ปั่นไลค์ใครได้ประโยชน์ทางการเมือง!!
ปั่นไลค์ใครได้ประโยชน์ทางการเมือง!!
การจับกุมแกงค์ชาวจีน พร้อมด้วยโทรศัพท์มือถือ และ ซิมการ์ดอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยว่ากลุ่มผู้ต้องหานั้น มีอุปกรณ์ดังกล่าวไว้เพื่อ "ปั่นไลค์" ซึ่งตอนแรกทุกคนก็มองไปที่การทำธุรกิจ เพราะยอดไลค์นั้นสำหรับคนที่ใช้เป็นย่อมนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางการค้า อย่างมหาศาล
แต่ดูเหมือนเรื่องจะไม่หยุดอยู่แค่นั้นเมื่อเช้าวันอังคารที่เป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมาระบุว่า นายกรัฐมนตรีสั่งขยายผลเรื่องดังกล่าว เพราะอาจจะเกี่ยวโยงกับการทำผิดกฎหมาย ทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง
สำทับด้วยคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีในช่วงบ่ายที่ พาดพิงไปถึง 6 ล้านไลค์ ซึ่งจะมองเป็นอื่นไปได้ยาก เพราะ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพิ่งฉลอง 6 ล้านไลค์ในแฟนเพจเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซ้ำยังบอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการทำโพลล์กดไลค์ รวมถึงแกงค์ปั่นไลค์ที่ถูกจับกุม
โดย "ประยุทธ์" บอกว่า "ปัดโธ่ ฉะนั้นคุณไม่ต้องมาไลค์ให้ผม เพราะผมไม่เชื่อหรอก ในวันนี้เงินจ้างได้หมด"
โฟกัสของเรื่องนี้จึงกลับมาที่การเมือง และการตั้งคำถามว่า การรับจ้างกดไลค์ทำได้หรือไม่ ทำแล้วมีประโยชน์อะไรได้บ้างโดยเฉพาะทางการเมือง และเป็นไปได้หรือไม่ที่ "แก๊งค์ปั่นไลค์" ที่ถูกจับกุมจะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าโลกสมัยใหม่นี้ ยอดไลค์ยอดวิวมิได้นำมาซึ่งความชื่นชมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังแปลงเป็นเงิน รวมถึงความเชื่อถือในแบรนด์ หรือสินค้าได้ หลายแฟนเพจทางเฟซบุ๊คใช้ยอดวิวเพื่อการันตีความน่าเชื่อถือของธุรกิจ หรือนำแฟนเพจที่มียอดไลค์สูงๆไปขายต่อเพื่อทำเงินต่อไป
ดังนั้นจึงเกิดธุรกิจ "ปั่นไลค์" ขึ้นมา โดยผู้ทำจะใช้เพียงโทรศัพท์มือถือที่มีซิมการ์ดระบบเติมเงิน ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนซิม และสร้างตัวตนปลอมๆขึ้นมา โดยธุรกิจนี้ในไทบยเกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว โดยใช้ต้นทุนที่ไม่สูงมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีคนเห็นมากขึ้นเมื่อค้นหาโดย Google หรือ Facebook
โดยการทำนั้นจะทำโดยสมัครไอดีหลายๆครั้ง ใช้ข้อมูลในการสมัครที่ต่างกัน โดยผู้จ้างจะให้ค่าสมัคร ไอดีละ 3 บาท ฉะนั้นหากคนหนึ่งทำขึ้นมา 20 ไอดี ก็เท่ากับกดไลค์ได้ถึง 20 ครั้งต่อคน ลูกค้าสามารถเลือกไอดีคนที่เข้ามากดไลค์ได้ อาจจะเป็นชาวต่างชาติ หรือเป็นคนไทย ทั้งสามารถระบุเพศหรืออายุก็ทำได้ สั่งให้เพิ่มไลค์ภายในวันเดียว หรือทยอยกดเป็นล็อตๆ เดือนละ 100,000 ไลค์ก็ได้ ซึ่งมีตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักแสนไลค์ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม "แกงค์ปั่นไลค์" ที่ถูกจับได้ที่ จ.สระแก้ว ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกดไลค์บนเฟซบุ๊คในประเทศไทย แต่น่าจะเกี่ยวกับ "ไลค์" บนแอพพลิเคชั่น "wechat" แอพพลิเคชั่นของประเทศจีมากกว่า โดยกระบวนการคือ การใช้โทรศัพท์มือถือและซิอมการ์ด เชื่อกับอุปกรณ์ต่อพ่วงและสร้างแอคเคาท์ปลอมขึ้นมา ผูกบัญชีกับแอป WeChat เพื่อใช้ประสานระบบสร้างเรตติ้งปลอม
โดยแล้วศูนย์กลางของบริษัทเหล่านี้จะอยู่ในระบบมีเดียของประเทศจีน เช่น บริษัท Click Farm หรือโรงงานปั๊มไลค์และคลิก
สอดคล้องกับที่ ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ธุรกิจที่เห็นคือการปั่นไลค์ติดตามแอพพลิเคชั่น wechat ของจีน เพราะ facebook ใช้ไม่ได้ในประเทศจีน ส่วน wechat นั้นให้คนกดไลค์และfollow ทำให้คนตาม และสร้างความน่าเชื่อถือ การปั่นไลค์เปิดโอกาสให้สร้างหน้าเพจและสร้างโอกาสทางธุรกิจ
"คำถามคือทำไมทำในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีการเปิดกว้าง และการเปิดซิมอาจมีช่องโหว่ ทำให้เกิดอาชีพรับทำบริการนี้ไม่ยาก ถ้าเทียบกับจีนที่ควบคุมเรื่องนี้เข้มกว่า ซึ่งน่าจะมีตัวแทนอยู่ที่ประเทศจีน"
"ภาณุ" ยอมรับว่าในประเทศไทยก็มีคนทำอาชีพรับจ้างไลค์และแชร์ใน เฟซบุ๊คแต่รายได้ไม่ค่อยเยอะ หากเปรียบในจีน รายได้จะเยอะกว่า
สำหรับนักการเมืองไทยนั้นที่ผ่านมาก็มีการใช้เฟซบุ๊คและมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก โดยนักการเมืองที่มีผู้ติดตามเกินล้านอาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี
"ชนัฐ เกิดประดับ" หรือ "อาจารย์บอมบ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวตนบนโลกออนไลน์ระบุว่า นักการเมืองไทยที่ใช้เฟซบุ๊คมีหลายวัตถุประสงค์ โดยบางคนก็ใช้เพื่ออัพเดทเสตตัส สื่อสารกับกลุ่มผู้ติดตาม ขณะที่บางคนโดยเฉพาะฝั่งที่ตรงข้ามรัฐบาล ก็มักจะใช้แฟนเพจเอาไว้ "แซะ" รัฐบาลและเปิดประเด็นทางการเมืองเพือ่ให้สื่อนำไปขยายต่อ รวมถึงตอกย้ำและทำลายฐานเสียงของรัฐบาล
ซึ่งนอกจากจะเปิดประเด็นแล้วคนกลุ่มนี้ยังใช้โซเชียลมีเดียสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะเมื่อวิพากษ์วิจารณ์สู่วงกว้างทำให้พวกเขามีตัวตน และการจะดำเนินการอะไรก็ไม่ง่ายนัก
ขณะที่กลยุทธ์ในการใช้เฟซบุ๊คของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "อาจารย์บอมบ์" มองว่าอาจเป็นเพราะกังวลเรื่องคดีทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือเล่นในประเด็นที่รุนแรงอะไรได้มากนัก อีกทั้งตัวเจ้าของเฟซบุ๊คเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการวาทะ การเมือง หรือกฎหมาย ดังนั้นหากโพสต์เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องมากๆก็อาจจะถูกมองว่าแอดมินเป็นคนโพสต์ให้ ดังนั้นการโพสต์จึงออกไปทางที่เป็นผู้หญิงที่น่าสงสารและถูกรังแก
อย่างไรก็ตามเขามองว่านักการเมืองของไทยใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่มียุทธศาสตร์หากเปรียบเทียบกับนักการเมืองต่างชาติ ซึ่งเข้าใจธรรมชาติของสังคมออนไลน์ที่ต้องให้เรื่องยากๆเป็นเรื่องสบายๆ เช่นที่บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทำ หรือย่าง ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่ใช้โวเชียลมีเดียสื่อสารกบประชาชน
สำหรับยอดไลค์ของแฟนเพจนักการเมืองนั้น เขามองว่าหากมียอดคนไลค์เยอะๆอาจจะมีผลทางจิตวิทยา แต่มีผลกระทบกับเรื่องข่าวสารที่ต้องการสื่อสารไปน้อย เพราะคนไลค์เยอะก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เสนอไปแสดงผลบนหน้าของผู้รับ
"ถ้าไม่จ่ายก็เห็นน้อย หรือถ้าจะมีไลค์เยอะก็มีไว้อวด แต่ไม่เห็น"
ขณะที่ถ้ามีคนเห็นเยอะตัวเนื้อหาที่แสดงออกไปก็ต้องดีพอเพราะในสังคมออนไลน์คนติดตามก็ฉลาดพอที่จะตรวจสอบตลอดเวลา
ด้านวิธีการตรวจสอบยอดไลค์ ว่าเป็นการปั่นขึ้นมาหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญให้สังเกตว่า หากเป็นการปั่นไลค์แอคเคาท์จะไม่มีการแอคทีฟ จะมีแค่กดไลค์แต่ไม่คอมเเมนท์ เร รวมถึง จะมีแต่ยอดไลค์ไม่มียอดฟอลโลว์ อย่างนี้ก็ผิดปกติ การกดไลค์กับคอมเมนท์จะต้องสัมพันธ์กัน หากตามเยอะๆ โพสต์หนึ่งครั้งน่าจะมีการพูดคุยค่อนข้างสูง วิธีดูคือต้องไล่ดูทั้งเพจว่ามีการสื่อสารกันมากขนาดไหน
ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ที่นายกฯรัฐมนตรีจับเรื่องนี้มาพูดอาจเป็นเรื่องการของการทำโพลล์ออนไลน์ ที่ขณะนี้แฟนเพจต่างๆนิยมทำ โดยให้คนที่จะเข้ามาร่วมแสดงความเห็นโดยการกดแสดงอารมณ์ในปุ่มไลค์ และมีบางแฟนเพจทำโพลล์เกี่ยวกับการเมืองเช่นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป หรือนโยบายใดที่ประชาชนชื่นชอบ ซึ่งปรากฏว่าอีกฟากฝั่งมักมีคะแนนเหนือรัฐบาลปัจจุบันอยู่เสมอ
ทำให้นี่อาจเป็นประเด็นซึ่งทำให้ ผู้มีอำนาจปัจจุบันไม่พอใจ
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากนักการเมืองปั่นไลค์ จนยอดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง รัฐบาลน่าที่จะสบายใจได้มากกว่า เพราะหมายถึงสารที่นักการเมืองต้องการสื่อถึงกลุ่มแฟนคลับจะไปไม่ถึง เพราะเป็นยอดไลค์ปลอมๆ ซึ่งหมายถึงการเสียเงินไปฟรีๆ มีเพียงความสบายที่ได้ยอดไว้อวดกลับมา
แต่ก็น่าสนใจว่าในวันที่มีการขยี้ประเด็นเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีก็พิจารณาเรื่องการใช้ ม.44 แก้ปัญหารถไฟไทยจีน ที่ถูกตั้งคำถามว่าเอื้อประโยชน์หรือไม่ รวมถึงมีการอนุมัติการจัดซื้อรถหุ้มเกราะจากประเทศจีนอีกด้วย