เตือนภัย! 'คอลล์เซ็นเตอร์'
เตือนภัย..แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ "แฉ 6 วิธี" หลอกล่อเหยื่อ
ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา “กลุ่มมิจฉาชีพ” ที่ใช้วิธีสุ่มเบอร์โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงเหยื่อ หรือ ที่มักเรียกกันว่า “แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์” เริ่มกลับมาอาละวาดอีกครั้ง โดยมีทั้ง “แอบอ้าง” เป็น เจ้าหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ได้ทำการอายัดบัตรเครดิตหรือบัญชีเงินฝาก เพื่อให้เหยื่อตกใจ หลังจากนั้นก็จะหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินมา ทำให้ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.1213) ต้องออกมาเตือนประชาชนทั่วไปแบบถี่ๆ ว่าอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด
นอกจากนี้ในฟากของ กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร ได้ออกประกาศเตือนประชาชนทั่วไปว่าอย่าหลงเชื่อ แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ หรือผู้ที่แอบอ้าง ดังต่อไปนี้
- แอบอ้างว่ามีพัสดุส่งมาจากต่างประเทศ แต่ติดปัญหาด้านภาษีกับกรมศุลกากร และแจ้งให้จ่ายเงินเพื่อดำเนินการ ไม่เช่นนี้จะถูกเจ้าหน้าที่ยึดพัสดุ
-แอบอ้างว่า ได้ส่งของขวัญหรือของมีค่าต่างๆ มาให้ผู้เสียหายและให้รอรับการติดต่อจากบริษัทขนส่งสินค้า จากนั้นไม่นานก็จะได้รับการติดต่อจากบริษัทขนส่งสินค้าทาง e-mail และ โทรศัพท์โดยให้โอนเงินจำนวนมากไปยังบริษัทขนส่งสินค้าในต่างประเทศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าภาษีอากร
- แอบอ้างเอกสารใบรับรองที่มีการลงนามโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งได้นำเอกสารดังกล่าวมายื่นสอบถาม ณ ด่านศุลกากร จังหวัดหนองคาย
- แอบอ้างว่า เป็นสินค้าจากกรมศุลกากร และให้โอนเงินมัดจำหรือนัดให้ไปชำระเงินส่วนที่เหลือเพื่อรับสินค้า ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมศุลกากรขอยืนยันว่า การจำหน่ายสินค้าของกลางกรศุลกากร โดยวิธีถูกต้องจะเป็นการลงประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการเพียงวิธีเดียว และจะรับชำระเงิน ณ ที่ทำการศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น
การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมานานมากแล้ว ซึ่งกลโกงลักษณะนี้ ศคง.1213 ระบุว่า มิจฉาชีพมักจะสุ่มเบอร์โทรศัพท์ไปหาเหยื่อ และใช้ข้อความอัตโนมัติสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจให้กับเหยื่อ
บางครั้งก็แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ หลอกให้เหยื่อทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม เป็นเมนูภาษาอังกฤษ โดยแจ้งว่า ทำเพื่อล้างรายการหนี้สิน หรืออาจหลอกให้เหยื่อไปโอนเงินให้หน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้จะอาศัยความกลัว ความโลภ และความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อ โดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกลวงเหยื่อมีดังนี้
1.บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต โดยข้ออ้างที่นิยมมากสุด คือ หลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจและง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน
โดยมิจฉาชีพจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝาก เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือกระทำการผิดกฎหมาย โดยอาจมีเสียงอัตโนมัติ เช่น “คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตกับทางธนาคาร กด 0 เพื่อติดต่อพนักงาน” เมื่อเหยื่อตกใจ ก็จะรีบต่อสายคุยกับมิจฉาชีพทันที หลังจากนั้นจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่หากเหยื่อมีเงินค่อนข้างมากจะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ
2.บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่า เหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้นๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ
3.เงินคืนภาษี โดยข้ออ้างนี้จะถูกใช้ในช่วงที่ มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
4.โชคดีรับรางวัลใหญ่ โดยมิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
5.ข้อมูลส่วนตัวหาย ซึ่งเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวเหยื่อ โดยจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน เดือน ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการใช้บริการของเหยื่อ แต่แท้จริงแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ
6. โอนเงินผิด ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างนี้เมื่อมีข้อมูลเหยื่อค่อนข้างมากแล้ว โดยจะเริ่มจากโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่า ได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่า มีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรไปขอในนามของเหยื่อ
นอกจาก 6 วิธีดังกล่าวแล้ว อาจจะยังมีการแอบอ้างด้วยวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นกับช่วงเวลาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ดังนั้นผู้ที่สงสัยว่ากำลังถูกหลอกลวง สามารถโทรศัพท์สอบถามไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่าปล่อยให้มิจฉาชีพเหล่านี้มาล้วงเงินจากคุณได้!