‘ประสาร' ส่องอาการศก.ไทย หวั่นอสังหาฯซ้ำรอยปี 40
"ประสาร" ส่องอาการศก.ไทย หวั่นอสังหาฯซ้ำรอยปี 40
วันที่ 2 ก.ค.นี้ ถือเป็นวันครบรอบ 20 ปี "วิกฤติต้มยำกุ้ง” ..วิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น อาจนึกภาพไม่ออกว่า สถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวเลวร้ายเพียงใด แต่สำหรับนักธุรกิจรุ่นเก๋าแล้ว คงไม่มีใครลืมเลือน แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้วก็ตาม
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แม้ภาครัฐบอกเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ออกจะดูสวนกับความรู้สึกของคนทั่วไป ในขณะที่โลกออนไลน์ มีข่าวลือแพร่สะพัดมากมายให้เตรียมรับกับวิกฤติครั้งใหม่ที่อาจมาเยือน ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า..
เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤติเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือไม่?
“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) บอกกับทีมข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เทียบกับ 20 ปีที่แล้ว เราแก้จุดอ่อนที่เป็นสาเหตุของวิกฤติคราวนั้นไปได้มาก แต่คงไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีวิกฤติขึ้นอีก และวิกฤติจะมาหรือไม่มา ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก หลายครั้งก็มาแบบที่ไม่รู้ตัว
"มองย้อนหลังในช่วงวิกฤติ ไม่ว่าประเทศใดก็แล้วแต่ มักสลับกันเสมอ อย่างระบบการเงิน ก็มักสลับกันระหว่างความเข้มแข็งกับวิกฤติ คือ เมื่อไหร่ที่เข้มแข็งไปถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วชะล่าใจ ประมาท ทำตามอำเภอใจ ก็จะเป็นบ่อเกิดของปัญหา และถ้าปัญหาพวกนี้สะสมมากขึ้น ก็นำไปสู่วิกฤติได้”
ประสาร เปรียบเทียบว่า ในวัยที่เริ่มมีอายุ คนมักนิยมไปส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ถ้าหมอตรวจเจอ “ติ่งเนื้อ” แม้จะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่เพื่อความสบายใจเขาก็จะตัดออกมา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Nip in the bud คือ รีบแก้ปัญหาก่อนจะลุกลาม
ถามว่าสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจไทย มีอะไรที่คล้ายกับช่วงวิกฤติปี 2540 บ้าง.. ประสาร บอกว่า แม้เราจะแก้ปัญหามาได้ไกลมาก แต่ไม่ควรประมาท เพราะเวลานี้เริ่มมีบางอย่างที่ส่งกลิ่นไม่ดี ซึ่งอาจไม่ได้สร้างปัญหาอย่างฉับพลัน แต่สะท้อนให้เห็นว่ามีความ “ไม่สมดุล” อยู่ หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นติ่งเนื้อ
“ก่อนต้มยำกุ้ง เป็นปรากฎการณ์เรื่อง เงินไหลเข้า เพราะเราไปกำหนดค่าเงินคงที่ แล้วใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงกว่าต่างประเทศ ทำให้ช่วงนั้นมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรกันมาก บางส่วนก็มาลงที่อสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งเวลานี้ กลิ่นที่คล้ายๆ กันก็คือเรื่องนี้”
ประสาร บอกว่า เริ่มเห็นโอเวอร์ซัพพลายของอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ ซึ่งคำว่า อสังหาริมทรัพย์ในที่นี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่บ้านหรือคอนโดมิเนียม แต่รวมไปถึงศูนย์การค้า-ชอปปิงมอลล์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะหลังๆ จะออกมาในทาง “มิกซ์ยูส” (อสังหาฯผสมผสาน) มีทั้งเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า รวมอยู่ด้วยกัน
เขามองว่า พวกนี้เป็นปรากฎการณ์ที่คนมีเงินในมือแล้วไม่รู้ว่าจะไปลงทุนอะไร ก็เลยมาลงทุนในอสังหาฯ กันมาก เป็นผลพวงของระบบการเงินที่เกิดจาก Spillover Effect ในตลาดการเงินโลก ถือเป็นอาการหนึ่งของความไม่สมดุล
“ผมอยู่ในวงการยัง งงๆ ว่า เดี๋ยวประกาศโปรเจกนั้นโปรเจกนี้ ก็สงสัยว่า สุดท้ายดีมานด์ (ความต้องการ) จะมาจากไหน ซึ่งพวกนี้ก็ต้องดูกำลังซื้อ และกลุ่มใหญ่ๆ ก็แข่งขันกันแรงด้วย”
โดยปัจจุบัน “ประสาร” นั่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับ กลุ่มเซ็นทรัล
ประสาร บอกว่า สาเหตุที่ ธปท. ต้องพูดถึงเรื่องเสถียรภาพบ่อยๆ เพราะอาการ “ความไม่สมดุล” เกิดขึ้นง่าย กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป ..วิธีป้องกันคือ อย่าปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป แต่การพูดเรื่องขึ้นดอกเบี้ยในเวลาแบบนี้ คนอาจมองว่าไม่เข้ากับสถานการณ์
ส่วนอีกเรื่องที่ ประสาร มองว่า มีความไม่สมดุลอยู่ คือ ระบบ “สหกรณ์ออมทรัพย์” ซึ่งระยะหลังสินทรัพย์โตเร็วมาก มีความเกี่ยวโยงในระบบการเงินมากขึ้น และระบบธรรมาภิบาลยังไม่เข้มแข็งนัก ซึ่งเขาแปลกใจจนถึงวันนี้ว่า..ทำไมคนที่รับผิดชอบจึงไม่จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ประสาร บอกว่า สมัยที่ยังเป็นผู้ว่าการธปท. เขาได้ชักชวนให้สหกรณ์เหล่านี้เข้ามาใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) เพราะทำให้ตัวสหกรณ์มีข้อมูลที่ใช้ปล่อยกู้แก่สมาชิกมากขึ้น ประเมินความเสี่ยงได้ดีขึ้น แต่จนถึงขณะนี้มีสหกรณ์เพียงไม่กี่รายที่เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร
“โดย Common sense เขาไม่น่าจะปฎิเสธ แต่การที่เขาปฎิเสธตรงนี้เหมือนมีกลิ่น เหมือนมีติ่งเนื้ออยู่ พวกนี้ในยามปกติที่ร่างกายยังแข็งแรงอยู่ ให้หมอตัดออกมานิดเดียว ร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ไม่รู้จะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่”
อย่างไรก็ตาม ประสาร มองว่า หากเทียบกับปัญหาของบริษัทเงินทุนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เขาเชื่อว่าปัญหาของสหกรณ์จะไม่รุนแรงขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้ก้อนเล็กๆ จากสมาชิกในองค์กร อย่างน้อยสหกรณ์ก็รู้ว่า ลูกหนี้สมาชิกมีเงินเดือน มีรายได้ เพียงแต่การที่ปฎิเสธไม่อยากรู้ข้อมูลว่า สมาชิกคนนี้เป็นหนี้กับรายอื่นหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ
สำหรับตัว “สถาบันการเงิน” ประสาร บอกว่า เวลานี้มีการกันสำรองที่สูงมาก เรียกว่ามีกลิ่นอยู่บ้าง แต่ยังสังเกตว่า ผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ ยังเป็นรุ่นที่ผ่านช่วงวิกฤติปี 2540 จึงน่าจะเข้าใจลึกซึ้งถึงขนาดของปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำให้เขาตัดสินใจกันสำรองในระดับที่สูงมากๆ
อดีตเวลาที่เห็นธนาคารพาณิชย์กันสำรองที่สูงแบบนี้ มักจะมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น การที่ธนาคารกันสำรองในระดับสูง แสดงว่าเขายอมรับปัญหาจึงได้กันสำรองให้เห็น ถือเป็นการจัดการปัญหา จัดการกับติ่งเนื้อก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้พัฒนาเป็นเนื้อร้าย อาจเพราะเขาเคยสัมผัสมาบ้างแล้ว
“ผู้บริหารรุ่นนี้เคยผ่านวิกฤติในครั้งนั้นมา ก็คงติดอยู่ในวิญญาณเขา จึงพอจะไปได้ซัก 1 รุ่น แต่เจเนอเรชั่นหลังๆ เริ่มไม่แน่ใจ เพราะคนที่ไม่เคยผ่านวิกฤติอาจจะชะล่าใจได้ เหมือนตอนโน้นที่เราบอกจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ก็ทำให้เราทำอะไรที่ออกไปในทาง extreme”
ประสาร ย้ำว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีภูมิต้านทานที่ดีในระดับหนึ่ง เพียงแต่ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะเกิดวิกฤติขึ้นอีกหรือไม่ เพราะวิกฤติในแต่ละครั้งมักมาในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ที่ทำได้เพียงป้องกัน และแม้จะตรวจเจอติ่งเนื้อบ้างก็ไม่ควรวิตกจริตจนเกินไป
สิ่งที่ต้องทำ คือ Nip in the bud มันออกไป !