โลกนี้อยู่ยากส์…ความจริงอีกด้านของเรื่องประกันภัย ที่สะท้อนกลลวงเพื่อหวังเงินสินไหม
ไม่ช้าเกินไปใช่ไหมที่ใครสักคนจะตื่นเต้นกับข่าววางยาฆ่าสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียน เพื่อเงินประกัน 5 หมื่นบาทของนักศึกษาแพทย์รายหนึ่ง
สพ.ญ.ภัทรนันท์ สัจจารมย์ ตัวแทนกลุ่มวอตช์ด๊อกไทยแลนด์ บอกว่า นี่คือกลเม็ดหวังเงินประกันจากบริษัทขนส่งสัตว์เลี้ยงที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นการผสมผสานหลายๆ องค์ประกอบ ทั้งความรู้ของคนทำ การสะท้อนสำนึกซึ่งมีต่อสัตว์ และนิสัยฉลาดแกมโกงที่ต้องการประโยชน์จากการทำประกันโดยไม่สนสิ่งอื่น
หวังเงินประกันจากสัตว์อาจเป็นเรื่องที่เพิ่งมีหลักฐานก็จริง แต่เรื่องลูกค้าวางแผนหวังเคลมทรัพย์สินจากบริษัทประกันไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์สแน่ๆ เพราะนี่คือความหัวหมอ ฉลาดแกมโกง จนกลายเป็นกลลวงป่วนประกัน แบบที่เรารู้จักกันดี
เขี้ยวเจอเขี้ยว
ถ้าลองค้นหาด้วยถ้อยคำว่า “ประกันภัยโกง” ก็จะได้ผลลัพธ์ยืดยาวจนนับกันไม่ไหว ทั้งจ่ายไม่ครบ เบี้ยวค่าสินไหมทดแทน การไม่แจ้งหมายเหตุข้อแม้ก่อนการทำสัญญา และอีก ฯลฯ จนบริษัทประกันมักถูกมองว่าเป็นธุรกิจเขี้ยวลากดิน ทว่าอีกมุมหนึ่งธุรกิจประกันภัยเองก็ต้องเผชิญกับบรรดาคุณลูกค้าตั้งท่ามาโกงไม่น้อยไปกว่ากัน
เมื่อการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าสินไหมระหว่างผู้ทำประกันและบริษัทประกันตกลงไม่ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อหาทางไกล่เกลี่ย เจรจาตกลง ตนุภัทร รัตนพูลชัย รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บอกว่า กรณีการตกลงกันไม่ได้ระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ และจนถึงขณะนี้ มีบันทึกกรณีที่บริษัทประกันภัยตกลงกับผู้ทำประกันไม่ได้ประมาณ 13,000 คดี และในจำนวนนี้มีทั้งลักษณะร้องเรียนบริษัทประกันภัยที่ไม่ทำตามสัญญา เช่นเดียวกับกรณีที่ฝั่งบริษัทประกันภัยร้องเรียนถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่น มีการเรียกค่าเสียหายเกินจริง ขู่กรรโชก การจัดฉากเหตุการณ์เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการประกัน
พนักงานเคลมประกันรถยนต์ของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง บอกว่า กลายเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วที่ต้องเจอลูกค้าจัดฉากรถชนเพื่อเอาเงินประกัน และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเงื่อนไขประกันภัยที่จำเป็นต้องมีคู่กรณี ดังนั้นการจัดฉากเกือบทั้งหมดจะเป็นลักษณะว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วสาเหตุมาจากความประมาทเลิ่นเล่อของเจ้าของทรัพย์เอง เช่น ถอยรถชนประตูบ้าน เปิดประตูชนฟุตบาท
“เจอมากสุด คืออ้างว่าถอยไปชนรถ เพื่ออยากจะเคลมทำสีกันชนรถใหม่ ตรงนี้ถ้าเป็นประกันที่ครอบคลุมอยู่แล้ว หรือเป็นชั้น 1 ผมก็จะไม่ถามอะไรมาก คือถ่ายรูป ทำบันทึก ออกใบเคลมส่งซ่อมแล้วจบ แต่ถ้าประกันในเงื่อนไขต้องระดับที่ต้องมีคู่กรณี บางคนเขาตกลงกันมาก่อนใครจะเคลม แล้วค่อยอ้างว่าถอยหลังไปชนอีกคันหนึ่งเพื่อหวังทำสีกันชนใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้ผมก็ต้องมาเทียบสี เทียบตำแหน่งของกันชนรถหน้ากับกันชนหลังว่าตรงกันไหม เราเห็นบางทีเราก็รู้ครับว่าจัดฉากแน่ๆ ก็ถามกลับไปว่า “พี่ชนกันได้ไงเนี่ย” คือเราก็ไม่เชื่อหรอก แต่เขาก็ไม่ยอม เราก็ทำเอกสารไป แล้วให้ฝ่ายที่พิจารณาตัดสิน ไม่งั้นคุยกันไม่จบ”
ขณะที่พนักงานบริษัทคนหนึ่ง ที่เคยจัดฉากอุบัติเหตุเพื่อเรียกร้องเงินประกัน มองว่า เมื่อเสียเงินค่าประกันไปจำนวนไม่น้อย ก็จะรู้สึกเสียดายถ้าไม่ได้ใช้บริการอะไรเลย และโดยธรรมชาติทุกคนก็อยากจะได้ประโยชน์จากการทำสัญญากันทั้งนั้น เมื่อรถมีรอยบุบ รอยขนแมวก็อยากจะลองเคลมดู
“เหมือนการเสี่ยงดวง ถ้าได้เคลมก็ดีไป ก็ได้ทำรถใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เคลมก็ช่าง ถือว่าลองดูก่อน ” เจ้าของรถกล่าว
กล(ไม่)ลวง ป่วนประกัน
วิธีการฉ้อโกงบริษัทประกันมีมานานแล้วและเป็นเรื่องที่สามารถทำคนเดียวจนเป็นขบวนการ เห็นกันจนชินและทำให้กลที่เคยลวง กลายเป็นกล (ไม่) ลวง แต่ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ในหลายรูปแบบ
เริ่มตั้งแต่การตั้งใจขับรถชนหรือเบียดกำแพงเพื่อต้องการเปลี่ยนกันชนหรือต้องการทำสีใหม่ หรือเรียกกันว่า “เคลมแห้ง” กรณีนี้มีให้เห็นกันทั่วไป ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อนอะไร และถ้าปีนี้ได้มีการเคลมไปแล้วจนส่งผลให้เบี้ยประกันสูงขึ้นในปีถัดไป ลูกค้าบางรายก็จะย้ายบริษัทประกันที่เบี้ยชำระต่ำกว่าแทน
หรืออย่างกรณีผู้เอาประกันเจตนาทำร้ายตัวเองแต่บิดเบือนให้เป็นอุบัติเหตุเนื่องจากต้องการเงินสินไหมชดเชย อาทิ กรณีเสี่ยตัดนิ้วเพื่อเคลมประกันที่โด่งดังในอดีต ซึ่งมีการสืบหาข้อมูลได้ว่าเจ้าตัวมีการวางแผนทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) ไว้หลายบริษัท เป็นเงินรวมนับสิบล้านบาท
กรณีผู้เอาประกันเคลมเกี่ยวกับการเจ็บป่วยบ่อย โดยเฉพาะกรณีการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าปกติเพื่อหวังเงินสินไหมชดเชยรายวัน กรณีผู้เอาประกันมักเคลมเกี่ยวกับอุบัติเหตุบ่อยๆ จากอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ด้วยซ้ำ เช่น มีดบาดมือ น้ำร้อนลวก โดนเตารีด เป็นต้น เพื่อหวังเงินสินไหมชดเชย
เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้เอาประกันซื้อค่าชดเชยรายวันหรืออุบัติเหตุไว้สูงมาก กรณีผู้เอาประกันปกปิด ไม่แถลง (Non-disclosure) ข้อมูล แถลงข้อมูลเพียงบางส่วนหรือแถลงข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อหวังผลประโยชน์จากการทำประกันโดยอาจร่วมมือกับผู้รับผลประโยชน์หรือตัวแทนปกปิดข้อมูล
กรณีผู้เอาประกันมีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่าชดเชยหรือค่ารักษาได้หลายแห่ง การทุจริตเกี่ยวกับการเรียกร้องสินไหม เช่น การเรียกค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง หรือให้ผู้อื่นใช้สิทธิประกันแทนผู้เอาประกัน
กระทั่งกรณีคลาสสิกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอย่างการเผาเอาเงินประกันก็ยังมีเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งแม้บริษัทประกันจะรู้ทั้งรู้ว่าตั้งใจเผาเอาเงินประกัน แต่เมื่อขึ้นสู่ขบวนการในชั้นศาลแล้ว หลักฐานจากเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นตัวพิสูจน์ที่สำคัญสุดว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการจงใจหรือไม่ และมีไม่น้อยที่บริษัทประกันต้องจ่ายเงินตามแผนที่ลูกค้าวางไว้
ชัยรัตน์ แสงมณี ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท พรูเด้นท์ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยครบทุกประเภท บอกว่า กลวิธีเรียกร้องเอาเงินประกันมีหลายรูปแบบมากๆ จนคนในวงการมองเป็นเรื่องธรรมดาด้วยซ้ำ และบางกรณีก็เป็นเรื่องใช้จินตนาการสูง เช่น บางคนทำประกันไม้กอล์ฟ พอเบื่อแล้วก็แกล้งทำพังเพื่อขอเปลี่ยนใหม่ อยากเปลี่ยนไฟหน้ารถก็เอาหินทุบแล้วอ้างว่าถูกกระแทก
“กรณีเหล่านี้ถึงเราจะสงสัยแต่ถ้าไม่มีหลักฐานหักล้างก็ต้องยอมจ่ายไป แต่ก็มีบางกรณีที่บริษัทประกันเห็นใจลูกค้าเหมือนกันซึ่งถึงแม้จะมีหลักฐานว่าสาเหตุไม่เข้าเงื่อนไข แต่ก็พร้อมจะช่วยเหลือ เช่น การเสียชีวิต การเสียอวัยวะที่ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ”
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทำกันเป็นขบวนการ เช่น มีการนำรถเก๋งนับ 10 คัน ที่ทำประกันชั้น 1 ไว้ไปจัดฉากชนกับรถบิ๊กไบค์เพื่อเรียกค่าสินไหม กรณีอาศัยช่องว่างของกฎหมาย รับจ้างเรียกร้องเคลมสินไหมแทนผู้เอาประกันตัวจริง โดยขอกินเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักจะมีมูลค่าสินไหมที่สูง และบริษัทประกันไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะมาอย่างถูกกฎหมาย
จริยธรรม ประกันภัย
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่กลลวงเหล่านี้ถูกนำไปใช้ ในต่างประเทศก็มีกรณีความพยายามฉ้อโกงเพื่อเรียกเงินประกันเช่นเดียวกัน อาทิ เมื่อปีก่อนก็มีข่าวชายหนุ่มลูกชายมหาเศรษฐีชาวสวิสเซอร์แลนด์ ขึ้นศาลเพื่อไต่สวนความผิดว่าด้วยการว่าจ้างวางเพลิงรถหรูของตัวเอง หวังเคลมเงินประกันอัคคีภัยไปซื้อรถสปอร์ตคันใหม่ (A 20-year-old reportedly torched his Ferrari to get a better model-Business Insider)
มันจึงมีการพูดถึงศัพท์ที่คนในธุรกิจประกันภัยรู้จักกันดีอย่าง Moral Hazard ซึ่งหมายถึงภาวะภัยทางศีลธรรม หรือจะให้แปลเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากที่เคยตกลงกันไว้อย่างนึง แล้วทำอีกอย่างนึงซึ่งส่งผลเสียต่ออีกฝ่ายหรือทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบ
ดร.ดนัย ปัตตพงศ์ อาจารย์ภาควิชาบริหารธุรกิจ ม.เนชั่น ยกตัวอย่างว่า ถ้าเราไม่ทำประกันจะมีการขับรถอย่างระมัดระวังเพราะกลัวชน แต่พอทำประกันแล้ว แทนที่จะระวังเช่นเดิม กลับระวังน้อยลง เพราะคิดว่าชนแล้วก็เคลมประกัน ตอนตกลงกันมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง แต่พอทำไปแล้วกลับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ยังหมายถึงการทำประกันภัยจำนวนมากเกินกว่าที่บุคคลทั่วไปจะทำกัน ทำกับหลายๆ บริษัท เพราะลูกค้าเห็นเป็นช่องทางในการเอาประโยชน์ส่วนตัว และได้จงใจวางเพลิงเพื่อหวังประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย
“เวลาคิดคำนวนเบี้ยประกันภัย บริษัทประกันภัยจึงจําเป็นต้องนับรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนของลูกค้าเช่นนี้ และมีผลทําให้ค่าเบี้ยประกันภัยต้องสูงเกินจริง เพราะลูกค้ากลุ่มที่เป็นลูกค้าที่ดีจําเป็นต้องจ่ายเงินค่าประกันภัยในระดับที่สูงกว่าที่เขาควรจะจ่าย"
เมื่อมีการจ่ายเงินทำประกัน และคิดว่าตัวเองเสียเปรียบจากการทำสัญญานั้น หากมีช่องทางเมื่อไร กลลวงของการป่วนประกันเพื่อชิงความได้เปรียบจึงยังคงดำเนินต่อไป จะมีต่างก็แค่การเปลี่ยนรูปแบบใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ใครต้องสงสัย
ไม่กลายเป็นกล(ไม่)ลวง ที่ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป