‘จักรกลไทย’ย้อนรอยวิศวกรรมนอก

‘จักรกลไทย’ย้อนรอยวิศวกรรมนอก

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จับมือสมาคมเครื่องจักรกลไทยโชว์ 6 เครื่องจักรต้นแบบสัญชาติไทยจากโครงการวิศวกรรมย้อนรอย ตอบโจทย์ของดี ราคาถูก สอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวม 14 ปีสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทันสมัยใช้ในเชิงพาณิชย์กว่า 150 ชิ้นงาน

นายปฐม สวรรค์เลิศปัญญา รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าโครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ด้วยมองว่า เครื่องจักรอุปกรณ์เป็นหัวใจของการผลิต ขณะที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่ามหาศาล และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นทุกปี การพัฒนาเครื่องจักรใช้เองภายในประเทศ จะช่วยลดการนำเข้าและนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรไทย

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีหรือสร้างเครื่องจักรอุปกรณ์ อาศัยหลักการดูดซับเทคโนโลยีต่างประเทศที่แฝงอยู่ในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่นำเข้ามาผ่านทางบุคลากรไทยด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยอย่างสร้างสรรค์ (Innovative Reverse Engineering) หรือที่เรียกว่าวิศวกรรมย้อยรอย ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างคุณค่าทางวิศวกรรมให้เกิดเป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และเหมาะสมกับไทย

รับเทรนด์สังคมอุดมวัยชรา

“ระบบลิฟต์เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุสำหรับบ้านพัก” ผลงานบริษัท อกรินโนเวท จำกัด ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบไม่มีห้องเครื่อง ทำให้ลิฟต์มีขนาดเล็กเหมาะติดตั้งในบ้านพักอาศัย ประหยัดพลังงาน ค่าบำรุงรักษาต่ำ ทำงานไม่มีเสียงรบกวน ควบคุมด้วยระบบสมองกลฝังตัว รองรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 250 กิโลกรัม ช่วยให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุในบ้านได้

“กลไกกายภาพบำบัดแบบเคลื่อนที่ได้” ของบริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด สำหรับผู้ที่บกพร่องการทำงานอวัยวะต่างๆ ที่ควบคุมโดยระบบประสาท เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การทรงตัว ออกแบบและพัฒนาด้วยการติดล้อด้านหลังของชุดกลไกกายภาพบำบัด เพื่อให้เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนหน้าจอแสดงผลยังสามารถเก็บข้อมูลพัฒนาการการเคลื่อนไหว มีเกมลดความเครียดหรือเบื่อขณะทำกายภาพ ช่วยลดภาระนักกายภาพบำบัดที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ลดการพึ่งพาอุปกรณ์กายภาพบำบัดจากต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสผู้ป่วยเข้าถึงการทำกายภาพบำบัดจากข้อจำกัดของอุปกรณ์ในโรงพยาบาล

โครงการทั้งสองมุ่งรองรับสังคมผู้สูงอายุ สนับสนุนการก้าวสู่ศูนย์กลางการให้การพำนักรักษาผู้ป่วยหรือเมดิคัลฮับอาเซียน ทั้งได้รับคัดเลือกเป็นส่วนหนึ่งใน 6 โครงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทยพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ ภายใต้โครงการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่าในปี 2560 เน้นเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ทันสมัยอำนวนความสะดวก และมีระบบสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

ส่วนอีก 4 โครงการ ได้แก่ เครื่องฉีดพลาสติกขนาดเล็ก เครื่องอบแห้งปั๊มความร้อนประหยัดพลังงาน ตู้พลังงานแสงอาทิตย์อเนกประสงค์และเครื่องแยกแก้วบรรจุภัณฑ์ความเร็วสูง

เร่งสร้างองค์ความรู้ไทย

“ตั้งแต่ปี 2546 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาสร้างเครื่องจักรใช้ในเชิงพาณิชย์กว่า 150 โครงการ การดำเนินงานเป็นการบูรณาการ 3 ภาคส่วนประกอบด้วยวท.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจะเป็นแหล่งทุนกำกับนโยบายสนับสนุนงบไม่เกิน 50% มีกลไกที่ปรึกษาทางวิชาการเป็นหน่วยบริหารจัดการโครงการ เช่น สถาบันไทยเยอรมัน สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานในสังกัด วท.และภาคเอกชนไทยที่ร่วมโครงการร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 50% มีตัวอย่างผลสำเร็จหลายโครงการที่เข้าสู่กระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและสร้างรายได้เข้าประเทศ” นายปฐมกล่าว

นายอนุชิต นาคกล่อม ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท เซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบ 2 โครงการ เครื่องจักรสำหรับการผลิต PCBA ราคาถูกสำหรับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบบ SMT (Surface Mount Technology) และหุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วนนาฬิกา ส่วนโครงการในปีนี้่คือ กลไกกายภาพบำบัดแบบเคลื่อนที่ได้ และ เครื่องคัดแยกแก้วบรรจุภัณฑ์ความเร็วสูง

“โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่ดีมาก เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ได้ทำงานและพูดคุยกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้โครงการที่นำเสนอบรรลุผลสำเร็จ ยกระดับมาตรฐานวิศวกรรมไทยให้ก้าวไปอีกขั้นโดยเทคโนโลยีที่เป็นผลงานคนไทย” นายอนุชิตกล่าว