'สายการบิน'ขาดทุนหนักลุ้นต่อครึ่งปีหลัง
“สายการบิน”ขาดทุนหนักลุ้นต่อครึ่งปีหลัง
ในยามนี้..ต้องบอกว่าธุรกิจการบินของไทย ยังเป็นปีที่ต้องปรับตัวรับมือการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นไทยไลอ้อนแอร์ จากอินโดนีเซีย และ ไทยเวียตเจ็ท จากเวียดนาม ที่ต้องการเข้ามาช่วงชิงตลาดที่ยังมีแนวโน้มการเติบโต จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่รุนแรงนี้เองจะกลายเป็นตัวสะท้อนถึงการดำเนินงานและประสิทธิภาพในการเตรียมพร้อมรับมือคู่แข่ง เพราะถ้าสายการบินใดไม่ปรับตัวโอกาสที่จะเพลี่ยงพล้ำ และขาดทุนได้ อย่างการบินไทย และนกแอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ลูกกัน ประกาศผลประกอบการออกมาก็ต้องจับมือกันขาดทุนด้วยกันทั้ง 2 บริษัท
โดยบริษัทการบินไทย ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2560 ขาดทุนสูงถึง 5,211 ล้านบาทแม้ว่าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ปัจจัยที่ทำให้ขาดทุนในไตรมาสนี้มาจากราคาต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้นปรับเพิ่มขึ้นถึง 20.1%
นอกจากนี้ยังมีการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2,400 ล้านบาท, ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบิน 390 ล้านบาท และขาดทุนจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นในสายการบินนกแอร์ 428 ล้านบาท ส่งผลผลประกอบการครึ่งปีแรกบริษัทขาดทุน 2,054 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 3,078 ล้านบาท และอาจจะทำให้ผลประกอบการทั้งปีกลับมาขาดทุนอีกครั้ง หลังจากปีที่แล้วพลิกกลับมามีกำไร 15 ล้านบาท
ส่วน บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) บริษัทลูกของการบินไทย ไตรมาส 2/60 ขาดทุน 649 ล้านบาท ลดลง 12.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ต้องประสบกับปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศ
แม้ว่าบริษัทประกาศเพิ่มทุนรอบใหม่ 1,207 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ราคาหุ้นละ 1.50 บาท เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน ปรับปรุงฝูงบิน รวมถึงการขยายเส้นทางบินใหม่ แต่ก็ต้องรอดูว่าผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างการบินไทยจะใส่เงินเพิ่มทุนในครั้งนี้หรือไม่ หลังจากปฏิเสธการเพิ่มทุนในครั้งที่ผ่านมา เพราะยังไม่มั่นใจในแผนการปฏิรูปธุรกิจของนกแอร์ รวมทั้งการหาพันธมิตรใหม่ ซึ่งสุดท้ายคงต้งจับตาดูว่า กลุ่มไหนที่จะเข้ามาช่วยพลิกฟื้นกิจการของนกแอร์
ส่วนการบินไทยแอร์เอเชีย ของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 2/2560 ยังมีกำไร 170ล้านบาท ซึ่งลดลงถึง 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 13% หรืออยู่ที่ 4.7 ล้านคน แต่ก็ยังมีผลกำไรลดลงจาก ต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าโดยสารที่ลดลง 5% จากผลการแข่งขันที่รุนแรง
โดยไทยแอร์เอเชีย วางแผนกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลังจะเดินหน้าเปิดเส้นทางบินใหม่ในตลาดอินเดียมากขึ้นเพื่อรักษาการเป็นผู้นำในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ ก็ต้องดูว่าจะสามารถสร้างกำไรเพิ่มขึ้นให้กับบริษัทอย่างไร เพราะการรักษาการเป็นผู้นำสายการบินต้นทุนต่ำ อาจจะดูไม่แข็งแรงเท่ากับการสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งจะสะท้อนมาที่ราคาหุ้น AAV
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งไตรมาสที่ผลประกอบการในกลุ่มสายการบินค่อนข้างย่ำแย่ ซึ่งก็คงต้องรอดูอีก 2 ไตรมาส ที่จะเป็นความท้าทายของผู้บริหารธุรกิจสายการบิน จะสามารถบริหารจัดการต้นทุนและความเสี่ยง เพื่อให้มีกำไร หรืออย่างน้อยผลประกอบประกอบการทรงตัวได้อย่างไร ในท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขนาดนี้