สศค.ประเมินจีพีดีปีนี้จ่อขยายตัวดีกว่าคาด
"สศค." ประเมินจีดีพีปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าคาด หลังเศรษฐกิจไตรมาส 2 โตถึง 3.7% ชี้ศก.ไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐอีกหลายโครงการ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศค. ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2/60 ขยายตัว 3.7% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนกรกฎาคม ของกระทรวงพาณิชย์ขยายตัวมากกว่า 10% นั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.6% โดยมองว่า ในไตรมาส 3-4/60 เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่หลายโครงการเริ่มชัดเจน ประกอบกับมีงบประมาณกลางปีที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยืนยันว่า ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจน้อยมาก ซึ่งมองว่าปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่จะกระทบกับภาคเกษตรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งภาครัฐก็ได้ออกมาตรการดูแลและช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา ส่วนการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่ายังน้อย แม้มาตรการลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าในการดึงดูดใจการลงทุน มองว่า มาตรการดังกล่าวมีเงื่อนไขในเรื่องการส่งแผนงาน ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างดำเนินการให้กับสรรพากรรวบรวม ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ต้องเป็นห่วง เพราะกฎหมายดังกล่าวนั้นมีผลย้อนหลังให้กับเอกชนอยู่แล้ว
"เรื่องของจีดีพี จะถึง 4% ไหม ผมเองก็ไม่อยากบอก แต่ยืนยันว่า มันเป็นสัญญาณดีที่จะปรับขึ้น แต่ที่ไม่อยากประกาศ เพราะกำหนดการในการประกาศเป็นช่วงเดือนกันยายน 2560 ซึ่งผมอาจไม่ได้อยู่ประกาศแล้ว จึงไม่อยากบอกตัวเลขเพื่อเป็นการกดดันผู้ที่เข้ามารับตำแหน่ง" นายกฤษฎา กล่าว
ส่วนการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยนั้น จากข้อมูลผู้ลงทะเบียน รับสวัสดิการทั้งสิ้น 14.1 ล้านราย พบว่า มีผู้ผ่านเกณฑ์ 11.6 ล้านราย โดยพบว่า มีกลุ่มคนที่ไม่มีรายได้ 2.9 ล้านราย กลุ่มที่มีรายได้ 1-30,000 บาทต่อปี หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนประมาณ 7.3 ล้านราย และกลุ่มที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อหัวต่อปี หรือสูงกว่าเส้นความยากจน มีทั้งสิ้น 4 ล้านคน
สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น จะประกอบด้วย 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเติมสวัสดิการให้ตรงวัตถุประสงค์ และให้กับผู้มีรายได้น้อยจริงๆเท่านั้น รวมถึงการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้น จะเร่งหาแนวทางในการช่วยเหลือ โดยการเติมเงินและกับการทำงานเพื่อหารายได้ หรือเรียกว่า Negative Income Tax ซึ่งหากมีรายได้ก็จะเติมเงินให้มาก หากมีรายได้สูงกว่าจะเติมเงินให้น้อยกว่าเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ 2 ที่จะแจกเงินให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้น จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขการทำบัญชีครัวเรือน และต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบการลงทะเบียนในครั้งนี้ ยอมรับว่า จะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีตัวเลขที่น่าตกใจคือ ผู้ที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาเอกมาลงทะเบียนเกือบ 700 ราย และปริญญาโท 5,810 ราย ส่วนไม่มีการศึกษา 1.2 ล้านราย ทั้งนี้ ระดับปริญญาเอก ผู้ที่ได้รับสิทธิจะต้องตรวจสอบรอบคอบทั้งในเรื่องสินทรัพย์ เงินฝาก ที่อยู่อาศัย เนื่องจากบางส่วนพบว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก อาจไม่ได้ทำงาน และมีเงินในบัญชีไม่ถึง 100,000 บาท ซึ่งอาจได้รับสิทธิดังกล่าวไปด้วย เป็นต้น