รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 7 ปีที่รอคอย

รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน 7 ปีที่รอคอย

โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เริ่มเปิดหวูด เตรียมติดสปีดแล้ว หลังรอคอยมานาน 7 ปี "ประยุทธ์" นำทีมเซ็นสัญญาจีนรับงานแรก 2 สัญญา ไทยลงทุนเอง 1.7 แสนล้านบาท

          การไปเยือนประเทศจีนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  วันที่ 4-5 ก.ย.2560 นับเป็นการเยือนจีนอย่างน้อยครั้งที่ 4 แล้วนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีกว่า 3 ปี หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

          ครั้งแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ไปเยือนจีน คือ เมื่อวันที่ 22-23 ธ.ค.2557 ที่ครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมการบริหารรถไฟแห่งชาติจีน ที่สถานีรถไฟตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง และยังได้ดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงของจีนด้วย

          ครั้งนี้ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคี กับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน

          ไทยย้ำความร่วมมือหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์  สนับสนุนยุทธศาสตร์ Belt and Road  Initiative (BRI) และ Made in China 2025 ให้ประเทศและประชาชน ตามแนวเส้นทางสายไหมได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

t2

          นอกจากการลงนามร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน (พ.ศ. 2560-2564)    และลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังมีการลงนามสัญญา 2 เกี่ยวกับโครงการถไฟความเร็วสูงกทม.-นครราชสีมา ระยะที่  1         คือสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา  3,500 ล้านบาท   และงานออกแบบรายละเอียด จ้าง China Railway International Co.Ltd. และ China Railway Design Corporation วงเงินค่าจ้าง 1,706.8 ล้านบาท

          นับเป็นการออกสตาร์ทโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ไทยร่วมมือกับจีนอย่างเป็นทางการ หลังจากมีความพยายามมานานประมาณ 7 ปี นับตั้งแต่ยุคสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบความร่วมมือ ในส่วนของบทบาทการให้จีนลงทุนและสิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดินข้างทางรถไฟ มาจนถึงยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการปรับรูปแบบให้จีนร่วมทุนประมาณ 60% แต่ข้อตกลงไม่ลงตัว

          จนในที่สุด ก็ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลจะลงทุนก่อสร้างโครงการนี้เองด้วยงบ 1.79 แสนล้านบาท  โดยนำงบประมาณเพื่อใช้เวนคืนที่ดิน และงบก่อสร้างจะมีการกู้เงินลงทุน  และมีคำชี้แจงของกระทรวงคมนาคมในการดำเนินการอื่น ๆ คือ

          1.ไทยเป็นผู้พัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟและพื้นที่ด้านข้าง เพื่อให้มีรายได้กลับมายังภาครัฐ ซึ่งเบื้องวางแผนจะพัฒนาปากช่องเป็นพื้นที่นำร่อง

          2.การก่อสร้างโยธาต้องเป็นของผู้รับเหมาไทย

          3.วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างต้องใช้ภายในประเทศให้ได้มากที่สุด

          4.ต้องไม่มีการนำแรงงานก่อสร้างเข้ามาจากจีน ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นวิศวกรและสถาปนิก และ 5.ผู้ที่ขับรถไฟความเร็วสูงเป็นบุคลากรไทยนับตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ

          ส่วนเรื่องการหาผู้รับเหมาก่อสร้าง และระบบการเดินรถ จะมีการประมูลจัดหาต่อไป

          เส้นทางนี้มีระยะทาง 253 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 ความเร็วในการเดินรถ 250 กม.ต่อชม.ใช้เวลาเดินทาง 1 ชม. 17 นาที ค่าโดยสาร 80-535 บาท โดยคิดเพิ่ม 1.8 บาทต่อกม.

          คาดว่าปี 2564 มีผู้โดยสาร 5,300 คนต่อวัน และอีก  30 ปี หรือปี 2594 มีผู้โดยสาร 26,800 คนต่อวัน