ การงานมั่นคง เพื่อนำเงินเหล่านั้นไปตอบสนองความต้องการและใช้ชีวิตแบบปกติ มีความสุข
ฝั่งนายจ้างเหล่าฟรีแลนซ์ ก็เปลี่ยน หากมองอดีตการในการจ้างงานขององค์กรหนึ่งๆ จะมีช่วง “ฝึกทดลองงาน” (intern) เรียนรู้นิสัย ปรับการทำงานให้เข้ากัน ก่อนที่จะว่าจ้างกันเป็นกิจลักษณะ
“การจ้างคนๆหนึ่งอาจทำให้เปลี่ยนแปลงเขายาก องค์กรจึงควรทำตัวหลวมๆไว้ ซึ่งพอมีอาชีพฟรีแลนซ์เข้ามา ก็ทำให้จ้างคนได้หลายสไตล์ ท่ามกลางเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จ้างเมื่อคุณต้องการ (On demand) และยังทำให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ(Overhead cost) เช่น การบริหารจัดการ ค่าโต๊ะ เก้าอี้ ค่าเช่าออฟฟิศ เป็นต้น”
นอกจากนี้ ฟรีแลนซ์ยังว่าจ้างได้ทั่วราชอาณาจักร เช่น คนกรุงเทพฯ ต้องการจ้างคนเชียงใหม่ให้ทำงาน ซึ่งอาจจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่า เป็นต้น
ทั้งนี้ ฟรีแลนซ์ที่มาพร้อมยุคดิจิทัล อาชีพยอดนิยมที่ตลาดต้องการจะเป็นงานด้านกราฟฟิก ที่ลึกลงไปมีทั้งออกแบบเว็บไซต์ ไลน์สติ๊กเกอร์ โฟโตช้อป วาดภาพประกอบ(Illustration), งานการตลาดดิจิทัล เช่น การสร้างคอนเทนท์ การโฆษณา การทำตลาดบนเฟสบุ๊ค การทำ SEO วิจัยตลาด ฯ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลแขนงต่างๆ
“ทุกอย่างบนโลก กำลังตอบสนองทรนด์ของคนส่วนใหญ่ ซึ่งหากมาดูจะพบว่าเปลี่ยนไปจาก 10-20 ปีก่อน เมื่อมนุษย์มีอวัยวะที่ 33 เพิ่มขึ้นมา คืออุปกรณ์มือถือ เทคโนโลยี ที่ใช้ตั้งแต่เด็กอายุ 10 ขวบ เป็นการเปิดโลกให้คนจำนวนมาก เมื่อลูกตา (eyeball) ส่วนใหญ่จ้องอยู่บนสมาร์ทโฟน การทำตลาดก็เปลี่ยนไป ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนที่ใหญ่สุดก็ว่าได้ และทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆเพิ่มขึ้นมา”
ขณะที่ผู้ประกอบการยุคเก่า ที่อยากต้องทำการตลาดในโลกยุคใหม่ ก็ต้องอาศัยฝีมือคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยคิดสร้างสรรค์กลยุทธ์ คอนเทนท์โดนๆ และเข้าใจกฎเกณฑ์ของโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงทำให้นักการตลาดเป็นที่ต้องการ และยังมีอาชีพวางแผนซื้อสื่อโฆษณาบนออนไลน์ เพื่อทำให้สินค้าและบริการไปโผล่บนหน้าเว็บไซต์และโซเชียลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายด้วย
ส่วนอาชีพแปลกใหม่ที่น่าสนใจ คือ การออกแบบสติ๊กเกอร์ไลน์ ซึ่งมีคนทำจำนวนมาก โดยในพอร์ตของฟรีแลนซ์ที่รับงานนี้ผ่านเว็บไซต์ fastwork.co มีเกือบ 1,000 รายแล้ว
สำหรับ https://fastwork.co/ เป็นแหล่งรวมฟรีแลนซ์มากถึง 5,000 ราย จากผู้สมัครเข้ามาเกือบแสนราย และมีงานหลากหลายหมวด เช่น กราฟฟิกและวาดภาพประกอบ, การตลาดและโฆษณา เว็บไซต์และการเขียนโปรแกรม ฯ โดยแนวโน้มทุกเดือนธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง 30% ซึ่งเป้าหมายของเขาต้องการให้ฟรีแลนซ์ในประเทศไทย ที่ต้องการอิสระในการทำงาน มอง Fastwork เป็นแหล่งสร้างรายได้สม่ำเสมอ
“ความท้าทายของการทำงานวันนี้ ฝั่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาดีขึ้น และเร็วขึ้นทุกวัน คำถามคือ เราพร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตหรือยัง และคนทำงานควรจะมีความเก่ง เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ หรือสเปเชียลลิตส์ ซึ่งจะเป็นคนที่ทำเงินได้มากกว่าคนที่เก่งหลายด้านหรือ Multi tasking”