คนกรุงเสียเวลากับรถติดวันละ 72 นาที
ผลสำรวจโดย “อูเบอร์” เผยว่าแนวโน้มปัญหาการจราจรติดขัดในหลายๆ เมืองของภูมิภาคอาเซียนเลวร้ายลงทุกปี โดยกรุงเทพมหานคร มีปัญหาการจราจรติดขัดที่มากที่สุดในภูมิภาค ตามมาด้วยจาการ์ตา มะนิลา ฮานอย และกัวลาลัมเปอร์
ผู้คนที่ขับรถบนถนนในกรุงเทพฯ เสียเวลาไปกับรถติดโดยเฉลี่ย 72 นาทีในแต่ละวัน และอีก 24 นาทีเพื่อวนหาที่จอดรถ โดยทุกวันนี้กรุงเทพฯ มีรถมากกว่า 5.8 ล้านคัน และต้องใช้พื้นที่เท่ากับ 8 สนามบินสุวรรณภูมิในการจอดรถทั้งหมด ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รถจะติดมากกว่าช่วงเวลาปกติ 2 เท่า มีรถอยู่บนถนน 160% ของปริมาณรถยนต์ที่ควรจะมี
อีกหนึ่งปัญหาคือ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกสู่อากาศเติมพื้นที่ขนาดตึกมหานครมากถึง 23,000 ตึก
ชูเทคโนฯปลดล็อค
"ศิริภา จึงสวัสดิ์" ผู้จัดการประจำประเทศไทย อูเบอร์ เสนอว่า หนึ่งในแนวทางช่วยแก้ปัญหาคือ บริการรถร่วมเดินทาง(ridesharing) ซึ่งทำให้ผู้คนเดินทางด้วยกันได้โดยใช้รถยนต์น้อยลง คาดว่าวิธีการดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาความแออัดของการจราจรทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ของไทยได้
"ไรด์แชริ่งสามารถลดจำนวนรถบนถนนในเมืองได้ถึง 60% หรือเท่ากับ 3.5 ล้านคัน ได้พื้นที่คืนจากที่จอดรถคิดเป็นพื้นที่มากถึง 275 เท่าของสวนลุมพินี นับเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยปลดล็อคพร้อมเพิ่มศักยภาพให้กับเมือง"
ผลสำรวจระบุว่า คนกรุงใช้รถเฉลี่ย 2 คนต่อ 1 คัน แปลว่ายังมีที่นั่งว่างอยู่ การแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ข้อมูลจากบีซีจี (Boston Consulting Group) ชี้ว่า ในภูมิภาคอาเซียนมีการนำแนวคิดนำบริการร่วมเดินทางมาใช้อย่างกว้างขวางขึ้น สำคัญต้องใช้ 2 มาตรการร่วมแก้ไขปัญหากคือการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันกับการใช้บริการร่วมเดินทาง
อย่างไรก็ดี ในเมืองอื่นๆ พบว่า ที่โฮจิมินห์คน 3 ใน 4 เคยผิดนัดเพราะรถติด ในกัวลาลัมเปอร์ภายในปี 2565 จะมีรถติดมากกว่าเดิม 4.5 เท่า แต่ละปีคนสิงคโปร์เสียเวลากับการหาที่จอดรถคิดเป็นเงิน 120,000 บาท และหากจาการ์ตาและโฮจิมินห์ยังมีรถเพิ่มต่อไปการจราจรของสองเมืองนี้จะเป็นอัมพาตภายใน 5 ปี
หวังรัฐเปิดรับ
ด้าน “ศุภกร สิทธิไชย” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ปัญหาการจราจรและการเดินทาง ถือเป็นปัญหาร่วมของชุมชนเมืองในหลายประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขและพัฒนาเมืองให้ผู้อยู่อาศัยได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกมิติ โดยมีบางส่วนได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น
เบื้องต้นที่รัฐบาลจัดทำโครงการนำร่องไปแล้วเช่น สมาร์ทซิตี้ที่ผลักดันให้เกิดเครือข่าย สร้างเป็นแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวมผู้ให้บริการเทคโนโลยี ผู้บริหารเมือง และที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกันเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
"ภูรี สิรสุนทร" คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไรด์แชริ่งสามารถช่วยลดปัญหาการจราจรได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทางหนึ่งสนองความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารพร้อมลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการใช้เวลาเดินทางของผู้โดยสารโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางสู่ที่หมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นภาครัฐควรเปิดรับและหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพในการเดินทางและเพื่อลดปัญหาการจราจรได้อย่างมีประสิทธิผล