ชำแหละ “บัตรคนจน” คืนชีพโชห่วย?

ชำแหละ “บัตรคนจน” คืนชีพโชห่วย?

“บัตรคนจน” หวังประโยชน์สองต่อ ต่อแรกจากเงินรัฐอัดฉีด 4 หมื่นล้าน เข้ากระเป๋าคนจน11.4 ล้านคน ต่อที่สองฟื้นชีวิตชีวาโชห่วย ดัน “เศรษฐกิจฐานราก” ต่อกรยักษ์โมเดิร์นเทรด เจตนาดี ทว่ายังมีปัญหาท้าทาย รอแก้ปมอีกหลายมิติ

หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทำให้ประเทศไทยต้องเปิดตลาดรับการลงทุนต่างชาติ เพื่อนำเม็ดเงินมาฟื้นเศรษฐกิจ กลายเป็นการเปิดช่องให้ค้าปลีกต่างชาติรุดเข้ามาทำตลาดในไทย ด้วยระบบการบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) สวนทางกับระบบการค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) หรือร้านโชห่วย ที่มีอยู่เต็มเมืองในขณะนั้น 

จนเกิดแบรนด์ค้าปลีกต่างชาติหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เจ้าของกลุ่มทุนคาสิโน จากฝรั่งเศส ก่อนจะขายกิจการในไทยให้เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผ่านบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ,คาร์ฟูร์ ทุนจากฝรั่งเศส ดำเนินธุรกิจในไทยผ่านการร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลรีเทลคอร์เปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) และคาร์ฟูร์เนเธอร์แลนด์บีวี ภายหลังขายกิจการให้กลุ่มคาสิโน และแม็คโคร ทุนจากเอชเอสซ กรุ๊ป ค้าส่งสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ภายหลังขายกิจการให้บมจ.ซีพีออลล์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ รวมถึงเทสโก้ โลตัส ถือหุ้นโดยเทสโก้ อังกฤษ ร่วมทุนกับซี.พี.ในขณะนั้น 

ยังรวมไปถึงร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ที่นำระบบการจัดการจากต่างประเทศ ขยายสาขาเป็นกองรบ ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อจากสหรัฐ ที่ซี.พี.ได้ไลเซ่นส์ดำเนินธุรกิจในไทย,แฟมิลี่มาร์ท แบรนด์ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่โดยซีอาร์ซี ฯลฯ ยึดหัวหาดตามหมู่บ้าน ร้านค้าชุมชน และตึกแถวทำเลทอง ทั่วทุกหัวระแหงของย่านที่มีคนหนาแน่น

เกิดเป็นยักษ์ใหญ่โมเดิร์นเทรด รุกคืบเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดค้าปลีก จนโชห่วยดั้งเดิมที่อยู่คู่ชุมชนมีอยู่กว่า 5 แสนราย (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ตั้งรับไม่ทัน ค่อยๆปิดกิจการลงต่อเนื่องเป็นแสนราย     

ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในปี 2555 ระบุว่า กลุ่มร้านค้าโชห่วยมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วน 50% ในปี 2553 และเหลือ 47%ในปี 2554และเหลือ 45% ในปี 2555 สวนทางกับการเติบโตของโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้นจาก 50% ค่อยๆ กลืนส่วนแบ่งทางการตลาดจาก 50%เป็น 55%ในปี 2555

ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ในปี 2560 ร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยมีสาขารวม 15,325 สาขา แบ่งเป็น ซูเปอร์มาร์เก็ต 448 สาขา ห้างดิสเคาท์สโตร์ 482 สาขา และห้างสรรพสินค้า 77 แห่ง รวมค้าปลีกสมัยใหม่มีทั้งสิ้น 18,504 แห่ง

กลายเป็นปมที่ทำให้เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ถูกตัดกงล้อเศรษฐกิจ เพราะถูกแบ่งรายได้ของคนฐานราก (โชห่วย) ไปใช้จ่ายให้กับยักษ์โมเดิร์นเทรด

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจฐานรากยังเดินอย่างเชื่องช้า สวนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีเกินคาด (อัตราเจริญเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ-จีดีพี ไตรมาสสองของปีนี้ ขยายตัว 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส หรือ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสองของปี 2556 ขณะที่ภาพรวมจีดีพีครึ่งปีแรกของปีนี้ ขยายตัว 3.5%) 

สาเหตุหนึ่งมาจากฟันเฟืองที่ที่เข้าไปเป็นเครื่องยนต์หมุนเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างโชห่วยถูกตัดขาด เพราะแข่งขันกับยักษ์ค้าปลีกไม่ได้!

โชห่วยบริหารกันไป แต่คนไม่ซื้อเพราะเข้าโมเดิร์นเทรดกันหมด ร้านเหล่านี้ก็ตาย ไม่ตายก็ไม่โต อยู่ไปวันๆ นี่คือเหตุผลที่เศรษฐกิจบนดี แต่ไม่ได้ลงมาถึงระดับล่าง รมช.พาณิชย์ เผยและว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้รัฐต้องมาแก้เกมสร้างการเติบโตเศรษฐกิจฐานราก

"วิธีแก้เกม ที่รัฐบาลคิดไว้ คือ ดึงโชห่วยในประเทศไทยหลายแสนราย ต้องเข้ามาอยู่ในกงล้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภาครัฐใช้กลไกเข้าไปจัดการผ่านโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่มาคู่กันกับร้านค้าสวัสดิการคนจน โดยรัฐใส่เงินผ่านกลุ่มคนมีรายได้น้อยราว 11 .4 ล้านคน (ผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) โดยกำหนดให้มียอดเงินใช้จ่ายคนละ 200-300 บาทต่อเดือน

กลไกที่สนธิรัตน์ คิดคู่กับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คือ ใส่เงินผ่านบัตรคนจน ผ่านโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อสินค้ารวมเดือนละ 3,000 ล้านบาท หรือปีละ 4 หมื่นล้านบาท ในร้านสวัสดิการของรัฐ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2 หมื่นร้าน 

“กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบคัดเลือกจุดให้บริการ(ร้านค้า) ซึ่งหวังว่าเงินจะลงสู่เศรษฐกิจฐานราก ผ่านร้านโชห่วย มีส่วนเข้าไปเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก” 

กลายเป็น กลไกติดเครื่อง Local Economy ในเชิงปฏิบัติ อย่างแท้จริง “สนธิรัตน์” ย้ำ

จึงเป็นเหตุผลที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่ถูกคัดเลือกเป็นจุดรูดบัตรสวัสดิแห่งรัฐ โดยไม่มีกลุ่มร้านค้าปลีกสมัยใหม่  หรือร้านสะดวกซื้อ เพราะต้องการให้เงินกระจายตัวไปสู่ระบบเศรษฐกิจ

กระสุนนัดที่สอง ที่เป็นตัวเร่งการเติบโตเศรษฐกิจฐานราก คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านโชห่วยที่ปัจจุบันเหลืออยู่ 3-4 แสนราย กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศให้มีพลังงาน“ลุกขึ้นมา”ต่อกรกับโมเดิร์นเทรด ผ่านโครงการ "โชห่วยไฮบริด” โครงการฟื้นชีวิตชีวาให้กับค้าปลีกในชุมชนให้กลับมาคึกคัก

ผ่านการคัดเลือกร้านโชห่วยต้นแบบ 200 ราย นำร่องปรับโฉม โดยใช้ความได้เปรียบเพราะใกล้ชิดชุมชน ไม่เพียงซื้อสินค้า รับเงินทอนแล้วจบ แต่ยังรวมไปถึงการเป็นเพื่อน เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน ค้าขายในชุมชน

ร้านค้าปลีกชุมชนไม่ใช่แค่ขายสินค้า พอคนในชุมชนมาซื้อสินค้าก็มีการพูดคุย ทักทาย แบ่งปันความสุข เป็นศูนย์รวมร้านค้าชุมชน นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่คนตัวเล็กจะลุกขึ้นมาอย่างมีความหวัง โครงการไฮบริดจึงออกมาคู่ขนานกับโครงการสวัสดิการของรัฐ

ร้านค้าโชห่วยไฮบริด ในใจของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่แค่เพียงร้านธรรมดา แต่จะเป็นร้านที่มีระบบเกื้อกูลกัน แบ่งปันสุข นำสินค้านอกชุมชนมากระจายต่อ นี่คือโครงการต่อยอดที่ไปเชื่อมต่อกับการค้าบนโลกดิจิทัล ที่ผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Hybrid) โดยเชื่อมโยงสินค้านอกพื้นที่ชุมชนมาประกอบกัน กลไกที่ทำให้ค้าปลีกชุมชนเกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน

กุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มองข้ามช็อทว่า เมื่อโชห่วยมีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ พ่อค้าแม่ค้า ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเล่นอินเตอร์เน็ทได้ ก็มาเสียบปลั๊กเชื่อมต่อกับไปรษณีย์ไทย ผู้กระจายสินค้าชุมชน จึงเป็นการผสมผสานการค้าแบบไฮบริด ออนไลน์และออฟไลน์

โครงการบัตรคนจนเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านบัตรธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งเป็นทางอ้อมเสริมร้านโชห่วยให้กลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวา มีรายได้เพิ่มจากขายสินค้าให้ผู้มีรายได้น้อย

คนที่ได้รับเงินใช้จ่าย 200-300 บาทไม่ใช่ใช้จ่ายแค่นั้น แต่จะซื้อมากกว่านั้น ทำให้ร้านค้าเกิดการกระจายเม็ดเงิน

จุดที่ทำให้ฟื้นโชห่วยได้คือการเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชน นี่คือจุดแข็ง ที่ต่างจากร้านสะดวกซื้อ และโมเดิร์นเทรด ที่ขาดการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งในความเป็นจริงคอนวีเนียนสโตร์ มีต้นทุนการบริหารจัดการค่า รอยัลตี้ฟรี (ค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายแฟรนไชส์เรียกเก็บจากผู้ซื้อแฟรนไชส์) ค่าจ้างพนักงาน 3 ผลัดตลอด 24 ชั่วโมง ยังรวมถึงค่าไฟ ค่าเครื่องปรับอากาศ

ขณะที่คนในแวดวงค้าปลีกค้าส่ง “เฮียบู๊” สมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย ผู้ที่ต่อสู้กับยักษ์โมเดิร์นเทรดมากว่า 20 ปี ระบุว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เปิดทางให้กลุ่มทุนใหญ่เข้ามาลงทุนค้าปลีก จึงเกิดการขาดสมดุล โชห่วยรายเล็กรายย่อยหายไปจากตลาด รายใหญ่เติบโต

เขาเชื่อว่า เงินที่รัฐอัดฉีดเข้ามาในระบบผ่านโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน จะเป็น “มอเตอร์”กระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้ฟื้นตัวกลับมามีชีวิตชีวา

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเป้าถูกโจมตีว่าบัตรคนจน เป็นโครงการอุ้มเจ้าสัว โดยเฉพาะสหพัฒน์ที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ ในเรื่องนี้เขาอธิบายว่า สหพัฒน์หนุนมาตั้งแต่โครงการธงฟ้า ที่นำสินค้าบางส่วนมาลดราคา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อสังคมที่สหพัฒน์ ไม่ได้ประโยชน์ในแง่กำไร

มาถึงโครงการธงฟ้าประชารัฐ ที่เป็นส่วนหนึ่งของร้านสวัสดิการคนจนก็เช่นกัน สหพัฒน์จัดรายการสินค้าเพียงแบรนด์ซื่อสัตย์ที่เข้าร่วโครงการ โดยการขายต่ำกว่าท้องตลาด 15-20% ส่วนสินค้าอื่นก็อยู่ในราคาหมวดที่ต้องไปแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ขณะที่เงินก็กระจายตัวไปยังซัพพลายเออร์รายอื่นเช่นกัน 

บัตรคนจนแทบไม่ได้ตกกับเราเลย เราเสียประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะเราขายได้อยู่แล้ว แต่ต้องขายในราคาถูก เพื่อร่วมกับภาครัฐช่วยสังคมในบางสินค้า บุญชัย ให้ความเห็น

เขายังบอกด้วยว่า คนที่พูดหรือวิจารณ์ยังไม่เข้าใจกลไกที่แท้จริง

คนพูดไม่พายแล้วยังเอาเท้าราน้ำ เป็นโครงการที่มีเจตนาดี ช่วยเหลือคนมีรายได้น้อยให้ตรงจุด ดีกว่าเอาเงินไปแจก แต่คนพูดนี่ไม่สร้างสรรค์พูดแบบมีอคติ

บุญชัย ยังมองโครงการธงฟ้าประชารัฐ ที่หวังไกลถึงขั้นฟื้นโชห่วยว่ายังมีความท้าทายอีกมาก เพราะร้านค้าที่เข้าร่วมรายการธงฟ้าประชารัฐส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งและมีกำลังอยู่แล้ว การนำเครื่องรูดบัตรไปติดเพื่อดึงคนมีรายได้น้อยเข้ามาซื้อสินค้า จึงเป็นการดึงเงินซื้อของจากคนจนแทนที่จะไปซื้อร้านเล็กๆ ข้างบ้านก็ถูกดึงมาไว้ที่ร้านใหญ่ที่มีเครื่องรูดบัตรเป็นหลัก

“โชห่วยรายเล็กๆ กว่า 3 แสนราย เข้าโครงการเพียงหลักหมื่นราย ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของโชห่วยทั้งหมด แล้วเงินก็มาตกอยู่ที่ร้านใหญ่ที่แข็งแรงอยู่แล้ว”

แต่สิ่งที่ได้แน่นอน คือ การกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนรากหญ้า ที่มีเงินเข้ามาใช้จ่ายซื้อสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ยังเป็นคำถามว่า เม็ดเงินจะลงถึงโชห่วยรายเล็กผ่านช่องทางไหน???”

---------------------

โอละพ่อ..!!!

บัตรคนจนซับซ้อนกว่าที่คิด

หลังดีเดย์เปิดใช้บัตรคนจนกว่า 2 สัปดาห์ ตามมาด้วยคำถามมากมาย ที่เป็น“จุดอ่อน”รอการแก้ไข

บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เห็นว่า การใช้ระบบไอทีเข้ามาบริหารจัดการต้องมีปัญหาในช่วงตั้งต้น เพราะทำงานกับคนกว่า 10.4 ล้านคนบนเครื่องรูดบัตรที่มีเพียงหลักพันเครื่องในช่วงเริ่มต้น และมีไม่กี่ร้านที่มีเครื่องรองรับ จึงเกิดการกระจุกตัว ต่อแถวกันใช้งาน

“ระบบไอทีซับซ้อน ยังไม่พร้อมใช้งานจึงวุ่นวายช่วงเริ่มๆ เดี๋ยวเสีย สัญญาณอินเตอร์เน็ทไม่มี คีย์ข้อมูลก็เป็นปัญหาสำคัญ ต้องลงตัวเลขทุกครั้ง ประชาชนเดือดร้อนต้องเข้าคิวยาว และต้องเดินทางมาไกลเสียค่ารถ เพื่อมารูดบัตร ดูแล้วยุ่งยากมาก ผมยังไม่กล้าทำเลย ผมรู้ว่ามันจะเกิดปัญหาตามมามากมาย" เจ้าสัววิจารณ์แบบเอาใจช่วย

แต่ก็ถือเป็นความตั้งใจดีที่รัฐต้องการบริหารจัดการวางระบบให้รอบคอบอย่างน้อยกว่าจะเข้าที่ ระบบรื่นไหล พร้อมใช้งานจริงทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน

“ระบบไอทีต้องแก้อีกหลายเดือนกว่าจะจบ แม้แต่สหพัฒน์เริ่มต้นทำระบบไอทีเข้ามาจัดการ ยังต้องใช้เวลากว่าสิบปีก่อนจะปรับให้เข้าที่่"

ด้านสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง - ค้าปลีกไทย ให้ความเห็นว่า เครื่องรูดบัตรมีไม่เพียงพอกับการใช้งานจึงต้องต่อคิวยาว นั่นเป็นเพราะช่วงเริ่มต้นมีกลุ่มร้านค้าโชห่วย ค้าปลีก สมัครเข้าร่วมโครงการน้อยมาก แต่เมื่อเห็นภาพชัดขึ้นจึงเริ่มแห่สมัครเข้าร่วมโครงการในช่วงที่ใกล้จะเปิดโครงการ ทำให้ติดตั้งไม่ทันกับเวลาการให้บริการ

อิทธิพงศ์ ธนบุญสมบัติ เจ้าของร้าน เค แอนด์ ที มิตรแท้ชุมชน แขวงห้วยขวาง ผู้เป็นทั้งร้านค้าส่ง และมีค้าปลีก 12 สาขา กระจายในเขต ดินแดง ห้วยขวาง และลาดพร้าว ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการบัตรคนจน เชื่อว่า บัตรคนจนจะเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้ นก 2 ตัว นั่นคือ ประชาชนรากหญ้าได้ประโยชน์ และยังส่งต่อไปถึงร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือโชห่วย

สิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจให้มากคือ การประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจระบบ ไม่ใช้บัตรผิดประเภท แลกเปลี่ยนเป็นเงินสด รวมถึงการที่เครื่องรูดบัตรมีไม่เพียงพอกับความต้องการ อาจจะต้องเตรียมบัตรคิว สำหรับวันแรกที่เปิดให้บริการในเขตกรุงเทพฯในวันที่ 17 ต.ค.นี้

สิ่งที่เขาเป็นห่วงคือการทิ้งโครงการไม่ทำต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังจะหมุนเข้าระบบต้องสะดุด เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความต่อเนื่อง และปูพื้นฐานการสร้างระบบในระยะยาว

“หากรัฐจริงใจต้องทำต่อเนื่อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าระบบรากหญ้าคนตัวเล็กจะได้ประโยชน์แท้จริง”

ขณะที่ อภิชาติ มโนมัยวงศ์ เจ้าของร้าน เอ็มช็อป ร้านค้าปลีกที่เริ่มมาซื้อคูหา 4 คูหาในย่านแฟลตดินแดง มองว่า โครงการนี้ช่วยคนรายย่อยจริงๆ เชื่อว่าเงินจะลงเข้าสู่ระบบผู้ค้าปลีกรายย่อย และประชาชนคนมีรายได้น้อยจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น บรรเทาภาระทางการเงิน

“ปัจจุบันหลังติดเครื่องรูดบัตรวันแรกๆก็เริ่มมีคนเข้ามาซื้อแล้วเป็นกลุ่มคนต่างจังหวัดที่ได้รับบัตรแล้วเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ประมาณ 3-4 ราย”

สิ่งที่ภาครัฐควรจะเพิ่มคือการเชื่อมต่อกับผู้ผลิตสินค้าทั้งด้านการเกษตรรายย่อย สินค้าโอท็อปกับผู้ค้าปลีกที่มีเครื่องรูดบัตร เพื่อเกิดเครือข่ายการค้าขายสินค้าที่ไม่พึ่งพิงอุตสาหกรรมหลัก จนทำให้สินค้าเกษตรหลายรายต้องปิดตัวไป เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มผู้ผลิตรายย่อยเข้าสู่ตลาด จึงเกิดการกระจายตัวของเงินทั้งระบบเข้าสู่เศรษฐกิจฐานราก คนตัวเล็กได้ประโยชน์จากโครงการนี้แท้จริง