ทุบ ‘เดอะมอลล์ รามคำแหง ’ผุดโปรเจคยักษ์
กลุ่มเดอะมอลล์ เตรียมรื้อ "เดอะมอลล์ รามคำแหง" ปั้นโฉมใหม่ "มิกซ์ยูส คอมเพล็กซ์" รับรถไฟฟ้าสายสีส้ม หนุนย่านการค้าบางกะปิ-รามคำแหง คึกคัก
นอกจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนภาคธุรกิจโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก คึกคักต่อเนื่องจากนี้แล้ว ยังมีโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.4 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี ซึ่ง “กลุ่มเดอะมอลล์” เจ้าถิ่นค้าปลีกย่านบางกะปิและรามคำแหง จะได้อานิสงส์จากทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เส้นทางลาดพร้าวสู่สำโรง และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินรามคำแหง 12 ที่ พาดผ่านหน้า
แน่นอนว่าเมื่อรถไฟฟ้าเปิดใช้บริการบนเส้นทางผ่านเหล่านี้ ภาคธุรกิจ สินค้าและบริการต่างๆ จะกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้นจากการหลั่งไหลของผู้คนเข้ามาทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย
โดยกลุ่มเดอะมอลล์อยู่ระหว่างเตรียมยกเครื่อง “เดอะมอลล์ 2 รามคำแหง” ครั้งใหญ่ ซึ่งจะมีการทุบทิ้งแล้วก่อสร้างใหม่ในรูปแบบ “มิกซ์ยูส” คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี
วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์ 2 โฉมใหม่ บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ จะเริ่มดำเนินการปลายปีนี้เป็นต้นไป เป็นการทำใหม่ทั้งหมด ขณะนี้คอนเซปต์แล้วเสร็จ 70-80%
พร้อมกันนี้ ยังวางแผนสร้าง “ย่านบางกะปิ” ซึ่งครอบคลุมอาณาเขต “ย่านรามคำแหง” ให้เป็นหนึ่งในย่านการค้าหลักเทียบชั้นย่านการค้าใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มมีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
ย่านบางกะปิ-รามคำแหง มีความโดดเด่นของความเป็นศูนย์ความรู้ เป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัย โดยมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ รามคำแหง และอัสสัมชัญ เรียกได้ว่าเป็น “แคมปัสทาวน์” ทั้งเป็นที่ตั้งของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่มีการแข่งขันกีฬารายการใหญ่มีผู้ชมนับแสนคน นับเป็นย่านที่มีศักยภาพสูง
“จะทำอย่างไรให้ผู้คนมาสนใจย่านบางกะปิมากขึ้น เราโตคนเดียวไม่ทำให้คึกคัก ต้องโตกันหมด”
ปีที่ผ่านมา เดอะมอลล์ ทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่ปรับปรุงสาขา “บางกะปิ” ทั้งการจัดวางโซนนิ่ง ปรับส่วนผสมสินค้าและบริการ เพิ่มพื้นที่กลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ กูร์เม่ต์ มาร์เก็ต การวางแนวทาง “อีเวนท์มาร์เก็ตติ้ง” ที่ดึงงานระดับอินเตอร์เนชั่นแนลมาสร้างสีสันมากขึ้น เรียกว่า สร้างให้มีศักยภาพเทียบเท่าศูนย์การค้าใจกลางเมือง รองรับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่มีความแตกต่างกัน เป็นการ “ดักกำลังซื้อ” ไม่ต้องเดินทางเข้าใจกลางเมือง ซึ่งอาจเสียส่วนแบ่งการตลาดระหว่างทางให้คู่แข่ง
อย่างไรก็ดี ในอนาคต ด้วยประสิทธิภาพของโครงข่ายคมนาคมทำให้การเดินทาง “เชื่อมต่อ” เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คนระหว่างพื้นที่มากขึ้น
โดยเฉพาะ “ย่านรามคำแหง” ซึ่งอยู่ใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ สามารถวางยุทธศาสตร์ธุรกิจโดยใช้ศักยภาพของทำเลดึงดูด “นักท่องเที่ยว” เข้าสู่พื้นที่มากขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับ “กำลังซื้อนอกพื้นที่” ที่จะมาพร้อมกับขบวนรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกันมาจากทุกทิศทาง
นับจากนี้เป็นช่วงแห่งการปรับธุรกิจอีกระลอกใหญ่ของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก รวมทั้งสินค้าและบริการต่างๆ จะช่วงชิงความได้เปรียบรองรับ “โอกาสมหาศาล” ที่กำลังถาโถมเข้ามาในอนาคตได้อย่างไร