บิ๊กเครื่องดื่ม “ลุ้นภาษีใหม่” สะเทือนธุรกิจ 5 แสนล้าน 

บิ๊กเครื่องดื่ม “ลุ้นภาษีใหม่” สะเทือนธุรกิจ 5 แสนล้าน 

นับถอยหลัง “16 ก.ย.60” ดีเดย์บังคับใช้ภาษีสรรพสามิตใหม่ ธุรกิจเครื่องดื่ม มูลค่ากว่า 5 แสนล้าน ลุ้นตัวโก่ง ! หวั่นต้นทุนพุ่ง-ลดบริโภค งานนี้ “ใครได้-ใครเสีย?”ไปฟัง“บิ๊กธุรกิจ” ให้ทัศนะ

ภายใต้การนำของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศ 3 ขวบปี มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น เพื่อยกระดับประเทศให้ก้าวไปอีกขั้น

โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญ ของการ “ปฏิรูปประเทศ” คือการ ปฏิรูประบบภาษี ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ยกกระบิ รวบกฏหมาย 7 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต กฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายว่าด้วยยาสูบ กฎหมายว่าด้วยไพ่ กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต และกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา มารวมอยู่ในฉบับเดียว ด้วยเหตุผลเพื่อให้การจัดเก็บภาษีมีความทันสมัย เป็นธรรม โปร่งใส ยิ่งขึ้น

โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ฉบับใหม่นี้ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเตรียมที่จะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือในวันที่ 16 ก.ย.นี้

ซึ่งระหว่างนี้ กระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างการพิจารณา ออกกฎหมายลูกหลายฉบับ” ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆลึกถึงแนวทางการจัดเก็บภาษี

ภาษีสรรพสามิตที่กำลังจะคลอดออกมา โดยเนื้อหาหลักนอกจากจะเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีจากราคา ณ โรงงาน เป็นราคาขายปลีกแนะนำ ภาษีสรรพสามิตฉบับดังกล่าวยังจะปรับโครงสร้างภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือ ภาษีความหวาน” โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพผู้บริโภค ให้มีมาตรการควบคุมการเกิดกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง  เป็นต้น

การปฏิรูปภาษีสรรพสามิต แน่นอนว่าย่อมสร้าง ความตื่นตัว” ให้ภาคอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนภาษีอาจส่ง “ผลกระทบ” หลายมิติ ทั้งแผนธุรกิจ การลงทุน การปรับสูตรสินค้า รวมถึงวิธีการคำนวณอัตราภาษีใหม่  เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อมีเวทีเสวนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว “ภาคเอกชน” ซึ่งถือเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง จึง “อดไม่ได้” ที่จะสะท้อนความคิดเห็นสู่ภาครัฐ เพื่อหวังให้รัฐนำความคิดเห็นนี้ไปประกอบในการกำหนดกฎหมายลูก รองรับพ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องการให้รัฐ “เร่ง” ประกาศอัตราภาษีให้ทราบภายในเดือนมิ.ย.ก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ในกลางเดือนก.ย. โดยวิงวอนเป็น “กรณีพิเศษ” เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเออร์เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องนำอัตราภาษีใหม่ ไปประกอบการวางแผนธุรกิจในอนาคต

ขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการยัง “กังขา” กับนิยามของคำว่า “สถานบริการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในบัญชีแนบท้าย ตอน 17” ตอนหนึ่งระบุว่า “ไนท์คลับ ดิสโกเทค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้รวมหมายถึงสถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24 นาฬิกา” นั้นครอบคลุมแค่ไหน 

ส่วนผู้แทนจากอุตสาหกรรมยาสูบ มองถึงผลกระทบจากภาษี ต่อพฤติกรรมการบริโภคสินค้า เช่น อาจนำไปสู่การ “ลด ละ เลิก” หรือเปลี่ยนไปบริโภคสินค้าประเภทเดียวกันแต่ “ราคาถูกกว่า” แทน พร้อมห่วงใยการสำรวจราคาขายปลีกแนะนำของภาครัฐที่จะนำมาใช้เป็น “ฐานคำนวณอัตราภาษี” ว่าจะใช้สูตรคำนวณอย่างไร เป็นต้น

ขณะที่ความเห็นของ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม”  ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ สะท้อนจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มี มากกว่า 5-5.5 แสนล้านบาท”  แบ่งเป็น มูลค่าตลาดรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เบียร์ประมาณ 2 แสนล้านบาท สุราประมาณ 1 แสนล้านบาท และยังมีไวน์ สปาร์กกลิ้งไวน์ และอื่นๆอีก ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่าตลาดรวมประมาณ 2-2.5 แสนล้านบาท พวกเขามีปฏิกิริยาต่อภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่อย่างไร ในมุมผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาขายสินค้า จนนำไปสู่การ “ลดการบริโภค”หรือไม่ อย่างไร ไปฟังทัศนะ ! 

อย่ากังวล คือ วรรคทองของ ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบียร์ไฮเนเก้น เมื่อกล่าวถึงภาษีสรรพสามิตใหม่ โดยให้เหตุผลประกอบว่า การคำนวณภาษีตามราคาขายปลีกแนะนำ ไม่ได้น่าเป็นห่วง เพราะเป็นเรื่องที่ “ผู้ผลิต” จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งโดยหลักการจะจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริกาคราคาเท่าไหร่ จะต้องสะท้อนจาก ต้นทุนการผลิต" อยู่แล้ว โดยเชื่อว่ารัฐจะไม่นำราคาขายปลีกในสถานประกอบการที่ขาย“แพงมาก”มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี 

ขณะที่กรมสรรพสามิต ก็ย้ำมาตลอดในหลักการว่า ไม่ต้องการ “เพิ่มภาระภาษี” เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตโดยรวมจะใกล้เคียงของเดิม เพียงแต่ครั้งนี้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดคำนวณเท่านั้น

ส่วนเรื่อง “ใบอนุญาตขายสุรา” ที่เดิมเคยมี 7 ประเภท จะรวบเหลือ 2 ประเภท ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตค่อนข้างไม่ต่างกัน และจะถูกจำกัดความปริมาณจำหน่าย ทำให้ “รายเล็ก” ที่จำหน่ายสินค้าน้อยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใกล้เคียงกับ “รายใหญ่” ที่จำหน่ายเยอะ! ตรงนี้คงต้องรอดูว่าภาครัฐจะหาทางออกอย่างไร เพราะอาจส่งผลให้เกิดการลักลอบจำหน่ายสินค้าได้ สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการเสียค่าใบอนุญาตแพง

กฎหมายปัจจุบันดีขึ้นมาเป็นลำดับ ส่วนจะดีและโปร่งใสเทียบเท่าสากลไหม ? ส่วนตัวมองว่าคงยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็ดีกว่าอดีต การปรับตัวของบริษัท(ไฮเนเก้น)เมื่อมีโครงสร้างการทำงานสากลอยู่แล้ว ต้องยอมรับว่าง่ายขึ้น

ด้าน ธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ระบุว่า การปฏิรูปภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ มีความคลางแคลงใจว่า รัฐจะใช้เป็นแนวทางในการจัดเก็บรายได้เข้ากระทรวงการคลังเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในเมื่อบทบาทหนึ่งของภาษีสรรพสามิตคือเป็นกลไกของรัฐในการควบคุมการบริโภคสินค้าบางชนิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เมื่อรัฐเคาะภาษีสรรพสามิตออกมาแล้ว จึงมีข้อกังวลร่วมเฉกเช่นผู้ประกอบกอบการอื่นๆในประเด็น” โครงสร้างราคา” รวมถึงบัญชีแนบท้ายพ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 เกี่ยวกับอัตราภาษี และอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาติขายสุรา 2 ประเภทในประเด็น เพดานภาษี"

อัตราภาษีสินค้าสุรา ซึ่งจัดเก็บทั้ง ตามมูลค่า คือราคาสินค้า และ ตามปริมาณ” คือดีกรีต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งภาษีใหม่นี้ เพดานอัตราตามมูลค่าลดลงจาก 50% เหลือ 30% เนื่องจากฐานราคาเปลี่ยนจากเก็บจากราคาขายส่งช่วงสุดท้าย มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ทว่าฝั่ง “ปริมาณ” เดิมเพดานเก็บ 400 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ปรับเป็น 1,000-3,000 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

เห็นชัดว่าขาปริมาณเริ่มทำงาน เพราะการจัดเก็บตามดีกรี สินค้าสุราที่มีดีกรีสูงๆก็เก็บมากขึ้น จุดนี้ดี แต่คำถามที่คือ อัตราภาษีที่จัดเก็บจริงนั้นเท่าไหร่” เป็นปมคำถามที่เขาไม่อยากก้าวล่วง แต่ก็ทิ้งโจทย์ให้รัฐไว้

“ผมว่าขาปริมาณต้องทำงานมากหน่อย ส่วนการจัดเก็บภาษีตามมูลค่า ก็ต้องเก็บเพื่อควบคุมการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ตรงนี้เข้าใจได้ไม่มีปัญหา”เขาย้ำ และขยายความประเด็นใบอนุญาตขายสุราที่กำหนดเพดานไว้ 20 ปี โดยประเภทที่ 1 จัดเก็บปีละ 1 แสนบาท ประเภทที่ 2 จัดเก็บ 5 หมื่นบาท ก็ต้องจับตาดูของจริงว่าการจัดเก็บจะสอดคล้องกับระยะเวลาไหม

“ปัจจุบันอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราต่างกัน 10-50 เท่า ประเด็นนี้ท่านอธิบดีบอกอย่าตกใจเพราะไปหารือในรายละเอียด แต่ต้องพูดสู่สาธารณะก่อน แม้จะไม่กระทบผู้ประกอบการโดยตรง แต่กระทบคนขายสุรา ทั้งโรงแรม ร้านค้าทั่วไป ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) เป็นต้น”

ขณะที่รอความชัดเจนมาพักใหญ่สำหรับ ภาษีความหวาน สำหรับผู้ประกอบการเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม ชูกำลัง ฟังก์ชันนอลดริงค์ น้ำผักผลไม้ และอีกหลากหลายหมวดหมู่ (แคทิกอรี) แต่ในการเสวนา “ภาษีความหวานกับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม” ที่ผ่านมา ได้คำยืนยันจาก ณัฐกร อุเทนสุต” ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตว่า 16 ก.ย.นี้ เตรียมบังคับใช้ภาษีความหวาน

เดิมกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีในวงการเครื่องดื่มอยู่ในส่วนของสินค้าที่เกินความจำเป็นต่อการบริโภค แต่เมื่อมีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องความหวาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหากลุ่มโรค NCDs รัฐจึงทบทวนการเก็บภาษีดังกล่าว และหาทางสร้างสมดุลด้าน “สุขภาพ” กับ “รายได้”

“บางครั้งถ้าจัดเก็บรายได้สูง สุขภาพจะสมดุลจริงไหม ประชาชนจะลดการบริโภคหวานจริงไหม นี่เป็นคำถามใหญ่ หรือผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนไปกินสินค้าอย่างอื่นที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีแทน หรือจะเป็นการชี้นำการจัดเก็บภาษีหรือเปล่า การเก็บภาษีความหวานไม่ง่าย เพราะต้องมองทุกมิติ มองผลกระทบรอบด้าน”

ขณะที่การจัดเก็บก็ต้องพิจารณาความหวานว่าต้องมาจากธรรมชาติหรือไม่ หากจัดเก็บเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (อาร์ทีดี) แล้วแบบผง ทรีอินวันฯ มาผสมดื่ม ซึ่งมีความหวานจัดเก็บหรือไม่ 

เมื่อได้ข้อสรุปว่าเครื่องดื่มจะถูกรีดภาษีความหวาน ที่ต้องติดตามหนีพ้น อัตราภาษี” ที่รัฐจะจัดเก็บคือเท่าไหร่ ซึ่งเบื้องต้น “ณัฐกร” มีร่างคร่าวๆว่าจะต้องคำนวณต้นทุน ค่าบริหารจัดการ กำไรมาตรฐานสินค้า ออกมาเท่าไหร่ ก็นำอัตราภาษีเข้าไปผนวกทั้ง “ตามมูลค่า” และ “ความหวาน” โดยไม่นำอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาคำนวณ

“ภายใต้กฏหมายใหม่ กลุ่มเครื่องดื่มที่จะได้รับผลกระทบ หนีไม่พ้นน้ำอัดลม ซึ่งถูกเก็บภาษีตามมูลค่าและความหวาน แต่น้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานจะต้องเสียภาษี เครื่องดื่มชูกำลังที่ปริมาณน้ำตาลมาก น้ำผักผลไม้ โดนหมด! หากไม่มีการปรับสัดส่วนความหวานตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด”  ณัฐกร บอกเช่นนั้น

ปฏิกิริยาของผู้ผลิตเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ หลังกฎหมายกระจ่างขึ้น จะเห็นว่า สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย หรือ TBA” ที่สมาชิกล้วนเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ทั้งไทยและอินเตอร์ เช่น โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่, คาราบาวแดง, ไวตามิ้ลค์, กระทิงแดง, เสริมสุข เป็นต้น ออกมาขานรับพร้อมบอกเล่า “ร่าง” พันธสัญญา ในการปรับสูตรเครื่องดื่มของบรรดาสมาชิกจาก 29 รายการ เพิ่มเป็น 69 รายการ การผลักดันสินค้าให้ได้รับตราสัญลักษณ์ ทางเลือกสุขภาพ” จาก 28 รายการ เพิ่มเป็น 109 รายการ ภายในปี 2565” คำบอกเล่าของ “ประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์  โฆษกสมาคมและรองประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย

“ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ต้องการเห็นกรอบเกี่ยวกับภาษีความหวานที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร เพื่อปรับตัวแต่ตอนนี้เข้าใจว่า 120% เป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตบอก คืออัตราการจัดเก็บภาษีความหวานมี 3 ระดับ คือเกิน10 แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร(มล.) 14-18 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มล. และเกิน 18กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มล. ขึ้นไป โดยผู้ผลิตรายใดมีสินค้าอยู่ในช่วงไหนก็ต้องไปปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ให้เรียบร้อย”

ระหว่างที่กฎหมายบังคับใช้ รัฐบาลได้ให้ผู้ประกอบการ“ปรับปรุงสูตร”เครื่องดื่มภายใต้กรอบเวลาระยะต่างๆ ดังนั้น 16 ก.ย.60-30 ก.ย.62 หากปรับสูตรต่ำกว่า 10 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มล. จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ลดภาษี จากนั้น 1 ต.ค.62-30 ก.ย.64 จะมีบทลงโทษ (penalty) และ 1 ต.ค.64- 30 ก.ย.66 ก็จะถูกบทลงโทษอีก จากนั้น 1 ต.ค.66 เป็นต้นไปก็จะถูกเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า

ทั้งนี้ เขายอมรับว่า การปรับสูตรเครื่องดื่ม ผู้ผลิตจะต้องสำรวจและทดลองตลาดด้วย เพราะอยู่ๆจะให้ลดปริมาณน้ำตาลจาก 10 กรัม มาอยู่ที่ 8 กรัม ในมุมของผู้บริโภคที่ “ชิน” กับการดื่มเครื่องดื่มนั้นๆมานานนับสิบปี เมื่อเปลี่ยนปุ๊บ รสชาติย้อมมีผลต่อการบริโภค 

“การลดน้ำตาลเลยเป็นปัญหากับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการออกสินค้าใหม่ เพราะผู้บริโภคที่เคยดื่มสินค้าแล้วอยู่ๆมีการปรับสูตร แต่โลโก้หรือแบรนด์ยังเดิม จะถูกมองว่าผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่” 

ดังนั้นการลดปริมาณน้ำตาลเป็นขั้นบันไดเพื่อปรับตัวจึงสมเหตุผล

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการบริโภคในโลก ยอมรับว่ามีการใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ภาษีความหวานกำลังถูกนำมาใช้ในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ส่วนยุโรป และประเทศที่เจริญแล้วต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ดังนั้นสินค้าจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ดังกล่าว

ด้าน "เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาว ย้ำว่า บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลัง และด้วยการทำตลาดในอังกฤษมากว่า 1 ปี รัฐบาลอังกฤษก็เตรียมจัดเก็บภาษีน้ำตาล (Sugar Tax) ในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยกำหนดอัตราภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 5 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มล. จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น 5 หรือ 10%

พอเราเข้าไปทำตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในอังกฤษก็รู้ว่ากฎหมายดังกล่าวผ่านสภาฯตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เราก็ปรับสินค้าให้มีความหวานน้อยกว่า 5 กรัม ตอนปรับก็ทำให้คู่ค้าดูด้วยว่าสินค้าที่มีน้ำตาลมากกว่า 5 กรัม และน้อยกว่า 5 กรัม รสชาติไม่แตกต่างกัน

ขณะที่ไทย เมื่อรัฐออกกฎหมายจัดเก็บภาษีความหวานตั้งแต่ 10 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มล. 

“อย่างนี้สบาย เพราะในอังกฤษคาราบาวทำได้น้อยกว่า 5 กรัม และเชื่อว่าในไทยบริษัทมีความสามารถที่จะปรับสูตรได้ ประกอบกับรัฐให้ปริมาณน้ำตาลสูงกว่าอังกฤษ 1 เท่าตัวด้วย”

-------------------------

พ.ร.บ.สรรพสามิตใหม่ 

รัฐย้ำเป็นธรรม-เป็นสากล” 

ในการสัมมนา “พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ ประชาชนได้อะไร” มีความเห็นของ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า การปรับปรุงภาษีสรรพสามิตเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ ที่ต้องการปรับลด-เพิ่มประเภทการจัดเก็บภาษี และปรับอัตราให้เหมาะสม เพราะของเดิมเน้นสินค้าผูกขาดบางรายการ ของใหม่ก็รับกับโลกการค้าที่เปลี่ยนแปลง และมีการควบคุมการบริโภคให้เหมาะสม รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นด้วยหรือ Ease of doing business

 “การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งนี้วัตถุประสงค์สำคัญคือต้องการให้เกิดความโปร่งใส่ ชัดเจน เป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการภายในและนอกประเทศ และทันเหตุการณ์การค้าโลก มีมาตรฐานสากล ตรวจสอบได้”

สมเดช ศรีสวัสดิ์ รองอธิบดี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดคือ ฐานภาษี” เดิมคิดจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม หรือราคา C.I.F. ที่บวกอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมาย มาเป็น ราคาขายปลีกแนะนำ” ซึ่ง พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้ความหมายว่า ราคาปลีกแนะนำที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหรือผู้นำเข้าประสงค์ให้เป็นราคาขายต่อผู้บริโภคทั่วไป

สิ่งที่เปลี่ยนเห็นชัดคือฐานภาษีเปลี่ยนแน่ เราต้องลดอัตราภาษีแน่ เพื่อให้ภาระภาษีเท่าเดิม เพื่อให้รอยต่ออัตราชำระภาษีใกล้เคียงของเดิม

ในมุมของนักวิชาการ มองการเปลี่ยนแปลงภาษีสรรพสามิตครั้งนี้หลากมิติ โดย “รศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ประชาชนจะได้อะไรจากภาษีนี้ ขึ้นกับภาครัฐร่างพ.ร.บ.ออกมาอย่างไร แต่ตัวบทกฎหมายกระทบแน่นอนคือ “ผู้ประกอบการ” ในฐานะเป็นประชาชนเช่นกัน

ส่วนกระทบอย่างไร ขึ้นอยู่กับลักษณะภาษี หากอัตราภาษีไม่สูงมากเกินไป ก็ไม่โยนภาระให้ประชาชน หากสูงไปย่อมถูกโยนไปที่ประชาชนโดยปริยาย ดังนั้นหลักคิดต้องมีการพิจารณา “ลักษณะการบริโภค” ของประชาชนด้วยว่าเป็นอย่างไร ระดับรายได้ จำนวนประชาชน เพราะนั่นคือมูลค่าที่ประชาชนต้องจ่ายไป

ขณะที่การคำนวณฐานภาษี ก็ต้องเป็นธรรม และส่งผลต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยควรเก็บอัตราภาษีที่น้อยในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี เมื่อเศรษฐกิจขาขึ้นค่อยเก็บมาก ให้เป็นไปตามหลักสากล

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองเป็นเรื่องของ “ราคาขายปลีกแนะนำ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการ เพราะตลาดสินค้าต่างๆมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว การแข่งขันสูง จะทำอย่างไรให้กฎหมายสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะประเด็นนี้สำคัญมาก เนื่องจากสร้างกลไกที่จะเก็บเงินเข้าคลังและนำไปพัฒนาประเทศต่อไป

ปัญญา สิทธิสาครศิลป์” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากร ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงกฎหมายภาษีและเห็น “ความพยายาม” ในการแก้กฎหมายดังกล่าวมานาน เมื่อพ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2560 คลอดออกมา ยกให้เป็นพ.ร.บ.ฉบับที่พัฒนา เป็นเหมือนเครื่องยนต์แอคทีพ ไฮบริด สามารถจัดเก็บภาษีได้ทั้ง เชิงมูลค่า และ เชิงปริมาณ ทำงานร่วมกันเป็นระบบเดียวกัน อีกทั้งมีประสิทธิภาพสูง 

“กฎหมายใหม่ทำงานง่ายขึ้น เพราะรวมทุกอย่างมาแล้ว”

แต่ข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวคือ “ภาคปฏิบัติ” และหากประชาชนอ่าน “นิยามกฎหมายใหม่” เกี่ยวกับราคาขายปลีกแนะนำ” ซึ่งผู้ประกอบการประสงค์จะขายสินค้า หากรัฐบาลบอกว่าผู้ประกอบการต้องการเสียภาษีเท่าไหร่ ก็ประสงค์ขายเท่านั้น อาจเป็นการ “เปิดโอกาส” ให้ประชาชนบอกว่าตัวเองอยากเสียภาษีเท่าไหร่ได้ แม้ว่าจะมีระบบล็อก โดยให้แจ้งราคาแท้จริง และเป็นไปตามกลไกตลาดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องการฝากถึงหน่วยงานรัฐคือ เมื่อตัวบทกฎหมายออกมาดีมาก เปิดให้กรมสรรพสามิตใช้อำนาจในการจัดเก็บภาษีอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ก็ควรนำกฎหมายนี้บังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนเสียภาษี แม้ว่าจริงๆแล้วประชาชนไม่อยากเสียภาษีเพิ่ม ก็ตาม แต่ถ้าจำเป็นต้องเสียๆเท่าๆกัน เพื่อความยุติธรรม ย่อมดีกว่าให้เกิดการเหลื่อมล้ำ

ภาษีสรรพสามิตหากผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเสีย ถือเป็นปัจจัยใหญ่มาก หากเกิดช่องให้สรรพสามิตเอาไปบริหารได้ จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการกลไกตลาดทันที เพราะภาษีที่ต่างกัน จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทันที เมื่อมีกฎหมายก็ควรดำเนินตามวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ ฝากถึงผู้ประกอบการว่า ภาษีสรรพสามิตใหม่เป็น “กฎหมายยุค 4G” มีวิวัฒนาการที่สามารถส่งรายงานอิเล็กทรอนิกส์ได้ หากยังคุ้นเคยระบบเก่าทำรายงาน บัญชีรายเดือนก็ต้องปรับตัว ส่วนภาษีความหวาน ก็ต้องเกาะติดว่ารัฐดำเนินการอย่างไร และปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ นำไปสู่การอยู่ในตลาดได้อย่างดี มีความได้เปรียบในการแข่งขัน