กสทช.ขีดเส้น 30 วัน “เฟซบุ๊ค-ยูทูบ”แจ้งให้บริการโอทีที

กสทช.ขีดเส้น 30 วัน “เฟซบุ๊ค-ยูทูบ”แจ้งให้บริการโอทีที

กสทช. ประเดิมเปิดทีวีดิจิทัล –แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต แจ้งให้บริการ “โอทีที” ยันไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายได้ พบ“เฟซบุ๊ค –ยูทูบ”ยังนิ่ง ให้เวลา 30 วัน ขีดเส้น 22 ก.ค.นี้ ต้องจดแจ้งขอให้บริการโอทีที ชี้หากเมิน “ทำธุรกิจลำบาก” ย้ำไม่ปิดกั้นให้บริการ

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีมติให้การประกอบกิจการแพร่ภาพและเสียง Over The Top (OTT) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์“โอทีที” เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา  พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที  กำหนดแนวทางการกำกับดูแลกิจการดังกล่าว โดยระหว่างวันที่ 28  เม.ย.- 8 มิ.ย.2560 คณะอนุกรรมการฯ  ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง

            พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่าหลังจากเปิดรับฟังความเห็นแนวทางการกำกับดูแลบริการโอทีทีรวม  10 ครั้ง  ในการประชุมบอร์ด  กสท. วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ได้มีมติให้บริการโอทีที เป็นกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่  ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศฯ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง

            พร้อมให้ยกเว้น หรือไม่บังคับใช้ หลักเกณฑ์บางประการในกิจการโอทีที  กล่าวคือ ไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายได้ที่เกิดจากโอทีที  , ไม่บังคับใช้หลักเกณฑ์ มัสต์แคร์รี่ และมัสต์ แฮฟ  รวมทั้งไม่ต้องจัดผังรายการ

เปิดผู้ประกอบการแจ้งให้บริการ “โอทีที”

            วานนี้ (22 มิ.ย.) สำนักงาน กสทช. เปิดให้ผู้ประกอบการกลุ่มแรก ที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ รวม 24 ราย  ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช.อยู่แล้ว  เข้ามาแจ้งการเป็นผู้ให้บริการโอทีที  หลังจากกรอกแบบฟอร์ม 2 หน้า และส่งให้สำนักงาน กสทช. จะถือเป็นผู้ให้บริการโอทีทีทันที  ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทุกราย ยืนยันร่วมมือส่งเอกสารแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที  

            อย่างไรก็ตามวานนี้ กสทช.ได้เชิญผู้ประกอบการโครงข่าย หรือแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากกลุ่มแรก จำนวน 14 ราย  เช่น ไลน์ทีวี, ทรูวิชั่นส์ (ทรูวิชั่นส์ แอนิแวร์)  ,เอไอเอส เพลย์ ,ไพรม์ไทม์ ,โมโนแม็กซ์ , Doonee ,Viu , Kapook  มาชี้แจงแนวทางการแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที  โดยมีผู้ประกอบการ  11 ราย ยืนยันให้ความร่วมมือในการแจ้งเป็นผู้ให้บริการ  โดยนำเอกสารแบบฟอร์มกลับไปให้ผู้มีอำนาจเป็นผู้ลงนาม ต่อไป

ขีดเส้น “เฟซบุ๊ค-ยูทูบ”แจ้งภายใน30วัน

            พ.อ.นที กล่าวว่าการเปิดให้ผู้ประกอบการโครงข่ายอินเทอร์เน็ต แจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีทีวานนี้  กสทช.  พบว่าแพลตฟอร์มใหญ่  3  ราย  คือ เฟซบุ๊ค  ยูทูบ และเน็ตฟลิกซ์  ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ  โดย เน็ตฟลิกซ์  ได้ติดต่อขอหารือในเดือน ก.ค. นี้  

            อย่างไรก็ตามหลังจาก กสทช.เปิดให้ผู้ประกอบการแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที วานนี้ เป็นวันแรก กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการที่สำนักงาน กสทช. ส่งหนังสือให้มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน  หรือในวันที่ 22 ก.ค. 2560

            “ผู้ประกอบการที่ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ ตามเวลาที่กำหนด จะถือว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการภายใต้กฎหมาย ที่กสทช. ดูแล”

            สำหรับเฟซบุ๊คและยูทูบ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโอทีที  ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. เชิญมารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลแล้วเช่นกัน   พบว่าได้ส่งตัวแทนด้านกฎหมายร่วมประชุม  หลังจากนี้ กสทช. พร้อมที่จะหารือและชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลโอทีที กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ของทั้ง เฟซบุ๊คและยูทูบ  เพื่อให้ทั้ง 2 แพลตฟอร์ม แจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีทีในประเทศไทย

ย้ำไม่แจ้งให้บริการ“ทำธุรกิจลำบาก” 

          พ.อ.นที กล่าวว่าวานนี้ มีตัวแทนจาก สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC)  ได้เข้ามาหารือแนวทางการกำกับดูแลกิจการโอทีที   ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วว่าทุกขั้นตอนได้ เชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึง มิ.ย.รวม 10 ครั้ง  โดยสรุปใช้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศฯ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล  โดยไม่ได้ออกกฎหมายใหม่  และวานนี้เปิดให้ผู้ประกอบการมาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที เป็นวันแรก

            กรณีผู้ประกอบการที่เข้าข่ายโอทีที ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการภายในวันที่ 22  ก.ค.นี้  ถือว่าไม่มีตัวตนในระบบกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้อง  หลังจากนี้จะมีรายละเอียดด้านกฎหมายมากำกับอีกครั้งในกลุ่มที่ไม่แจ้งเป็นผู้ให้บริการ 

            “หาก เฟซบุ๊ค และยูทูบ  ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที ตามกำหนด  ไม่ได้บอกให้หยุดบริการและไม่มีแนวคิดให้แพลตฟอร์มหยุดบริการ เพราะจะส่งผลต่อผู้ใช้บริการ  โดยยังให้บริการได้เหมือนเดิม แต่การประกอบธุรกิจในไทยจะลำบาก  เพราะการให้บริการและการทำธุรกิจใช้กฎหมายดูแลต่างกัน  แต่ยังเชื่อว่าทั้งเฟซบุ๊คและยูทูบ จะปฏิบัติตามแนวทางการให้บริการโอทีทีของ กสทช.”

ดึง “55 ยูทูบ”ช่องฮิตขึ้นทะเบียน

          พ.อ.นที  กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ ได้กำหนดผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม 14 ราย  เป็นกลุ่มที่ต้องแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที  หลังจากนี้จะพิจารณาแพลตฟอร์มอื่นๆ เพิ่มเติม   อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้า จะเปิดให้  ยูทูบ แชนแนล  ช่องที่มีสมาชิกติดตามสูงสุด  55 ราย  เข้ามาแจ้งเป็นผู้ให้บริการโอทีที เป็นลำดับต่อไป

            ส่วนกลุ่มเฟซบุ๊ค แฟนเพจ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากนั้น ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์และแนวทางที่เหมาะสมในกำหนดการเป็นผู้ให้บริการโอทีที