‘ปีติภัทร คูตระกูล’ พิธีกรฝีปากเป็นเอก
ทักษะด้านการสื่อสารชัดเจนมากบวกกับความรักในอาชีพ ‘ปีติภัทร คูตระกูล’ ในวันนี้จึงติดโผพิธีกรแถวหน้าที่ความสามารถเปี่ยมล้น สร้างผลงานไว้มากมายทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์ โดยแจ้งเกิดจากพิธีกรรายการ Top Chef Thailand เรียลลิตี้แข่งขันทำอาหาร
“ปีติภัทร คูตระกูล” พิธีกรมากความสามารถแถมด้วยฝีปากจัดจ้าน สร้างผลงานไว้มากมายทั้งหน้าไมค์และหลังไมค์ กระทั่งเข้าตา “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับละคร กับการทาบทามให้ทำหน้าที่พิธีกรประกบ “ใบเฟิร์น” พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ ในรายการ One Party วาไรตี้เกมโชว์ หลังจากแจ้งเกิดจากพิธีกรรายการ Top Chef Thailand เรียลลิตี้แข่งขันทำอาหาร จากจุดเริ่มต้นที่เข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนักจัดรายการวิทยุ แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างต้องใช้ความพยายามและตั้งใจ
มากกว่าความฝัน
"ผมเคยสูญเสียความมั่นใจเพราะอุปสรรคตอนแรกที่เจอคือพูดติดอ่าง แต่พอพูดไปเรื่อยๆ ก็ดีขึ้น หมอเคยบอกว่า คิดเร็วกว่าพูด ผมรู้สึกว่ามันเป็นการเกร็งของกล้ามเนื้อ เคยมีอาการขณะอยู่บนเวทีเมื่อ 2 ปีที่แล้วในงานสยามพิวรรธน์ “ขอเชิญตัวแทนจากส...” พูดไม่ออกอยู่แบบนี้ประมาณ 5 วินาที วันนั้นเป็นพิธีกรเดี่ยวด้วย แต่ผมไม่ยอมล้มเลิกความตั้งใจในการทำหน้าที่เป็นพิธีกร ถ้าเป็นบางคนอาจหันหลังให้ไมโครโฟนไปแล้ว” แบม-ปีติภัทร ย้อนถึงเหตุการณ์ที่จะไม่มีวันลืม เพราะเขาเชื่อว่า การทำในสิ่งที่รักทำให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จเหมือนอย่างที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีพันล้าน บอกไว้ว่า “การทำในสิ่งที่รักจะทำให้คุณรีบกระโดดออกจากเตียงในตอนเช้า และจะไม่มีวันรู้สึกเกลียดหรือเบื่อหน่ายกับงานและนั่นก็คือประตูแรกของคำว่า ความสำเร็จ”
จากประสบการณ์ทำให้เรียนรู้ว่า การทำในสิ่งที่รักถ้าเจอปัญหาขนาดไหนก็จะไม่ล้มเลิกและจะพยายามฝ่าฟัน ฉะนั้น แม้จะติดอ่างหรือขายหน้า เขาก็ไม่ทิ้งความฝันพร้อมที่จะฝ่าฟันและมุ่งมั่นไปสู่การเป็นพิธีกรแถวหน้าเมืองไทยเหมือนกับพิธีการต้นแบบหลายๆ คนที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้าน เช่น ปัญญา นิรันดร์กุล เป็นโมเดลในเรื่องของเกมโชว์ ส่วนสัญญา คุณากร เป็นโมเดลในเรื่องของทอล์คโชว์ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา เป็นโมเดลด้านทอล์คโชว์เชิงลึก ส่วนโมเดลด้านงานอีเว้นท์ก็ต้อง พีเค-ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร
เส้นทางความสุข
บัณฑิตจากคณะบริหารธุรกิจภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ แทนที่จะเป็นนักธุรกิจหรือที่ปรึกษาทางธุรกิจเหมือนกับเพื่อนๆ แม้ว่าในวัยเด็กก็มีความฝันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เพราะ ภาพยนตร์เรื่องเจาะเวลาหาอดีต ( Back to the Future) อินกับบทบาทนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ชื่อ ด็อกเตอร์ เอ็มเม็ต แอล. บราวน์ ต่อมาช่วงมัธยมตอนปลายมีความคิดเรื่องนักบินเพียงเพราะดูเท่ แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเลือกตามเพื่อนคือ คณะบริหารธุรกิจ สาขาไฟแนนซ์ ส่วนพี่สาวเรียนคณะเดียวกันแต่เลือกสาขาธุรกิจระหว่างประเทศ
ปีติภัทรมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุค Gig Economy ที่ขับเคลื่อนด้วยรูปแบบการทำงานชั่วคราว
“ผมได้ทำงานตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 2 กับเทรเวล แชนแนล ทำหน้าที่พิธีกรรายการจึงมีโอกาสได้สัมผัสงานที่ไม่ต้องอยู่ในออฟฟิศ ได้ท่องเที่ยวไปโน่นไปนี่ ได้ค่าขนมประมาณ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ก็รู้สึกชอบแม้จะดูเหมือนไม่มั่นคงเมื่อเทียบการทำงานประจำ ช่วงนั้นใกล้ที่จะเรียนจบรู้สึกว่า ต้องเลือกเส้นทางชีวิตที่ต้องเดินต่อไปข้างหน้าแล้ว จึงปรึกษากับครอบครัว แล้วคำว่า “นักบิน” ก็กลับมาเป็นตัวเลือกอีกครั้งเพราะได้เที่ยวในหลายๆ ประเทศ งานมีเกียรติ มีบำเหน็จบำนาญ ครั้นพอมีทุนก็ตัดสินใจสมัครสอบ แต่พอสอบผ่านสำเร็จกลับไม่สามารถทิ้งงานประจำที่ทำอยู่ ซึ่งตอนได้ทำงานที่คลื่น GET 102.5 อีกคลื่น"
แม้จะสอบได้ แต่เขาเริ่มไม่แน่ใจเพราะรู้สึกว่า สนุกกับงานที่ทำอยู่ ทิ้งไม่ลง จึงโทรไปขอผ่อนผันเหมือนเกณฑ์ทหาร (หัวเราะ) เขาก็เข้าใจ เพราะรอบสุดท้ายของการสอบซึ่งมีนักจิตวิทยาจากสวีเดนมาสัมภาษณ์ เขาประเมินว่า ปกติหรือ ไม่ปกติ ได้สิทธิขอผ่อนผัน 2 ปี ระหว่างนั้นปีติภัทรขบคิดหาคำตอบให้กับตนเองทุกวันว่า ทางไหนใช่ สำหรับตนเอง นักบินหรือเส้นทางในวงการบันเทิง ประเมินหาออฟชั่น คุยกับคนทั้งวงการบันเทิงและนักบิน เช่น โจ เอเอฟ2-ภาณุพล เอกเพชร ที่ผันตัวไปเป็นนักบินตามความฝัน พยายามถามทุกคนให้มากที่สุดในทุกๆ ด้าน สุดท้ายใช้ใจถามใจตัวเอง คำตอบคือ เส้นทางสายบันเทิงซึ่งที่บ้านสนับสนุน
“คุณพ่อคุณแม่ก็รู้ว่า นิสัยของผมคงไม่เหมาะกับอาชีพนักบิน ซึ่งมีความเครียดสูง ต้องสอบทุก 6 เดือน มีกฎเกณฑ์เข้มงวด ท่านจึงสนับสนุนในสิ่งที่เหมาะสมและทำให้ลูกมีความสุขมากที่สุด แต่ย้ำว่า เมื่อตัดสินใจแล้วต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเส้นทางบันเทิงที่เลือกเหมาะมากกว่าอาชีพนักบิน”
4 ปีที่ผ่านมาหลังจากตัดสินใจเลือกแล้ว เขาพิสูจน์ให้เห็นว่า เดินมาถูกทางเพราะมีความสุขทุกครั้งที่ขึ้นเวทีจับไมค์ เอนเตอร์เทนผู้ฟัง ปัจจุบันการทำงานในวงการสื่อหลากหลายขึ้น จากดีเจ ลงเสียงโฆษณา งานพิธีกรรายการโทรทัศน์และอีเวนท์
“ข้อดีของการทำงานคือ ได้เรียนรู้ทุกวันแถมยังได้สตางค์ แต่ที่โรงเรียนเราจ่ายเงิน แต่ที่นี่เขาจ้างเราให้ทำงานแม้งานจะเยอะมากแต่ไม่มีความรู้สึกว่า เบื่อหน่ายอาจจะเป็นเพราะว่า รู้สึกสนุกกับทุกงานที่ทำมาก ได้เจอคนที่หลากหลายอาชีพและสถานะ ได้ท่องเที่ยว เป็นงานที่ทำแล้วไม่รู้สึกว่าทำงาน ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะเหมือนได้พักผ่อนทุกวัน”
ปัจจุบันปีติภัทรทำงานจัดรายการวิทยุ Get 102.5 พิธีกรรายการ Top Chef Thailand และกำลังจะเป็นพิธีกรรายการใหม่ One Party วาไรตี้เกมส์โชว์ รายการบันทึกท่องเที่ยว ช่อง 5 และ Travel Channel Thailand ด้วยความที่เป็นฟรีแลนซ์จึงสามารถรับงานได้หลายช่องควบคู่กัน นอกจากนี้ยังรับงานพิธีกร อีเวนท์และงานลงเสียงด้วย
ปีติภัทร บอกว่า ถ้าเทียบรายได้กับคนวัยเดียวกันที่ทำงานประจำอาจมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อเตือนสติตลอดเวลาว่า “อย่าพลุแตก”
สำหรับการรับมือความเครียดจากสถานการณ์ต่างๆ นั้น ดีเจแบมเคยเข้าคอร์สเวิร์คช็อปด้านทัศนคติ เพราะสนใจในศาสตร์เกี่ยวกับสมอง Neoro-Linguistic Programming หรือ NLP เรียนกับโค้ช Vasanth Gopalan ชาวสิงคโปร์ ได้ฝึกการสื่อสารตัวเองให้ถูกต้องก่อนสื่อสารกับคนอื่น ช่วยให้มีทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิตให้แข็งแกร่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากพื้นฐานครอบครัวทำธุรกิจ ทำให้เขาอยากทำธุรกิจแต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกกลัว เหมือนคนที่รู้เยอะแล้วกลัวไม่กล้า แม้จะเรียนมาสายนี้ก็ตาม
“คุณพ่อเป็นนักธุรกิจ ชอบความเสี่ยง มีความกล้าที่จะลงทุน ส่วนผมไม่ได้ความกล้าในส่วนนี้มาเลย ซึ่งนิสัยนี้เป็นมาตั้งแต่เด็ก ยกตัวอย่างเวลาเล่นสไลเดอร์กับพี่สาว ผมก็จะคิดแล้วคิดอีก ขณะที่พี่สาวเล่นไปแล้ว 5 รอบ ผมก็ยังยืนอยู่ที่เดิม (หัวเราะ) บ่งบอกให้เห็นว่า ผมไม่ชอบความเสี่ยงในทุกๆ ด้าน การพนันทุกอย่างไม่เล่น หรืออะไรที่ต้องขึ้นอยู่กับดวงจะไม่ทำ”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงประสบความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพที่รักด้วยจากความมุมานะ ฝึกฝน เรียนรู้และสั่งสมทักษะความสามารถ ไม่ใช่ความสำเร็จที่มาจากโชคช่วย
“การทำทุกอย่างด้วยความสามารถ ผมก็เลยเข้าข่ายอยู่ในคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ หรือเพอร์เฟ็กชันนิสต์” นิยามตัวตนของพิธีกรมากความสามารถที่ชื่อ แบม-ปีติภัทร