๙ เกร็ดพึงรู้เกี่ยวกับพระเมรุมาศ
พระเมรุมาศ ศูนย์รวมแห่งศาสตร์และศิลป์ทุกแขนงในการถวายพระเกียรติยศแด่พระเจ้าแผ่นดินหลังจากเสด็จสวรรคต รายละเอียดมากมาย รวมยกมาเป็น 9 เกร็ดพึงรู้
ตามโบราณราชประเพณีของไทย การก่อสร้างพระเมรุมาศ ได้รับอิทธิพลมาจากความคิดการปกครองแบบเทวนิยม ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และเจ้านายชั้นสูงมีแนวคิดมาจาก "เขาพระสุเมรุ" อันเป็นความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ เสด็จลงมายังโลก เมื่อสวรรคตก็มีการส่งเสด็จกลับเขาพระสุเมรุตามเดิม
พระเมรุมาศในพระราชพิธีพระบรมศพ สามารถสืบค้นย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย ดังที่ปรากฏการจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดใน หนังสือไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง การสร้างพระเมรุมาศยิ่งใหญ่โอฬารมาก ปรากฏตามจดหมายเหตุ และพระราชพงศาวดารว่า พระเมรุมาศสูงถึง 2 เส้น มีปริมณฑลกว้างใหญ่ เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ งานพระบรมศพก็ยังคงรักษาธรรมเนียมดั้งเดิมไว้เช่นกัน ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
สำหรับ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระเมรุมาศก็ยังยึดถือตามคติความเชื่อ และโบราณราชประเพณี อีกทั้งยังคงแก่นความสำคัญในการสะท้อนความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่าน ผ่านส่วนประกอบต่างๆ ที่ทำให้พระเมรุมาศสมพระเกียรติที่สุด นับจากนี้ คือ 9 ใจความสำคัญของพระเมรุมาศ ที่เรียบเรียงมานำเสนอ
1
พระเมรุมาศ เปรียบเหมือน เขาพระสุเมรุ ใจกลางหลักจักรวาล ตั้งอยู่เหนือน้ำ 84,000 โยชน์ มีภูเขารองรับ 3 ลูก โดยส่วนฐาน คือ ตรีกูฏ (สามเส้าหรือสามยอด) มีภูเขาล้อมรอบ 7 ทิว เรียกว่า สัตตบริภัณฑคีรี ประกอบไปด้วยทิวเขา ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก และอัสกัณ มีเทวดาจตุมหาราชิก และบริวารสถิตอยู่ ซึ่งทิวเขาเหล่านั้นก็คือ อาคารประกอบ ได้แก่ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบ ซึ่งเรียกว่าทับเกษตร หรือที่พัก
บนยอดเขาพระสุเมรุ คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งยอดบนสูงสุดของพระเมรุมาศ มีการจารึกพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และเศวตฉัตร
การสร้างพระเมรุมาศในแต่ละครั้งถือเป็นงานใหญ่ มีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สืบทอดเป็นแบบแผนให้กับงานพระราชพิธีจนมาถึงปัจจุบัน ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมชั้นสูงที่ต้องเรียนรู้การสร้างอาคารหมู่ และอาคารหลังเดี่ยวทั้งเล็กและใหญ่ รู้กระบวนการช่างไทยทุกสาขา ทั้งด้านศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมรวมกันทุกแขนง
2
ลักษณะพระเมรุมาศที่ปรากฏมาแต่โบราณมีทั้ง พระเมรุทรงปราสาท และ พระเมรุทรงบุษบก
พระเมรุทรงปราสาท คือ อาคารพระเมรุมีรูปลักษณะอย่างปราสาท สร้างเรือนบุษบกบัลลังก์ คือ พระเมรุทองซ้อนอยู่ภายใน พระเมรุทองประดิษฐานบนเบญจา พระจิตกาธานรองรับพระโกศพระศพ ปิดทองล่องชาด พระเมรุทรงปราสาทนี้ยังแยกได้อีก 2 ลักษณะ คือ พระเมรุทรงปราสาทยอดปรางค์ และ พระเมรุทรงปราสาทยอดมณฑป ซึ่งปรากฏในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
พระเมรุทรงบุษบก คือ พระเมรุที่สร้างบนพื้นที่ราบ โดยดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบกขยายพระเมรุทองในปราสาทที่เป็นเรือนบุษบกบัลลังก์แต่เดิมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อการถวายพระเพลิง ตั้งเบญจาพระจิตกาธานรับพระโกศพระบรมศพ ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในงานถวาย พระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงสันนิษฐานเกี่ยวกับ คติการสร้าง “พระเมรุ” ว่าได้ชื่อมา แต่การปลูกสร้างปราสาทอันสูงใหญ่ ท่ามกลางปราสาทน้อย มีลักษณะดุจเขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางเขาสัตตบริภัณฑ์ล้อมรอบ จึงเรียกว่าพระเมรุ
ภายหลัง เมื่อทำย่อลง ไม่มีอะไรล้อม เหลือแต่ยอดแหลมๆ ก็ยังคงเรียกเมรุ ด้วยคนไทยมีความเชื่อ และยึดถือ เรื่องไตรภูมิตามคติทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงภาพจักรวาล มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม รายล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา อันเป็นวิมานของท้าวจตุโลกบาล และเขาสัตตบริภัณฑ์ ดังนั้น จึงนําคติความเชื่อจากไตรภูมิมาเป็นแนวทางในการจัดพิธีถวายพระเพลิง เพื่อได้ถึงภพแห่งความดีงามอันมีแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุ สิ่งก้อสร้างในพระราชพิธีถวายพระเพลิง จะจําลองให้ละม้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุด้วย
4
ความสำคัญของการจัดพระราชพิธีพระบรมศพนั้น นอกจากจะถือเป็นการถวายพระเกียรติยศ แสดงความเคารพอย่างสูงสำหรับพระมหากษัตริย์แล้ว ในสมัยโบราณ พระราชพิธีนี้ ยังถือเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมือง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแผ่นดินสืบสันตติวงศ์ต่อไป
ส่วนหนึ่ง ดูจากการสร้างพระเมรุมาศประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพว่า สามารถทำได้ยิ่งใหญ่เพียงใด เพราะส่วนที่บ่งบอกถึงฐานะ และอำนาจของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้อย่างดีประการหนึ่ง จึงถือได้ว่า งานพระเมรุเป็นศักดิ์ศรีและเป็นเกียรติยศที่ปรากฏแผ่ไพศาลตั้งแต่ต้นแผ่นดิน
5
ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นิยมปลูกสร้างเป็นรูปพระเมรุขนาดใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการสร้างพระเมรุมาศให้มีขนาด “ย่อมลง” อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องการให้จัดงานแต่เหมาะสม มิให้สูงถึง 2 เส้นดังแต่กาลก่อน โดยยกพระเมรุชั้นนอกทรงปราสาทออกเสีย สร้างแต่องค์ใน คือ พระเมรุทองหรือพระเมรุมาศ ภายในตั้งพระจิตกาธานสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ
ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชบันทึกตัดทอนการปลูกสร้างพระเมรุมาศ และการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระองค์ลงอีกหลายประการ งานพระเมรุจึงลดขนาดลงนับตั้งแต่นั้นมา
6
นอกจากขนาดของพระเมรุมาศแล้ว ในสมัยงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระบรมราชโองการแสดงพระราชประสงค์ให้รวบรัดหมายกำหนดการให้น้อยลง เพื่อประหยัดตามกาลสมัย โดยพระราชพินัยกรรมระบุถึงการจัดงานพระบรมศพให้งดราชประเพณีเก่า ๆ หลายอย่าง อาทิ การงดการโยงโปรย ยกเลิกนางร้องไห้ ซึ่งรบกวนพระราชหฤทัยตั้งแต่งานพระบรมศพพระราชบิดา เป็นเหตุให้ประเพณีดังกล่าวงดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การยกเลิกการถวายพระเพลิงพระบุพโพกลางแจ้งด้วยวิธีการเคี่ยว เป็นต้น
7
ในอดีต การถวายพระเพลิงพระศพแต่โบราณ มีรายละเอียดมาก กําหนดเป็นงานใหญ่ในช่วงฤดูกาลที่ไม่มีฝนอย่างเดือนเมษายน ใช้เวลาประมาณ 14 วัน 14 คืน เป็นเกณฑ์ มักจะเริ่มงาน ตั้งแต่ขึ้น 5 ค่ำ หรือ 6 ค่ำ ไปจนถึงแรม 4 ค่ำ ที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะในสมัยโบราณ จําเป็นต้องอาศัยแสงจันทร์ช่วยให้ความสว่างด้วยนั่นเอง
สำหรับรายละเอียดในงานออกพระเมรุ จะเริ่มด้วยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสู่พระเมรุพระราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ในวันแรก แล้วค่อยจัดสมโภชพระบรมสารีริกธาตุด้วยการจุดดอกไม้ไฟในค่ำวันที่ 2 ก่อนจะอัญเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุ สมโภช 1 วันกับ 1 คืน แล้วจึงอัญเชิญกลับ
จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมศพออกจากพระมหาปราสาทไปสมโภช ณ พระเมรุมาศ 7 วัน 7 คืน โดยหลังจากถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ก็จะสมโภชพระบรมอัฐิ อีก 3 วัน 3 คืน รวม 14 วัน 14 คืน
ปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียด และตัดทอนพิธีกรรมหลายๆ อย่างลง เช่น งดการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมอัฐิออก สมโภชก่อนงานพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมศพ พระศพ ทําให้ตัดทอนพิธีอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การจุดดอกไม้ไฟสมโภช หรือ ลดการสมโภชพระศพเมื่อประดิษฐานบนพระเมรุแล้ว เป็นต้น
8
ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช งานภูมิสถาปัตยกรรมเชื่อมโยงกับตัวอาคาร เข้ากับสิ่งที่แสดงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 อันมีความเกี่ยวพันกับโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่ด้านทิศเหนือ เป็นทางเข้าหลักสู่พระเมรุมาศ
มีการสร้างสระน้ำบริเวณ 4 มุม การจำลองนาขั้นบันได หญ้าแฝก แก้มลิง และกังหันน้ำชัยพัฒนา รวมทั้งพันธุ์ข้าวจากภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ พันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นตัวแทนของข้าวภาคกลาง พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นตัวแทนของข้าวในภาคอีสานและเหนือที่นิยมปลูกข้าวพันธุ์นี้ พันธุ์ข้าว กข 31 หรือพันธุ์ปทุมธานี 80 ที่ตั้งชื่อเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยออกแบบแปลงนาเชิงสัญลักษณ์ให้เป็นเลขเก้าไทยสีดินทอง เป็นสัญลักษณ์สื่อว่าพระเมรุมาศนี้สร้างขึ้นเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 กษัตริย์นักพัฒนา
9
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก จำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้น ทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ
โดยโครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วย ลานอุตราวรรต หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาดทั้งสี่ทิศ และเขามอจำลอง มีประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ ประดับโดยรอบ
ฐานชาลาชั้นที่ 1 มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก
ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี
ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น
จุดกึ่งกลางชั้นบนสุดมีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร