จับตาเกณฑ์ใหม่คุม ‘หนี้ครัวเรือน’
จับตาเกณฑ์ใหม่คุม ‘หนี้ครัวเรือน’ สะเทือนสินเชื่อไร้หลักประกัน
การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมีสัดส่วนต่อจีดีพีในระดับใกล้ 80% ได้สร้างความกังวลใจให้กับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างมาก อีกทั้งจากการสำรวจของหลายหน่วยงานยังพบว่า คนรุ่นใหม่ มีสัดส่วนการก่อหนี้ที่รวดเร็วขึ้นและยังพบว่าระดับหนี้ไม่ได้ลดลงมากนัก แม้เข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ตาม
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ ธปท. ต้องกลับมาทบทวนกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อไร้หลักประกัน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเตรียมปรับเกณฑ์คุมสินเชื่อผู้บริโภคให้เข้มขึ้นของธปท. ว่า ธปท. เตรียมประกาศเกณฑ์ใหม่ที่เข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อผู้บริโภคภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะทำให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่ก่อหนี้เพิ่มอีก
ตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ระบุว่า เบื้องต้น ธปท. อาจกำหนดวงเงินสินเชื่อสำหรับผู้ถือบัตรเครดิตใหม่ไว้ในช่วง 1.5-5 เท่าของเงินเดือน ขึ้นกับฐานรายได้ของผู้ถือบัตร
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า หลังจากที่ได้หารือกับ ธปท. เรื่องการปรับเกณฑ์คุมสินเชื่อผู้บริโภค ทำให้ทราบว่า ธปท. จะเน้นที่สินเชื่อผู้บริโภคบางประเภทที่อยู่ในอำนาจที่ ธปท. สามารถเข้าไปคุมได้ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต และ นาโนไฟแนนซ์
ในขณะที่สินเชื่อผู้บริโภคบางประเภท เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่นอกขอบเขต ทั้งนี้จากการหารือในเบื้องต้นกับสถาบันการเงิน ธปท. อาจกำหนดให้ผู้ขอทำบัตรเครดิตรายใหม่ต้องมีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป และต้องถือบัตรเครดิตไม่เกิน 3 ใบ พร้อมทั้งกำหนดวงเงินไม่ให้เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน ในขณะที่ผู้ขอทำบัตรที่มีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท สามารถถือบัตรได้ไม่เกิน 5 ใบ และมีวงเงินน้อยกว่า 5 เท่าของเงินเดือน
“อดิศร เสริมชัยวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า มาตรการควบคุมสินเชื่อไร้หลักประกันของธปท. ที่จะออกมาในเร็วๆ นี้ อาจจะกระทบต่อการทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของธนาคารบ้าง เพราะในมาตรการนี้มีการควบคุมวงเงินการให้สินเชื่อ รวมถึงรายได้ของผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารไม่สามารถให้วงเงินเพิ่มลูกค้ารายเก่าได้ ขณะที่การอนุมัติรายใหม่ก็ต้องมาดูเรื่องเกณฑ์รายได้ ซึ่งขณะนี้ธปท. ได้สรุป หลักเกณฑ์ทุกอย่างไว้หมดแล้วแต่ยังไม่ให้มีการเปิดเผย
“ขณะนี้การเติบโตของสินเชื่อบุคคลก็ชะลอตัว หากมีมาตรการนี้ออกมาก็อาจจะทำให้สินเชื่อในกลุ่มนี้ชะลอไปอีกบ้าง อย่างไรก็ตามธนาคารก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้เพราะเป็นการควบคุมไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัวซึ่งเป็นผลดีกับลูกค้าในระยะยาว แต่นอกจากมาตรการการควบคุมแล้วควรจะมีมาตรการในการให้ความรู้เรื่องการเงินควบคู่ไปด้วย”
ในส่วนของธนาคารเมื่อมีมาตรการนี้ออกมาก็ต้องมีการปรับตัว ปรับแผนธุรกิจโดยไปมุ่งธุรกิจอย่างอื่น ที่ยังมีการเติบโตเช่นสินเชื่อบ้าน รวมถึงการมุ่งเน้นในกลุ่มลูกค้า ที่มีฐานรายได้สูงขึ้น ซึ่งธนาคารได้ปรับตัวมาสองถึงสามปีแล้ว จนปัจจุบันมีฐานลูกค้าสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกันเกิน 20,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งแล้ว
สำหรับภาพรวมสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน หรือ ครึ่งปีแรก อยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันบ้านบาทจากสิ้นปีก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1 พันล้านบาท จากสิ้นปีก่อนหน้า
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุด้วยว่า เกณฑ์ใหม่นี้จะกระทบกับการขยายธุรกิจของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี โดยปัจจุบัน เคทีซี มีลูกค้าถือบัตรของบริษัทอยู่ประมาณ 2.1 ล้านคน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 9% และมีปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลอีก 0.8 ล้านสัญญา
โดยฐานลูกค้าใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 6-7% ในปัจจุบัน ธุรกิจของบริษัทเน้นที่ลูกค้าระดับกลาง และใช้บัตรเครดิตเพื่อการหมุนเงิน คือ ซื้อสินค้าด้วยบัตรเครดิตและผ่อนชำระขั้นต่ำ ดังนั้นการปรับเกณฑ์ให้เข้มขึ้นจึงกระทบกับการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ของบริษัทในอนาคต
ฝ่ายวิเคราะห์บล.เคจีไอ ระบุอีกว่า การปรับเกณฑ์ใหม่ไม่ได้มีการปรับที่เกี่ยวกับธุรกิจของ บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLSและ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD
โดยธุรกิจบางส่วนของ เมืองไทยลิสซิ่ง และ ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เช่น นาโนไฟแนนซ์ ในขณะที่ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียน เช่น ทะเบียนรถ ทะเบียนมอเตอร์ไซค์ โฉนดที่ดิน และอุปกรณ์เกษตร อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่นซึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของ ธปท. ดังนั้น การปรับเกณฑ์ใหม่เพื่อคุมหนี้ครัวเรือนจึงจะไม่ส่งผลกระทบกับเมืองไทยลิสซิ่งและศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์
อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์เพื่อคุมสินเชื่อผู้บริโภคกดดันให้ราคาหุ้นของ เมืองไทยลิสซิ่ง และ ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ ร่วงแรงถึงประมาณ 8-10% ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ มองว่า ตลาดกังวลเรื่องนี้มากเกินเหตุ เนื่องจากธุรกิจของทั้งสองบริษัทอยู่ภายใต้กฎหมายที่เปิดโอกาสให้คิดดอกเบี้ยได้ถึง 15%