'พรรคการเมือง' ต้องแต่งตัวรับกฎหมายใหม่ ก่อนลงสนามเลือกตั้ง
(รายงาน) “พรรคการเมือง” ต้องแต่งตัวรับกฎหมายใหม่ ก่อนลงสนามเลือกตั้ง
หลัง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้ เมื่อ 7 ตุลาคม วันถัดจากนั้น ถือว่าต้องเริ่มต้นนับหนึ่ง สำหรับ “พรรคการเมือง” ที่ต้องแต่งตัว ให้เข้ากับระบบและกติกาการเมืองเพื่อลงสนามเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญกำหนด
เหตุผลที่ต้อง “เริ่มนับหนึ่ง” เพราะตามบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.พรรคการเมือง ขีดกรอบไว้ให้ ทุกพรรคการเมือง ที่ได้จัดตั้งไว้แล้ว หรือ เตรียมจดทะเบียนใหม่ ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องให้เสร็จ ภายใน 90 วัน หรือ 180 วันตามกรณี หากทำไม่ได้ โดยไม่ขอต่อเวลา สถานของความเป็นพรรคการเมือง ต้องสิ้นสภาพ!! หรือ หมดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
กรณีแรก คือ การแจ้งจำนวนสมาชิกพรรคที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแตกต่างจากทะเบียนสมาชิกที่พรรคการเมือง ยื่นต่อ กรรมการการเลือกตั้ง ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม นั่นหมายถึงจะครบกำหนด วันที่ 5 มกราคม 2561 สาระของกรณีนี้ คือ การยืนยันตัวตนของผู้เป็นสมาชิกพรรค
แม้ขั้นตอน ยืนยันตัวตน พรรคการเมืองต้องเป็นกำหนดมาตรการพิสูจน์ขึ้นเอง แต่กรอบใหญ่ถูกขีดไว้ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย คือ อายุ 18 ปีขึ้นไป, มีสัญชาติไทย แต่ที่สูงกว่ากฎหมายเดิม คือ ไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนใด, ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ , ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่เกิน 10ปี, ไม่เป็นเป็นบุคคล ในวงข้าราชการ งานยุติธรรม พนักงานของรัฐ ที่ถูกสั่งให้พ้นตำแหน่ง หรือถูกคำพิพากษาลงโทษเพราะทุจริต ฉ้อโกง ฟอกเงิน ค้ายาเสพติด เป็นเจ้ามือหรือเจ้าของบ่อนพนัน รวมถึงค้ามนุษย์ ไม่เป็น ส.ว. หรืออดีต ส.ว.ที่พ้นตำแหน่งมาไม่เกิน 2 ปี
ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกมาก อาจเจอปัญหาและความยุ่งยากในการตรวจสอบ รวมถึงใช้เวลาที่เกินกว่า 90 วัน ดังนั้นในกฎหมายจึงอนุญาตให้ขยายเวลาตามจำเป็น โดยยื่นหนังสือ ต่อ กกต.
ขณะที่ในส่วนของค่าบำรุพรรคใน 180 วัน พรรคต้องให้ ผู้เป็นสมาชิกพรรค ไม่น้อยกว่า 500 คน ต้องชำระค่าบำรุงพรรค ขั้นต่ำ 50 บาท และให้แจ้งรายละเอียดพร้อมหลักฐานการชำระเงินต่อ กกต. ภายใน 15วันนับ
จากวันครบกำหนดเวลา ทั้งนี้ยังมีบทต่อว่าด้วยสมาชิกพรรคต้องชำระค่าบำรุงพรรค คือ ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ พรรคต้องเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิก จำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ซึ่งทุกคนต้องจ่ายขั้นต่ำคนละ 50 บาท
กรณีที่สอง กำหนดให้พรรคที่จัดตั้งแล้ว ซึ่งมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ให้จัดหาสมาชิกให้ครบจำนวน 500 คน ภายใน 180 วัน หรือ 4 เมษายน 2561 ซึ่งจะใช้กระบวนการเดียวกันกับการยืนยันตัวตน แต่ที่เพิ่มเติมคือ ต้องตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการเป็นสมาชิกพรรคอื่น และจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง เพื่อเริ่มต้นสถานะสมาชิกภาพ
กรณีที่สาม หาทุนประเดิม 1ล้านบาท จากการลงขันของผู้ร่วมก่อตั้งพรรค คนละ 1,000-50,000 บาท กรณีพรรคเก่าที่มีเงิน หรือ ทรัพย์สินอยู่แล้ว สามารถกันเป็นเงินทุนประเดิมได้ พร้อมแจ้ง กกต. ภายใน 180 วัน
กรณีสี่ ภายใน180 วันหรือไม่เกิน 4 เม.ย. 2561 พรรคต้องจัดประชุมใหญ่ เพื่อ 1.แก้ไขข้อบังคับ 2.ทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง 3.นโยบายพรรค รวมถึงเลือกหัวหน้าพรรค, เลขาธิการพรรค, เหรัญญิกพรรค, นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารพรรค เพื่อเป็นฝ่ายกำกับดูแลลูกพรรคและบริหารกิจการของพรรค ทั้งนี้การประชุมใหญ่ครั้งแรก มีกติกาต้องปฏิบัติ คือ มีหัวหน้สาขาไม่น้อยกว่า 4 สาขาร่วมประชุม, มีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 250 คนเข้าประชุมและได้สิทธิลงคะแนนแก้ไขข้อบังคับและเลือกหัวหน้าพรรค พร้อมกรรมการบริหารพรรค
กรณีห้า ใช้เวลาเดียวกัน คือ กรอบ 180 วัน ต้องจัดตั้งสาขาพรรค อย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ตามเงื่อนไข จัดตั้ง คือ มีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้น 500 คนขึ้นไป และต้องตั้งตัวแทนจังหวัด ตามเงื่อนไข คือ จังหวัดที่ยังไม่มีสำนักงานใหญ่หรือสาขาตั้งอยู่ แต่มีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งจังหวัดนั้น เกิน 100 คนขึ้นไป ทั้งนี้ระยะเวลา 180 วันนั้นรวมถึงการแจ้งรายละเอียด ต่อ กกต. ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเดิมมีสาขาพรรคอยู่แล้วให้ทำเพียงแจ้งยืนยันต่อกกต.
สำหรับกรณีที่ห้านี้ มีบทกำหนดให้ต้องทำอย่างครบถ้วน ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.!!
อย่างไรก็ดีเงื่อนไขนี้ ยังมีจุดผ่อนปรน เฉพาะการเลือกตั้งครั้งแรก กรณีที่พรรคตั้งสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดใดแล้ว แม้จะไม่ครบถ้วน ถือว่าได้สิทธิส่ง ผู้สมัคร ส.ส.ได้ทุกเขตเลือกตั้งของจังหวัด
สำหรับ กติกาที่บังคับให้พรรค ต้องมีสาขาพรรค และตัวหทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพราะถือเป็นกระบวนการขั้นต้นที่สำคัญ ต่อ การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องร่วมโหวตตามระบบของการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) ผ่านกระบวนการสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
ดังนั้นนอกจากที่พรรคการเมือง ต้องแต่งตัว ตาม 5 กรณี เพื่อให้พร้อมลงสู่สนามเลือกตั้งแล้ว ยังต้องมีกระบวนการสรรหา ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ ผ่านระบบไพรมารี่โหวต ซึ่งจะมีรายละเอียดตามที่เขียนไว้ในข้อบังคับพรรค และสอดคล้องกับเนื้อหาในพ.ร.ป.พรรคการเมือง
สาระสำคัญ ต่อการสรรหาผู้สมัครส.ส. คือ พรรคต้องตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร ประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรค ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสรรหา , หัวหน้าสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ส่วนจะมีจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับข้อบังคับพรรค หน้าที่สำคัญคือ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้าคัดเลือกเป็นตัวแทนพรรค และจัดแจงกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น
โดย กรณีหาผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการสรรหา ต้องประกาศรับสมัครผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้รายชื่อให้ส่งชื่อไปยังสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรค จากนั้นให้หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรค เรียกสมาชิกมาประชุมและลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ทั้งนี้กำหนดให้สมาชิกที่ประชุมระดับสาขาต้องไม่น้อยกว่า 100 คน ขณะที่ระดับตัวแทนพรรค ต้องมีสมาชิกร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เมื่อลงคะแนนเสร็จให้ นำชื่อผู้สมัคร ที่คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ส่งไปยังกรรมการสรรหา เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาลงมติเห็นชอบ
กรณีที่กรรมการบริหารพรรคมีข้อโต้แย้งให้ แก้ปัญหาด้วยการจัดประชุมร่วมระหว่าง กรรมการบริหารพรรคและกรรมการสรรหาเพื่อลงมติ แต่หากมติไม่ลงตัว ให้สาขาพรรคหรือตัวแทนพรรค ดำเนินการคัดเลือกใหม่
ส่วนการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะทำเช่นเดียวกัน แต่รอบนี้จะส่งชื่อผู้ที่สมัครเป็น ผู้ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้ง 150 คน ไปยังหัวหน้าสาขาหรือตัวแทนพรรค และให้สมาชิกพรรคที่เข้าประชุมลงคะแนนได้ไม่เกิน 15 รายชื่อ จากนั้นรวมคะแนนและให้ผู้ได้รับเลือกสูงสุดตามลำดับ เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรณีที่ หัวหน้าพรรค ต้องการลงสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะได้สิทธิเป็น ผู้สมัครลำดับที่1 ส่วนผู้ที่ได้รับเลือกให้เรียงตามลำดับถัดไป
แต่กรณีของ ไพรมารี่โหวต ในพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และมีสาขาไม่ครบทุกภาค ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการกำหนดบุคคลเป็น กรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง บทบัญญัติได้เขียนเพื่อหาทางออกไว้ให้ โดยกำหนดให้ กรรมการสรรหาฯ มี 11 คน ประกอบด้วย กรรมการบริหาร 4 คน และผู้ที่รับเลือกจากที่ประชุมหัวหน้าสาขาพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 7 คน กรณีที่พรรคมีหัวหน้าสาขาและตัวแทนพรรค ไม่ถึง 7 คน ให้เลือกสมาชิกพรรคไปเติมเต็มให้ครบจำนวน
อีกส่วนที่สำคัญ คือ การจัดตั้งพรรคการเมือง ขึ้นใหม่ ที่กำหนดให้กลุ่มบุคคล 500คนขึ้นไป ขอจดทะเบียนกับกกต. ตามเงื่อนไข คือ ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1ล้านบาท ได้จากการลงขันของผู้ก่อตั้ง คนละ 1,000-50,000 บาท , ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000คนภายใน1ปีนับแต่วันจดทะเบียน, ตั้งสาขาพรรค อย่างน้อยภูมิภาคละ 1 สาขา, ตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
ทั้งนี้กฎหมายเปิดช่องให้ คนที่ตั้งพรรคไม่น้อยกว่า 15 คน ยื่น “จองชื่อ – เครื่องหมายพรรค” ต่อกกต. ไว้ก่อนที่จะทำตามกระบวนการ อาทิ ทำข้อบังคับ, หากรรมการบริหารพรรค, หาสมาชิกพรรค ให้ครบตามจำนวน โดยมีเงื่อนไขให้ทำให้เสร็จ ภายใน 180 วัน หากทำไม่ได้ ถือว่าคำขอจดทะเบียนนั้นต้องยกเลิกไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.ป.พรรคการรเมืองประกาศใช้ และ ปฏิทินที่พรรคต้องเตรียมความพร้อมเริ่มนับ1 แต่ขณะนี้ทุกพรรคยังเตรียมอะไรไม่ได้ เพราะด้วยคำสั่ง คสช. ที่ห้ามไว้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจับตาว่า สิ่งที่พรรคต้องทำ ภายใต้เวลาที่มีจำกัด จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และ พรรคจะพร้อมลงสู่สนามการเมืองได้อย่างพร้อมเพรียงและยุติธรรม เท่าเทียมหรือไม่