


“วุฒิศักดิ์” เผย 15 ธ.ค. นี้ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ปราบโกง แล้วเสร็จ ยันมีกลไกให้ปชช.ร่วมตรวจสอบ ย้ำกรณีเปิดเผยทรัพย์สิน ต้องมีขอบเขต
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ปราบทุจริต ว่า ภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ กมธ.จะพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดเสร็จสิ้น และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมสนช. พิจารณา วาระสองและวาระสามได้ทันตามกรอบเวลา 60 วันซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 29 ธันวาคม นี้แน่นอน โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ปราบทุจริต ยังให้ความสำคัญต่อบทบาทของภาคประชาชนด้านการมีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบการทุจริต ขณะที่ระบบการทำงานของ ป.ป.ช. นั้นเพิ่มความรัดกุม โดยการกำหนดระยะเวลาของการทำแต่ละคดีให้ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่คั่งค้าง อีกทั้งกลไกที่เพิ่มอำนาจประชาชนร่วมตรวจสอบจะเป็นส่วนสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีประสิทธิภาพต่อต้านการโกงได้
นายวุฒิศักดิ์ ยังกล่าวถึงข้อถกเถียงประเด็นการตรวจสอบและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและบุคคลที่มีต้องยื่นตามกฎหมายกำหนดว่า ยังคงบทบัญญัติที่ให้เปิดเผยโดยสรุปไว้ในเนื้อหา แต่เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ กมธ.ฯ ทำข้อสังเกตไปยัง ป.ป.ช. ต่อแนวทางปฏิบัติด้วยว่า ข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ เลขบัตรประจำตัวประชาชน, ที่อยู่ของบ้านพัก, เลขโฉนดที่ดิน ไม่ควรถูกเปิดเผย แต่รายละเอียดของทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ควรเปิดเผยทั้งหมด เหตุผลที่กมธ.ฯ ไม่ตัดถ้อยคำโดยสรุปออกจากกฎหมายเพราะเป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้นจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอาจมีผลขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ และเรื่องที่เกี่ยวข้องกันเกี่ยวกับการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามร่างกฎหมายจะกำหนดให้ประกาศในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ตามที่ ป.ป.ช.จะกำหนดระเบียบต่อไป
นายวุฒิศักดิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ร่างกฎหมายกำหนดให้ข้าราชการทุกระดับต้องแจ้งบัญชีของตนผ่านหน่วยงานและให้เก็บเป็นความลับ ขณะที่การยื่นบัญชีของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง กมธ.ฯ คงรายละเอียดไว้เดิม คือ ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งและยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งภายใน 30 วัน และพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว 1 ปี โดยไม่มีเนื้อหาใหม่เพิ่มเติม เพราะมองว่ากรณีดังกล่าวไม่มีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริตหรือใช้อำนาจในทางมิชอบ และที่สำคัญเมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแจ้งทรัพย์สินให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบอยู่แล้ว หากใครจะใช้หน้าที่เพื่อแสวงหาความร่ำรวย สุดท้าย ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนั้นแล้วแม้กฎหมายจะกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก่อนรับตำแหน่งและหลังพ้นตำแหน่ง แต่ไม่มีข้อห้ามใดที่ ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแจ้งรายการทรัยพ์สินที่ได้เพิ่มมาระหว่างดำรงตำแหน่ง ดังนั้นกรณีที่เป็นประเด็นวิจารณ์ในสังคม เช่น กรณีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ใส่แหวนเพชร และสวมนาฬิกาแพงนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องเขียนกฎหมายใดๆเพิ่มเติม.